ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โครงการฟันเทียม และโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เป็นหนึ่งในโครงการที่มีการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นซีรีส์มาอย่างยาวนานหลายปี

เริ่มจาก “โครงการฟันเทียมพระราชทาน” ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันได้มีฟันเทียมไว้บดเคี้ยวอาหาร และเมื่อพบว่าผู้สูงอายุบางส่วนมีสภาพกรามและเหงือกไม่เหมาะกับการใส่ฟันเทียม ก็มีการต่อยอดเป็น “โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ” จนมาเป็น “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา” ในปัจจุบัน

1

ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสูญเสียฟันทั้งปาก สามารถเข้ารับได้ในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง แต่ในทางปฏิบัติ แต่ละโรงพยาบาลมีจำนวนการให้บริการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านอุปกรณ์ จำนวนบุคลากร และความเชี่ยวชาญของทันตแพทย์ของโรงพยาบาลนั้นๆ

โดยเฉพาะการฝังรากฟันเทียมที่ต้องปักรากฟันเทียมเข้าไปในกระดูกกรามเพื่อใช้เป็นฐานยึดฟันเทียมให้ติดแน่น ส่วนมากมักจะให้บริการในโรงพยาบาลจังหวัดเป็นหลัก ส่วนโรงพยาบาลอำเภอก็ขึ้นอยู่กับว่ามีทันตแพทย์ที่เรียนเฉพาะด้านมา หรือผ่านการอบรมมาหรือไม่

โรงพยาบาลแม่วงก์ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลอำเภอที่สามารถให้บริการรากฟันเทียมได้ แม้จะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กเพียง 30 เตียง ที่ตั้งก็อยู่ชายขอบของ จ.นครสวรรค์ แต่สามารถให้บริการได้จำนวนมาก บางปีมีจำนวนผู้รับการฝังรากฟันเทียมมากกว่าโรงพยาบาลอำเภอของทั้งจังหวัดรวมกันเสียอีก

2

3

นพ.ประวิทย์ สายคุณากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่วงก์ กล่าวว่า แม้โรงพยาบาลแม่วงก์จะเป็นโรงพยาบาลเล็ก แต่สามารถฝังรากฟันเทียมได้ในปริมาณมาก เหตุผลหลักก็มาจาก ทพ.ปรีดา ประทุมมา หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม และทีมทันตแพทย์ทุกคน ที่มีความรักในงาน โดยเริ่มให้บริการมาตั้งแต่สมัยโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ และดำเนินงานเรื่อยมา

ทั้งนี้ เมื่อมีเคสให้ฝังรากฟันเทียมมากๆ ก็เกิดความชำนาญ รู้ว่าแบบไหนดีกับคนไข้ คนไข้ที่ผ่านการฝังรากฟันเทียมแล้วรับรู้ถึงข้อดีก็เกิดการบอกต่อแบบปากต่อปากจนมีผู้มารับบริการเรื่อยๆ จนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เห็นถึงความตั้งใจในการทำงานและสนับสนุนเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติด้านทันตกรรมให้ การฝังรากฟันเทียมจึงสะดวกมากยิ่งขึ้นไปอีก สามารถเช็คมวลกระดูก ตรวจสอบความแม่นยำของตำแหน่งในการฝังรากฟันเทียม สามารถเลือกขนาดของรากฟันเทียมที่เหมาะสม

“คนที่ไม่เคยใช้รากฟันเทียมมาก่อนจะไม่รู้ว่าสะดวกอย่างไร เพราะการใช้ฟันเทียมทั้งปาก จะเป็นการวางฟันเทียมบนเหงือก เวลาเคี้ยวอาหารแข็งๆก็จะเจ็บ เพราะแรงบดเคี้ยวไปกระทบเหงือกโดยตรง บางคนก็หลวม บางคนก็แน่นเกินไป ส่วนรากฟันเทียมเหมือนเป็นเสาค้ำฟันปลอมทั้งปาก แรงกดก็จะไปที่รากฟันและลงไปที่กระดูก ไม่กดทับเหงือก และไม่เจ็บเหงือก ถ้าใครได้ฝังรากฟันเทียมแล้วจะรู้ว่าดีกว่าเดิมเยอะ คุณภาพชีวิตดีขึ้น มั่นใจในการเคี้ยวอาหาร มั่นใจในการเข้าสังคม มีความสุขในการทาน” นพ.ประวิทย์ กล่าว

นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า การมีโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ฟรี ถือว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะ โครงการนี้ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนไปได้มาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนใน อ.แม่วงก์ และอำเภอรอบข้าง ส่วนมากมีอาชีพเกษตรกรรม บางคนรายได้ต่อปีแค่หลักหมื่น ถ้าต้องจ่ายเงินฝังรากฟันเทียมเองคงไม่สามารถทำได้ แต่โครงการนี้ให้ประชาชนฝังรากฟันเทียมฟรี จึงสามารถเอาเงินที่ได้จากการประกอบอาชีพไปใช้อย่างอื่นโดยไม่ต้องห่วงเรื่องทำฟัน

ทพ.ปรีดา ประทุมมา หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลแม่วงก์ กล่าวว่า โรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯในปี 2558 ตอนนั้นใช้รากฟันเทียมรุ่น ”ข้าวอร่อย” โดยในช่วงระยะเวลา 2 ปี มีผู้มารับบริการ 120 กว่าราย หรือรับการฝังรากฟันเทียมไป 200 กว่าราก

2

จากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลแม่วงก์ให้บริการฝังรากฟันเทียมมา 8 ปีแล้ว คนไข้รุ่นแรกๆที่ฝังรากฟันไปเมื่อ 8 ปีก่อน ปัจจุบันก็ยังสามารถใช้งานได้ดี สภาพเหงือกก็ดีไม่ต่างจากเดิม ขณะที่โครงการใหม่ คือโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ซึ่งเริ่มในเดือน พ.ย. 2565 ขณะนี้ก็ทำการฝังรากฟันเทียมไปแล้วประมาณ 50 รายหรือ 100 ราก

ทพ.ปรีดา ฝากถึงผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันแต่ไม่กล้าเข้ารับการฝังรากฟันเทียมว่า สันเหงือกของคนเรามีการทรุดตัวทุกปี ถ้ามาฝังรากฟันเทียมแต่เนิ่นๆ เพื่อใส่ฟันทั้งปาก อย่างน้อยอีก 10 ปีข้างหน้า กระดูกที่รองรับรากฟันก็จะยังมีสภาพไม่ทรุดตัวไปมาก

หากแต่ถ้าปล่อยไว้นาน บางรายที่อายุ 70-80 ปี เหงือกจะแบนมากไม่สามารถฝังรากฟันได้ ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้นก็จะเป็นเคสที่ยากแล้ว ดังนั้น หากมีปัญหาสุขภาพช่องปากหรือสูญเสียฟันจนทำให้การบดเคี้ยวอาหารมีปัญหา ขอให้เข้าไปปรึกษาทันตแพทย์ในสถานพยาบาลใกล้บ้านก่อน จากนั้นทันตแพทย์จะแนะนำว่าควรดูแลรักษาอย่างไรต่อ

“รากฟันเทียมมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ตั้งแต่โครงการเก่าๆ ทั่วประเทศไทยมีการฝังรากฟันไปแล้วมากกว่า 3,000 ราย จนถึงตอนนี้ไม่มีปัญหาอะไร สามารถใช้ชีวิตได้มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นไม่ต้องกลัว” ทพ.ปรีดา กล่าว

4

ด้าน ทพ.ธนวัฒน์ มหัสฉริยพงษ์ ทันตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลแม่วงก์ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันรากฟันเทียมจะมีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับอดีต แต่ก็ยังแพงสำหรับชาวบ้านแถบนี้ ทำให้เข้าถึงการรักษายาก พอมีโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ และ สปสช. สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ฟรี ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเยอะมากๆ คนที่ไม่มีโอกาสก็ได้เข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

“ถือเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก มันเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งควรได้ ถ้าไม่มีฟัน การทานอาหารก็บดเคี้ยวยาก ได้สารอาหารไม่ครบ ร่างกายแย่ลง เมื่อมีบริการที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้ฟรี ก็ทำให้ตัดสินใจรับการรักษาได้เร็วขึ้น ส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว และมีความสุขทางด้านสังคม มีความมั่นใจในการพูด การยิ้ม และในฐานะทันตแพทย์ก็รู้สึกดีใจที่ได้ใช้ความสามารถเข้าไปช่วยให้เขาสามารถบกเคี้ยวอาหาร เข้าสังคม พูดได้ชัดขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ทพ.ธนวัฒน์ กล่าว

4

สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการรากฟันเทียมก็ไม่ยุ่งยาก คนไข้ที่ใส่ฟันปลอมทั้งปากสามารถมาที่ฝ่ายเวชระเบียนของโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบว่าใช้สิทธิการรักษาของกองทุนสุขภาพกองทุนไหนไหน ซึ่งขณะนี้ให้บริการเฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทองหรือบัตร 30 บาท) เท่านั้น

จากนั้นเดินมาที่ห้องฟันได้เลย แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อซักประวัติ สกรีนโรคประจำตัวเพื่อดูว่าพร้อมเข้าไปตรวจหรือไม่ ถ้าพร้อมก็เข้าห้องตรวจ ทันตแพทย์จะตรวจประเมินคร่าวๆ ก่อน ถ้าเห็นว่ามีความปลอดภัยต่อการใส่รากฟันเทียม ก็จะส่งเอกซเรย์ 3 มิติ แล้วจัดทำแผนการรักษาว่าต้องฝังรากฟันเทียมไซส์ไหน มีขนาดกระดูกเหมาะสมหรือไม่ ส่วนกรณีที่คนไข้มีโรคประจำตัวก็จะส่งปรึกษาแพทย์ก่อน

“เกณฑ์การรักษาคือมีฟันไม่ถึง 16 ซี่ ขากรรไกรบนหรือล่างต้องไม่มีฟันเลย จึงจะได้สิทธิทำรากฟันเทียม หรือกรณีที่ใส่ฟันปลอมอยู่แล้วแต่หลวมและแก้ไขไม่ได้ก็สามารถฝังรากฟันเทียมได้” ทพ.ธนวัฒน์ กล่าว

3

ด้าน ทพ.คมฤทธิ์ วะราโพธิ์ ทันตแพทย์โรงพยาบาลแม่วงก์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วัสดุที่นำมาใช้เป็นรากฟันเทียม พัฒนาโดยคนไทย และค่อนข้างปลอดภัย เพราะกว่าจะมาเป็นวัสดุไทเทเนียมที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ ยึดเกาะกระดูกได้ดี ปัจจุบันโรงพยาบาลแม่วงก์มีทั้งเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ทีมแพทย์ พร้อมหมด ขอเพียงให้คนไข้เข้ามารับบริการเท่านั้นเอง

ด้าน นางบุญยืน ยอดทองหลาง หนึ่งในผู้สูงอายุที่รับการฝังรากฟันเทียมจากโรงพยาบาลแม่วงก์ กล่าวว่า ตนมีอาการโยกและปวดจี๊ดๆ เลยไปถอนฟันออก พอไม่มีฟันก็เคี้ยวอะไรก็ไม่ได้ เคี้ยวข้าวก็ไม่แหลก ทันตแพทย์จึงแนะนำให้ฝังรากฟัน ซึ่งในตอนแรกก็จะไม่ทำเพราะรู้สึกกลัว แต่พอมาทำจริงก็ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด และเมื่อทำแล้วสามารถทานข้าวได้ดีกว่าเดิม อีกทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย ต้องขอบคุณคุณหมออย่างมากที่ช่วยฝังรากฟันเทียมให้

4

3

ขณะที่ นายสำรวย ธรรมมุนี คนไข้อีกหนึ่งรายที่รับการฝังรากฟันเทียม กล่าวว่า ด้วยความที่ตนอายุมาก ฟันเริ่มมีสภาพไม่ดีต้องถอนฟันออก ถอนไปถอนมาฟันหมดทั้งปาก รู้สึกหมดความมั่นใจ ไม่มีฟันไว้เคี้ยวอาหารแข็งๆ เคี้ยวอะไรก็ไม่ละเอียด ร่างกายก็ซูบลง สุดท้ายเลยมาหา ทพ.ปรีดา ให้ใส่รากฟันเทียมให้ เพราะมั่นใจในฝีมือหมอที่มาตรฐานในการรักษา และหมอก็โทรมาติดตามอาการตลอด

“พอมีฟันก็มั่นใจ เคี้ยวอะไรก็สะดวก ก็แนะนำภรรยามาฝังรากฟันเทียมด้วย ตอนแรกให้มาใส่พร้อมกันก็ไม่มา บอกว่าเสียดายฟันเก่า เหลืออยู่ 3 ซี่ยังจะมาเสียดายอีก แล้วก็บอกต่อคนอื่นๆ น้องสะใภ้ก็แนะนำให้ไป แต่ปัญหาคือคนเขาไม่ค่อยจะรู้กันว่ามีโครงการแบบนี้ บางคนยังถามอยู่เลยว่าเสียเงินไหม เราก็บอกว่าไม่เสียนะ หมอก็พูดคุยดี ทำดีมากๆ ต้องขอบคุณหมอที่ทำให้มีฟันไว้เคี้ยวอาหารแข็งๆ ได้เหมือนเดิม” นายสำรวย กล่าว