ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายด้านเอดส์ เผยอยากเห็นรัฐรวม 3 กองทุนสุขภาพ สร้างมาตรฐานเดียวดูแลสุขภาพคนไทย ย้ำพรรคการเมืองหาเสียงเน้นต่อยอดของเก่า แต่ไม่มีใครกล้าแตะโครงสร้าง ชี้บางสิทธิสุขภาพยังใช้ไม่ได้จริง


..กาญจนา แถลงกิจ ผู้ประสานงานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) เปิดเผยกับ ‘The coverage’ ว่า ปัจจุบันนโยบายระบบสุขภาพของพรรคการเมืองที่ออกมายังคงเน้นในเรื่องของสิทธิประโยชน์เป็นหลัก ซึ่งอยากจะให้พรรคการเมืองหันมาเน้นการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบสุขภาพมากกว่า โดยรวมทั้ง 3 กองทุนของระบบประกันสุขภาพ ได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เป็นกองทุนเดียวกันทั้งหมดเพื่อให้การดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ การแยกกองทุนสุขภาพ จะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการบริหารจัดการในเชิงคุณภาพและมาตรฐานการบริการกับประชาชน เช่น กรณีรายการยาสำหรับใช้กับผู้ป่วย มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างบัตรทอง และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งงบประมาณรายหัวประชากรของสิทธิบัตรทองไม่เพียงพอ ทำให้หน่วยบริการต้องหาทางออกโดยให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ายาส่วนเกิน

ขณะเดียวกัน ในส่วนของกองทุนประกันสังคมที่เป็นกองทุนเดียวที่ประชาชนต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน แต่สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลกลับน้อยกว่า หรือไม่เท่าเทียมกับสิทธิบัตรทองที่รักษาผู้ป่วยคนไทยทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงกองทุนสวัสดิการข้าราชการก็สิทธิดีกว่า จึงอยากเห็นรัฐบาลเข้ามาจัดการกองทุนต่างๆ ที่สิทธิการรักษาพยาบาลในด้านต่างๆ ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่

น.ส.กาญจนา กล่าวอีกว่า ยังพบปัญหาการใช้สิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลายสิทธิไม่ถูกนำมาใช้จริงในทางปฏิบัติ ซึ่งมักจะติดขัดด้วยหลายเงื่อนไขนอกเหนือจากเรื่องงบประมาณ เช่น การยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่ปรากฏว่ามีหน่วยบริการที่ให้บริการเรื่องนี้น้อยมาก และไม่มีการส่งต่อไปให้หน่วยงานอื่นหากไม่ให้บริการ ซึ่งเป็นปัญหาจากทัศนคติของผู้ให้บริการที่มองว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องผิดบาปทางศีลธรรม แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตก็ตาม

"นอกจากนี้ งบประมาณสำหรับดูแลคนไทยโดยเฉพาะสิทธิบัตรทองทั้ง 48 ล้านคน รัฐบาลมักจะอนุมัตงบประมาณให้น้อยกว่าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เสนอไป ซึ่งควรพิจารณาการอนุมัตงบประมาณที่เหมาะสมสำหรับดูแลสุขภาพของคนไทยจริงๆ ขณะที่ยังมีปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล และภาระงานของแพทย์ที่หนักซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข" น.ส.กาญจนา กล่าว

น.ส.กาญจนา ย้ำอีกว่า จากการมองไปยังการหาเสียงในครั้งนี้ พบว่าพรรคการเมืองใหญ่ๆ ก็จะเน้นเรื่องนโยบายสุขภาพบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนโยยายต่อยอดจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว และเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์พ่วงด้วยการสวัสดิการดูแลต่างๆ กับผู้ป่วย และผู้สูงอายุ แต่ยังไม่เห็นว่าพรรคการเมืองใดจะพัฒนาเชิงระบบอย่างจริงจัง