ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบ 5 ประเด็นเตรียมพัฒนาสู่ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16” ว่าด้วย หลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ-สุขภาพจิต-การกระจายอำนาจ-การจัดการน้ำ-พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ พร้อมจับมือภาคีเครือข่ายวาง 8 เวทีใหญ่ระดับภาค สร้างส่วนร่วมพัฒนาฉากทัศน์ประเทศ-กำหนดภาพอนาคตไทย เพื่อเสนอต่อพรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2566


ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ซึ่งมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธาน คสช. เป็นประธาน ได้รับทราบประกาศประเด็นสำคัญเพื่อพัฒนาเป็นระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ.2566 จำนวน 5 ประเด็นตามที่คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เสนอ

สำหรับประเด็นทั้ง 5 ประกอบด้วย 1. หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ (ต่อเนื่องจากสมัชชาฯ ครั้งที่ 15) 2. การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม 3. การพัฒนาระบบสุขภาวะทางจิต และ การป้องกันความรุนแรงในสังคมไทย 4. การกระจายอำนาจสู่พื้นที่อย่างมีส่วนร่วม 5. การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

3

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธาน คจ.สช. ครั้งที่ 15 และครั้งที่ 16 พ.ศ.2565-2566 เปิดเผยว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 จะเป็นการจัดงานต่อเนื่องภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) คือ “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” และกรอบการจัดที่ยังคงสอดคล้องกับ ครั้งที่ 15 คือการเน้นประเด็นระดับประเทศ และมีหน่วยงานหรือองค์กรระดับชาติเป็นเจ้าภาพหลัก พร้อมมีการจัดกิจกรรมด้วยวิธีการที่ยืดหยุ่น เปิดกว้าง และทันสถานการณ์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ในส่วนของประเด็นทั้ง 5 ที่ คสช.ให้ความเห็นชอบในวันนี้ เป็นประเด็นที่อยู่ในข่ายมีความพร้อมเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งภายหลังจากนี้จะมีการมอบหมายคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียด เตรียมความพร้อมและคัดเลือกเหลือจำนวน 2-3 ประเด็น เพื่อประกาศเป็นระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 อย่างเป็นทางการ ควบคู่ไปกับการใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น จนได้ข้อเสนอที่มีความพร้อมทางวิชาการ และมีหน่วยงานหรือองค์กรพร้อมร่วมขับเคลื่อนชัดเจน

2

2

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม คสช. ยังได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง คณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร (คจ.สก.) ที่มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ พร้อม ศ.สุริชัย หวันแก้ว เป็นประธานร่วม และคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา (คจ.สพ.) ที่มีนายกเมืองพัทยา เป็นประธานกรรมการ พร้อม นายรัตนชัย สุทธิเดชานัย เป็นประธานร่วม แทนชุดเดิมที่ครบวาระลง

ในส่วนของ คจ.สก. และ คจ.สพ. จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยมีกรรมการที่มาจากภาคประชาชนและเอกชนรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร และสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา อย่างมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และรายงานผลการจัดรวมทั้งมติที่ได้ให้ คสช. ทราบ รวมถึงมีส่วนในการกำหนดแผนงาน ติดตามและสนับสนุนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนประสานสร้างความเข้าใจ เชิญชวนให้ภาคีเครือข่ายต่างๆ พื้นที่เข้าร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมใช้ประโยชน์ ร่วมสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ด้วย

3

นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้มีมติรับทราบการจัดเวที ฉากทัศน์ประเทศไทย: เสียงประชาชน สู่นโยบายทางการเมืองรองรับการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2566” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีทางสังคมและวิชาการ เตรียมการจัดเวทีพัฒนาฉากทัศน์ประเทศไทยแบบมีส่วนร่วมทั่วประเทศ 8 เวทีใหญ่ระดับภาค เพื่อเป็นโอกาสสำคัญให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาร่วมกำหนดภาพอนาคตประเทศไทย (Scenario Thailand) เสนอต่อพรรคการเมืองที่อาสามาบริหารประเทศ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2566

สำหรับ 8 เวทีใหญ่ดังกล่าวจะมีการจัดในพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคกลางตะวันออก ภาคกลางตะวันตก ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้สามจังหวัดชายแดน และกรุงเทพมหานคร โดยมุ่งเน้นฉากทัศน์ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2575) จำนวน 6 กลุ่มประเด็น ประกอบด้วย 1. การศึกษาและทักษะ 2. สุขภาพ/สาธารณสุข 3. เศรษฐกิจ/รายได้ 4. สังคม/พื้นที่/ชีวิต 5. สิ่งแวดล้อม 6. รัฐ/ราชการ/ไทยในเวทีโลก โดยได้มีการจัดเวทีครั้งที่หนึ่งไปแล้วที่ภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2566 ณ รอยัลการ์เด้น พลาซ่า เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อนำร่องจัดกระบวนการและการบริหารจัดการในเวทีอื่นๆ ต่อไป

3

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า การเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. 2566 จะเป็นโอกาสอันดีที่องค์กรภาคีเครือข่ายและประชาชนจะได้ร่วมกันใช้สิทธิใช้เสียงเพื่อกำหนดอนาคตของตัวเอง ขณะนี้จึงถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญและจะมีผลสืบเนื่องไปยังการพัฒนาประเทศในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่ง สช. และภาคีเครือข่ายเล็งเห็นถึงการเป็นวาระสำคัญต่อการขับเคลื่อนทางสังคมแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดภาพอนาคตประเทศไทย เสนอต่อพรรคการเมืองที่อาสามาบริหารประเทศ

นพ.ประทีป กล่าวว่า นอกจากเวทีพัฒนาฉากทัศน์ประเทศไทย 8 เวทีใหญ่แล้ว ทาง สช. ยังจะร่วมกับ เขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) สมัชชาสุขภาพจังหวัด และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดที่มีเครือข่ายเข้มแข็งประมาณ 10 จังหวัด เพื่อจัดเวทีสาธารณะในประเด็นนโยบายสำคัญเพิ่มเติม อาทิ หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เพื่อเป็นเวทีให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ของพรรคการเมืองต่างๆ ได้มีโอกาสรับฟังความเห็นของภาคีเครือข่าย และแสดงนโยบายของพรรคในประเด็นดังกล่าว ควบคู่ไปกับเวทีพัฒนาฉากทัศน์ประเทศไทยด้วย

“ล่าสุดในวันที่ 28 มี.ค. 2566 นี้ สช. ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศ (IHPP) และไทยพีบีเอสและภาคีเครือข่าย เตรียมที่จะจัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งแรก เพื่อพูดคุยในประเด็นเรื่องของนโยบายหลักประกันรายได้ฯ ซึ่งจะมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาแลกเปลี่ยนถึงความชัดเจน ความเป็นไปได้ และการเตรียมพร้อมถ้าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งจะมีนโยบายในเรื่องนี้ จึงอยากเชิญชวนภาคีเครือข่ายและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนได้ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หรือรับฟังผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเข้ามาร่วมกันติดตามนโยบายสำคัญที่จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคนในอนาคตต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว