ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับมีผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รุนแรง และรักษาไม่หายเพิ่มมากขึ้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตรูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตและการดูแลแบบประคับประคองจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

จากการเปรียบเทียบสิทธิการดูแลแบบประคับประคองในระบบหลักประกันสุขภาพที่รัฐจัดให้กับประชาชนไทย ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว พบว่า ชุดสิทธิการดูแลแบบประคับประคองมีความแตกต่างกันและเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก

กล่าวคือ สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม เป็นรูปแบบการดูแลแบบประคับประคองเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นรูปแบบการดูแลแบบประคับประคองทั้งในโรงพยาบาล ในชุมชน และที่บ้าน

ดังนั้นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” จึงเป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่รัฐจัดหาให้ที่มีสิทธิในการดูแลแบบประคับประคอง ดีที่สุด

1

จากตารางสรุปได้ว่า สิทธิในการดูแลแบบประคับประคองของทั้ง 3 กองทุน มีความเหลื่อมล้ำกันมาก

ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ในเรื่องสิทธิการดูแลเป็นเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของความจำเป็นในการสร้างระบบการดูแลแบบประคับประคองในภาคเอกชนผ่านระบบประกันสุขภาพภาคสมัครใจขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการอุดช่องว่างสิทธิการรักษาของภาครัฐ และเป็นทางเลือกกับผู้ป่วยในการวางแผนการดูแลตนเองและครอบครัว

ในต่างประเทศมีการจัดทำกรมธรรม์สุขภาพการดูแลแบบประคับประคองเพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชนที่ต้องการรูปแบบการดูแลแบบประคับประคองที่นอกเหนือจากการดูแลที่รัฐจัดหาให้ โดยหลักการคือ จะต้องมีการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกรมธรรม์

ทั้งนี้ เพื่อจะแจ้งถึงแนวทางในการเลือกการรักษาพยาบาลที่ตนเองต้องการและไม่ต้องการ รวมทั้งกำหนดผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจแทนตนเองในกรณีที่ตนเองไม่สามารถตัดสินใจได้แล้ว นอกจากนั้นยังมีการจัดทำแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับผู้ป่วยและครอบครัวในแต่ละช่วงเวลาเพื่อเลือกแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว

ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีการขายกรมธรรม์ที่เป็นกรมธรรม์การดูแลแบบประคับประคองแล้ว โดยการนำกรมธรรม์สุขภาพมาประยุกต์ขายเป็นกรมธรรมแบบการดูแลแบบประคับประคอง แต่รูปแบบของกรมธรรม์ยังไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขและยังไม่มีการกำหนดผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจแทนผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจได้แล้ว ยังไม่มีการทำแผนการดูแลล่วงหน้าทั้งการดูแลที่บ้านและการดูแลที่โรงพยาบาลตามที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องการ

ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนากรมธรรม์การดูแลแบบประคับประคองเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเหมาะสมกับบริบทของระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยต่อไป

จากความสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงร่วมกับ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จึงดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องกรมธรรม์การดูแลแบบประคับประคองขึ้น เพื่อจัดกระบวนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากรรมธรรม์การดูแลแบบประคับประคอง เพื่อให้ประชาชนที่สนใจในเรื่องการดูแลแบบประคับประคองสามารถวางแผนการดูแลตนเองในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตตนเองได้

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “Rights to Health” นิตยสารสานพลัง ฉบับเดือน ก.พ. 2566 โดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

อ่านนิตยสารสานพลังฉบับเต็มได้ที่ : https://www.nationalhealth.or.th/sites/default/files/e_book/no126/index.html