ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

3 กองทุนสุขภาพ จับมือชวน รพ.เอกชน ร่วม “บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ภายใต้สิทธิประโยชน์ “กองทุนบัตรทอง” เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้สิทธิแก่ผู้ประกันตนและข้าราชการ รวมถึงสิทธิบัตรทอง ระบุเป็นการให้บริการเพิ่มเติมที่เบิกจ่ายกับ สปสช.  พร้อมย้ำชัด รายการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับกรมบัญชีกลางและประกันสังคมยังเหมือนเดิม


เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชาชนไทยสิทธิข้าราชการและประกันสังคมแก่สถานพยาบาลเอกชนในโครงการประกันสังคมและที่เข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน (Elective surgery hospital) กับกรมบัญชีกลาง ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 280 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ตัวแทนจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน  ตัวแทนจากสำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และ สปสช. 

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับคนไทยทุกคน และมอบให้ สปสช.ดำเนินการภายใต้กองทุนบัตรทอง นำมาสู่การบูรณาการร่วมกันของ 3 กองทุนสุขภาพ คือ กองทุนประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และบัตรทอง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างเท่าเทียม และไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการเบิกจ่ายของ 3 กองทุน 

ในการนี้เพื่ออำนวยความสะดวกการเข้ารับบริการให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกันตนและข้าราชการ สปสช.ได้เชิญชวน โรงพยาบาลเอกชน สถานพยาบาลเอกชนโครงการประกันสังคมและสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในกับกรมบัญชีกลางเข้าร่วมเป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ ฯ เพิ่มเติมให้กับผู้ประกันตนและข้าราชการที่ดูแลอยู่ โดยเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. 

ทั้งนี้ หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะสร้างเสริมสุขภาพฯ เบื้องต้นจะให้บริการเฉพาะรายการที่เบิกจ่ายตามรายการที่กำหนด ได้แก่ บริการดูแลหญิงตั้งครรภ์ บริการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์และโรคฟีนิลคีโตนูเรียในทารกแรกเกิด บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร และบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก กรณีที่ตรวจคัดกรองหากมีความผิดปกติก็แนะนำให้เข้ารับบริการที่สถานพยาบาลหรือหน่วยบริการประจำตามสิทธิต่อไป

“เดิมที สปสช.จ่ายค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แบบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้ประชาชนต้องไปรับบริการได้เฉพาะที่หน่วยบริการบัตรทอง  สปสช.จึงปรับการจ่ายเพื่อเปิดช่องให้สถานพยาบาลนอกระบบหลักประกันสุขภาพ ที่สนใจเข้าร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ซึ่งประชาชนสิทธิบัตรทองก็สามารถใช้บริการได้ด้วย และนำมาสู่การประชุมชี้แจงในวันนี้” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
    
นายรชตะ อุ่นสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานกฎหมายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพฯ คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการ สปสช.จึงหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อให้ข้าราชการและญาติสายตรงเข้าถึงบริการนี้ ซึ่งกรมบัญชีกลางมีสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนรวม 200 แห่ง ที่ให้บริการผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วน จึงตั้งโจทย์ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้โรงพยาบาลเหล่านี้ร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ กองทุนบัตรทองด้วย 

อย่างไรก็ตามประเด็นแรกที่ต้องเน้นย้ำคือ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับกรมบัญชีกลางทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพียงแต่ รพ.ที่ร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ กองทุนบัตรทองจะต้องทำข้อมูลการบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ เพิ่มเติมเพื่อเบิกจ่ายกับ สปสช.เท่านั้น ตัวอย่างสิทธิการฝากครรภ์ ปกติคนท้องที่ฝากครรภ์กับโรงพยาบาลใดก็จะผ่าคลอดที่นั่นด้วย ซึ่งหากผู้มีสิทธิเข้าผ่าท้องคลอด รพ.ยังคงเบิกค่าบริการกับกรมบัญชีกลางเหมือนเดิม เพียงแต่ในส่วนบริการฝากครรภ์ที่เพิ่มมาใหม่ ให้ส่งข้อมูลเบิกค่าบริการกับ สปสช. โดยไม่เรียกเก็บเพิ่มกับผู้มีสิทธิอีก     

“ผมย้ำว่าโครงการนี้เป็นความร่วมมือ สปสช. สปส. และกรมบัญชีกลาง ขอเชิญชวนให้โรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากรมบัญชีกลาง เข้าร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ กับ สปสช. เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการที่ท่านดูแลอยู่”  

ด้าน นางยุวดี อัคนิวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานคุ้มครองสิทธิทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ประกันสังคมเริ่มให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 14 รายการเมื่อ 1 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา พร้อมขยายเปิดรับสถานพยาบาลมาร่วมให้บริการ ในการร่วมมือกับสปสช. ครั้งนี้ สปส.คงนำสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพฯ ของกองทุนบัตรทองมาทบทวนและจ่ายเฉพาะรายการที่ไม่ซ้ำซ้อนแทน ปัจจุบันมี รพ.เอกชน ในระบบประกันสังคม 89 แห่ง ในจำนวนนี้มี 39 แห่งที่ไม่ได้อยู่ในระบบของ สปสช.  

ในกรณีฝากครรภ์ ผู้ประกันตนนอกจากได้รับค่าฝากครรภ์ 1,500 บาทแล้ว หากฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลที่ร่วมให้บริการกับ สปสช. ก็จะได้รับบริการฝากครรภ์คุณภาพฟรีตามสิทธิบัตรทองเพิ่มเติม โดยโรงพยาบาลเบิกค่าบริการฝากครรภ์จากสปสช. ในส่วนค่าคลอดบุตร สปส.ยังดูแลในอัตรา 15,000 บาท ซึ่ง รพ. ยังเรียกเก็บค่าบริการกับผู้ประกันตนเช่นเดิม  

“รพ.ประกันสังคมที่ร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ กับ สปสช. อาจสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกันตนเลือกใช้สิทธิที่ รพ.ท่านเพิ่มเติม เป็นการร่วมดูแลผู้ประกันตนให้เข้าถึงสิทธิ มีสุขภาพที่ดี และลดค่ารักษาพยาบาล สปส.หวังเป็นอย่างยิ่งจะมี รพ.ที่ร่วมให้บริการกับ สปสช. เพิ่มเติม” นางยุวดี กล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso