ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “ลักษณะความเหลื่อมล้ำในแต่ละมิติของลูกบาศก์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : ข้อค้นพบจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2563” โดย ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ Research Fellow, Takemi Program in International Health, Harvard T.H. Chan School of Public Health ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - มีนาคม 2565

ได้สรุปผลการศึกษาออกเป็น 6 ประเด็นสำคัญ

1. การจำแนกผ่านสิทธิหลักประกันสุขภาพของรัฐทั้ง 3 กองทุน พบว่า ในแง่ ความครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ สิทธิข้าราชการได้รับความคุ้มครองมากกว่าสิทธิประกันสังคม-ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ไม่มากนัก ส่วนในแง่ “ความครอบคลุมของบริการสุขภาพ” ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดด้านคุณภาพการให้บริการการรักษานั้น สิทธิข้าราชการมีคุณภาพสูงกว่าสิทธิประกันสังคมถึง 60% และสูงกว่าสิทธิบัตรทองถึง 70%

2. การจำแนกตามเศรษฐฐานะของครัวเรือน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ตั้งแต่จนที่สุด - รวยที่สุด โดยใช้เกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเฉลี่ยต่อหัวของสมาชิกในครัวเรือน ซึ่งในแง่ของ ความครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ พบว่ากลุ่มครัวเรือนที่ยากจนได้รับมากที่สุด สอดคล้องกับนโยบายเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของรัฐ ส่วน ความครอบคลุมของบริการสุขภาพ” ที่กลุ่มครัวเรือนยากจนได้รับนั้น แตกต่างจากครัวเรือนที่รวยที่สุดถึง 60%

3. การจำแนกตามเพศและประชากร ด้าน ความครอบคลุมบริการสุขภาพ พบว่า เพศหญิงมีสูงกว่าเพศชาย ทว่าเมื่อพิจารณาความครอบคลุมของระบบหลักประกันทั้ง 3 กองทุนนั้น ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างเพศ ฉะนั้นความแตกต่างที่เกิดขึ้นเป็นผลจากค่าใช้จ่ายสุขภาพของแต่ละครัวเรือน

4. การจำแนกผ่านกลุ่มอายุของประชากร พบว่า ความครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการบริการ มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยเมื่ออายุมากขึ้น ขณะที่ ความครอบคลุมบริการสุขภาพ เพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น จึงสะท้อนว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนจะสูงขึ้นหากมีผู้สูงอายุอยู่ด้วย ซึ่งแตกต่างกันมากสุดถึง 30%

5. การจำแนกระหว่างภูมิภาค พบว่า กทม. และภาคกลาง มี ความครอบคลุมค่าใช้จ่ายการใช้บริการ น้อยที่สุด ดังนั้นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนจึงคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐ

อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยแล้ว กทม. บริการการรักษามีคุณภาพสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ อย่างชัดเจน อาทิ สูงกว่าภาคอีสานประมาณ 30%

6. การจำแนกจากใน/นอกเขตเทศบาล พบว่า ความครอบคลุมค่าใช้ในการใช้บริการ” สำหรับนอกเขตเทศบาลสูงกว่าในเขตเทศบาล ส่วน ความครอบคลุมบริการสุขภาพหรือว่าคุณภาพนั้นประชาชนในเขตเทศบาลสูงกว่าประชาชนนอกเขตเทศบาล ประมาณ 20%

จากข้อมูลข้างต้น “The Coverage” ได้พูดคุยอย่างลงลึกกับ ดร.ทีปกรเพิ่มเติม เพื่อขยายมุมมองจากงานวิจัย และสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของระบบสุขภาพ

ดร.ทีปกร อธิบายว่า รากฐานของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบหลักประสุขภาพเกิดขึ้นเพราะบริบททางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ระบบสุขภาพทั้ง 3 กองทุนมีการจัดตั้งคนละห้วงเวลากัน และจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น สิทธิบัตรทอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังสุด จุดประสงค์ก็เพื่อคุ้มครองการรักษาให้กับคนที่ไม่ได้สิทธิทางสุขภาพในระบบอื่นๆ

ดร.ทีปกร บอกว่า ความเหลื่อมล้ำยังคงมีลักษณะที่ต่อเนื่องมาตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดความมุ่งมั่นทางการเมือง (Political View) ของรัฐบาลและข้าราชการ ซึ่งไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่งเรื่องของระบบนี้ ทั้งที่ใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 ได้ระบุไว้ว่า จะต้องมีการบูรณาการเข้าด้วยกัน กระนั้นมาตรา 66 ได้ระบุไว้ว่า สามารถผลัดผ่อนการบูรณาการดังกล่าวได้ ทำให้เกิดการอนุมัติที่จะผ่อนผันมาเรื่อยๆ ทุกปี ซ้ำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งคาราคาซัง

ที่ผ่านมาในทางวิชาการก็มีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้มากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นจากหลายนักวิชาการชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาและควรที่จะต้องได้รับการแก้ไข แต่ทางการเมืองไม่ได้หยิบยกมาทำอะไรต่อ ดร.ทีปกร ระบุ

ดร.ทีปกร กล่าวต่อไปว่า การขาดประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพฯ เป็นผลสืบเนื่องจากการขาดการบูรณาการให้เกิดความเท่าเทียม อาทิ ความแตกต่างของเงินรักษาพยาบาลต่อหัวที่แตกต่างกันหลายเท่าของกองทุนแต่ละกองทุน ปัญหาเรื่องขาดทรัพยากรบุคคลในการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการ ฯลฯ

นอกเหนือจากงานวิจัยชิ้นนี้แล้ว ยังมีงานวิจัยเล่มอื่นที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญอีกหนึ่งประการ นั่นคืองบประมาณในการจัดการจะไม่เพียงพอในอนาคต สอดคล้องกับผลการประเมินโดยใช้เกณฑ์ของคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูประบบสาธารณสุข ซึ่งพบว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ความยั่งยืนและความเพียงพอของงบประมาณเป็นสิ่งที่น่ากังวล รวมถึงสถานการณ์โควิดขณะนี้ที่ยังไม่สิ้นสุดลง อีกทั้งสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก (Global inflation) สัญญาณของเศรษฐกิจซบเซาเหล่านี้ ส่งผลให้รัฐบาลจะไม่สามารถหารายได้ได้อย่างเพียงพอ

อนาคตความต้องการจะใช้ระบบสาธารณสุข และงบประมาณเรื่องค่าใช้จ่ายระบบสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ด้านประชากรศาสตร์ของไทยเรียกว่าสึนามิประชากร กล่าวคือ ประชาชนที่เกิดขึ้นในเจเนอเรชั่นหนึ่งมากกว่าหนึ่งล้านคนในหนึ่งปี ซึ่งตอนนี้กำลังเริ่มเกษียณอายุกันแล้ว และจะต่อเนื่องไปอีก 20 ปี จนหมดเจเนอเรชั่นดังกล่าว ดร.ทีปกร ระบุ

ดร.ทีปกร บอกอีกว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ส่วนตัวมองไม่ออกว่าจะแก้ไขปัญหาจากข้างในได้อย่างไร คงต้องหวังให้แพทย์หัวก้าวหน้า แพทย์ชนบท หรือคนแบบ นพ.สงวน (นิตยารัมภ์พงศ์) ผลักดันเรื่องนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นท้ายที่สุดจะถูกโยงกลับมาสู่เรื่องการเมืองเพื่อขับเคลื่อนอยู่ดีเหมือนกรณีการเกิดขึ้นของบัตรทอง แต่ตอนนี้ทำได้เพียงให้สังคมรับรู้และผลักดันเรื่องนี้ในระยะยาว

จากงานวิจัยที่วิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ได้ข้อสรุปว่า ต้องทำให้เกิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ตามแนวคิดคุณหมอประเวศ วะสี กล่าวคือ ฝ่ายวิชาการผลิตงานวิจัยเป็นความรู้ ภาคการเมืองอย่างรัฐบาลและข้าราชการ นำไปขับเคลื่อน ซึ่งสุดท้ายคนที่ต้องการส่วนนี้คือภาคประชาชน ซึ่งต้องทำให้เชื่อมโยงสัมพันธ์อย่างเข้มแข็ง ถึงจะทำให้เกิดขึ้นได้ ดร.ทีปกร กล่าว

ดร.ทีปกร กล่าวเสริมว่า อยากขอให้คนในระบบสาธารณสุขออกมาเรียกร้องการแก้ไขปัญหาในระบบสาธารณสุข และมีงบประมาณสำรองให้มากขึ้น เพราะเสียงของแพทย์ หรือบุคลากรเหล่านี้ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงมองไปที่ภาพรวมในเรื่องความเป็นธรรมว่าจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยได้อย่างไรมากกว่าเอาเรื่องเงินไม่พอมาเป็นอุปสรรคในการผลักดัน