ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถึง 3 ระบบ (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) ที่ครอบคลุมการรักษา ‘ด้านทันตกรรม’ ให้กับคนไทยกว่า 66 ล้านคน

ทว่า การเข้าถึงบริการด้านนี้กลับค่อนข้างน้อย หากเทียบกับในหลายประเทศ

ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง ความเป็นธรรมในการได้รับบริการสุขภาพช่องปากของประชากรไทย: การเคราะห์ผลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ .. 2560” เผยแพร่ในวารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 13 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2562 ระบุว่า ในปี 2552-2560 คนไทยมีสัดส่วนในการรับบริการทันตกรรมอยู่ที่ 8.1-9.6%

ขณะที่อีก 35 ประเทศในกลุ่มองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เช่น ออสเตรเลีย เบลเยียม อิตาลี ญี่ปุ่น ฯลฯ ในปี 2552 ประชากรมีการเข้ารับบริการทันตกรรมอยู่ที่ 37-71%

มากไปกว่านั้นหากมองลึกไปถึงเศรษฐฐานะ หรือช่วงอายุ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุ 0-5 ปี จะพบว่ามีการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพช่องปากค่อนข้างน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ปี 2560 เผยว่า เด็กกลุ่มนี้มีการเข้าถึงบริการอยู่ที่ 7% หรือน้อยที่สุดนั่นเอง ทั้งที่เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลรักษาฟันมากที่สุด

อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2566 ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง การศึกษาการดำเนินโครงการบริการสุขภาพช่องปากร่วมรัฐ-เอกชนในกลุ่มประชากรอายุ 3-6 ปี: กรณีศึกษาพื้นที่เทศบาลตำบลบางปูและเทศบาลเมืองแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ โดย ทพ.ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์ และคณะ ซึ่งได้พยายามคิดค้นโมเดลการจัดบริการโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่ออุดช่องว่างในการเข้าถึงบริการทันตกรรมที่เกิดขึ้น

งานวิจัยนี้ได้ใช้กรอบความคิดที่มุ่ง ‘ใช้หน่วยบริการทันตกรรมภายในประเทศให้มีประสิทธิมากขึ้น’ เพราะว่าที่ผ่านมาในระบบหลักประกันสุขภาพของไทยพึ่งพา ‘หน่วยบริการทันตกรรมของภาครัฐ’ ค่อนข้างมาก

อธิบายให้เห็นภาพ คือ ข้าราชการ และคนในสิทธิบัตรทอง ซึ่งรวมประชากรใน 2 สิทธินี้จะมีมากกว่า 50 ล้านคน และส่วนใหญ่ไปใช้บริการที่หน่วยบริการทันตกรรมของภาครัฐ ขณะที่ผู้ประกันตนที่ส่วนใหญ่ไปรับบริการที่หน่วยบริการทันตกรรมของเอกชน มีจำนวนประมาณ 13-14 ล้านคน

ดังนั้น ถ้าสามารถดึงหน่วยบริการเอกชนเข้ามาร่วมจัดบริการได้มากขึ้น ก็จะช่วยให้ประชาชนหลายกลุ่มที่เข้าถึงบริการได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น รวมถึงเป็นการลดความหนาแน่นในหน่วยบริการภาครัฐได้อีกด้วย

การศึกษาในครั้งนี้จึงได้ทดลองโดยใช้กลไกของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างเทศบาล มาช่วยหนุนในการจัดบริการ เนื่องจากมีแหล่งงบประมาณ คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ที่นำมาใช้ในการบูรณาการ เพื่อดึงหน่วยบริการทันตกรรมเอกชนมาร่วมจัดบริการให้กับคนในพื้นที่ ตลอดจนสร้างเป็นเครือข่ายบริการสุขภาพในระดับพื้นที่ได้

รวมถึงเห็นถึงกระแสการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นที่กำลังมีการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสู่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้นในด้านบริการปฐมภูมิรวมถึงด้านทันตกรรมด้วย

ผลการวิจัย พบว่า โมเดลดังกล่าวสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ รวมถึงค่อนข้างประสบความสำเร็จ โดยในการจัดบริการในโครงการนี้จะครอบคลุมการตรวจสุขภาพช่องปาก เอ็กซเรย์ฟัน และอุดฟันเพื่อป้องกันฟันผุ (Caries control) ซึ่งผลของการดำเนินโครงการสามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมให้เด็กเล็กอายุ 3-6 ปีในพื้นที่ ได้ถึง 15% อีกทั้งประชาชนในพื้นที่มีความพึงพอใจกับผลที่เกิดขึ้นอย่างมากด้วย

การศึกษาในครั้งนี้เหมือนเป็นการเคลื่อนไหวจากล่างขึ้นบน (Bottom-up) ระหว่างที่รอแนวทางจากผู้กำหนดนโยบายระดับชาติ โดยโมเดลนี้น่าจะเป็นต้นแบบให้กับ อปท. อื่นๆ ที่ถ้าสนใจจะเอาไปทำ ก็สามารถนำเอาองค์ความรู้ในการจัดการตรงนี้ไปต่อยอดกับพื้นที่ของตนต่อได้ ซึ่งบางพื้นที่ก็มีการนำโมเดลไปศึกษาและปรับใช้บ้างแล้ว รวมถึงในวันที่นำเสนองานวิจัยนี้ก็มีตัวแทนจากสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยมาร่วมรับฟังด้วย ซึ่งให้ความสนใจค่อนข้างมาก ทพ.ธีรวัฒน์ บอกกับ “The Coverage”

สำหรับข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้น คือ ระเบียบการใช้งบประมาณจาก กปท. ซึ่งมีการระบุวัตถุประสงค์ไว้ชัดเจน คือ ใช้เพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทว่า บริการทันตกรรมบางรายการที่ยังไม่ชัดเจนว่าอยู่ในเกณฑ์ของการรักษา หรือการป้องกัน เช่น การอุดฟัน ก็จะมีความเห็นสองฝ่าย คือ 1. เป็นการป้องกันไม่ให้ฟันผุลุกลาม และ 2. เป็นการรักษาเพราะโรค (ฟันผุ) ได้เกิดขึ้นแล้ว กรณีหลังนี้ หากองค์กรวิชาชีพ เช่น ทันตแพทยสภามีการกำหนดนิยามบริการทันตกรรมประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน จะทำให้การนำงบประมาณในส่วนนี้มาใช้เพื่อพัฒนาสุขภาพช่องปากของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ด้วยการใช้งบประมาณผ่าน อปท. ซึ่งจะยึดโยงกับระเบียบของกระทรวงการคลัง โดยค่อนข้างมีความรัดกุมในการจะเบิกจ่ายต่างๆ อีกทั้งบทบาทในการดูแลด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโมเดลการจัดบริการแบบนี้ที่เป็นเรื่องใหม่ และไม่คุ้นชินสำหรับท้องถิ่น อาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความระมัดระวังจนตีความการทำตามแนวทางนี้ว่าเป็นการทำผิดระเบียบได้

อนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้เป็นโครงการวิจัยต่อเนื่องจากชิ้นแรกของทางเครือข่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพช่องปาก เรื่อง “การศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดบริการร่วมรัฐ-เอกชนในการให้บริการสุขภาพช่องปากเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านเข้าถึงบริการของประชากรกลุ่มเด็กในเขตเมือง”