ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อุปนายกทันตแพทยสภา เผย โครงการ ‘บัตร ปชช.ใบเดียวรักษาได้ทุกที่’ ช่วยสิทธิบัตรทองรักษาฟันได้มากขึ้น หลัง 4 จว.นำร่อง มี ‘คลินิกทันตกรรม’ เข้าร่วมแล้ว 44 แห่ง ปชช. สังเกตสติกเกอร์ ‘คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น' หากพบแล้วเข้าใช้บริการได้เลย ทั้ง อุด-ถอน-ขูดหินปูน-เคลือบฟัน ได้ 3 ครั้งต่อปี ย้ำไม่มีค่าใช้จ่าย 


ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 เปิดเผยกับ "The Coverage" ตอนหนึ่งว่า ในพื้นที่นำร่องโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ทั้ง 4 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส ขณะนี้มีคลินิกทันตกรรม เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในโครงการแล้วจำนวน 44 แห่ง หรือกว่า 35% จากจำนวนคลินิกทันตกรรมทั้งหมด โดยประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด ที่ต้องการใช้บริการ สามารถเข้าไปรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวน 3 ครั้งต่อปี ซึ่งสามารถสังเกตคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมโครงการ ได้จากป้าย หรือสติกเกอร์ 'คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น' 

ทั้งนี้ คลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมโครงการ จะให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท ครอบคลุมในการตรวจดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน รวมถึงรักษาทั้งการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน และเคลือบหลุมร่องฟัน หรือฟันกรามแท้ ตลอดจนเคลือบฟูลออไรด์สำหรับคนที่อายุต่ำกว่า 15 ปี 

"หมายความว่าหากคนไทยสิทธิบัตรทอง 30 บาทมาที่คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่นในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ก็จะได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากก่อน หากต้องเอ็กซเรย์ก็จะทำให้ด้วย ต่อมาหากต้องรักษา เช่น อุดฟัน 1 ซี่ หมอฟันก็จะทำการรักษาให้ การบริการนี้จะถูกนับเป็นครั้งที่ 1 ต่อไปหากมาอีกในปีเดียวกัน หรือต้องวางแผนที่ต้องรักษาต่อ เช่น อาจต้องถอนฟันในอนาคต ก็จะเป็นการบริการครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ต่อไป โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ 

“แต่หากครบจำนวนครั้งบริการที่กำหนดแล้วและคนไข้ต้องรักษาต่อ ก็จะส่งตัวต่อไปที่โรงพยาบาลของรัฐตามระบบ หรือคนไข้ต้องการสมัครใจรักษาต่อที่คลินิกทันตกรรม ก็ทำได้ แต่ต้องชำระเงินเอง" อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่หนึ่ง กล่าว 

ทพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ หากมีการขยายตามเป้าหมายที่จะครบทุกจังหวัดในปี 2567 เชื่อว่าจะทำให้คลินิกทันตกรรมที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 6,000 แห่ง เลือกสมัครใจเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำให้ทันตแพทย์ได้ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชนรวมถึงทำให้คลินิกทันตกรรมเป็นอีกหนึ่งหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ทำหน้าที่ได้ทั้งการรักษาฟัน ตลอดจนคำแนะนำด้านสุขภาพต่อประชาชนด้วย

ทพ.ธงชัย กล่าวว่า ในส่วนทันตแพทยสภานั้นได้มีการออกแนวปฏิบัติให้ทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานสามารถใช้เป็นสำหรับให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากกับผู้ป่วยที่มาใช้บริการแบบรายบุคคล เพื่อให้ปรับพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพช่องปาก รวมถึงให้คำแนะนำการดูแลฟันที่ถูกต้องต่อประชาชน 

"โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ถือเป็นนวัตกรรมการบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบใหม่โดยเฉพาะงานทันตกรรม ที่จากนี้คนไข้สิทธิบัตรทองจะได้เข้ามาพบทันตแพทย์ที่คลินิกทันตกรรมได้อย่างเท่าเทียม และยังได้รับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปาก และฟันของตัวเอง ซึ่งเป็นอีกทางเลือกในการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชาชนสิทธิบัตรทอง ที่มากกว่าไปที่โรงพยาบาลรัฐเหมือนเดิม" อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 กล่าวตอนท้าย