ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เยี่ยมชมการให้บริการผู้ป่วย รพ.น่าน รูปแบบ “น่านโมเดล” พบมีการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจดูแลได้ครบวงจร และโมเดลการป้องกันผู้สูงอายุพลัดตกหกล้ม รวมทั้งจัดระบบบริการที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ด้าน ผอ.รพ. เผย สปสช.มาพูดคุยทำให้เข้าใจระบบการทำงานร่วมกันมากขึ้น ด้านเลขาธิการ สปสช. ชี้ ความสำเร็จของรพ.น่านเกิดจากวิสัยทัศน์บุคลากร ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ เข้าเยี่ยมชมการจัดบริการสุขภาพของโรงพยาบาลน่าน ในรูปแบบ “น่านโมเดล” เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 โดยมีการจัดระบบริการตามนโยบาย VBHC (การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า) ประเด็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การป้องกันพลัดตกหกล้ม อีกทั้งจัดบริการโรคหัวใจแบบครบวงจร  โดยมี นพ.วสันต์ แก้ววี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน  นพ.วรินทร์เทพ เชื้อสำราญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน  นพ.กนก พิพัฒน์เวช รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลน่าน  และ นพ.วรพงษ์ สุจริตพงษ์พันธ์  รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาคุณภาพบริการและมาตรฐาน โรงพยาบาลน่าน นำคณะสปสช.เยี่ยมชมพร้อมให้ข้อมูลการจัดบริการของโรงพยาบาล  

1

นพ.กนก พิพัฒน์เวช รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์  กล่าวถึงการให้บริการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่ง พบว่าโรคปอดอุดกั้นเพิ่มมากขึ้นในภาคเหนือ และจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้รับบริการ มีข้อจำกัด 2 ประเด็นหลัก คือ 1.มีการบริการหลายขั้นตอน และ 2.ระยะเวลารอคอยในการรับบริการนาน เช่น การตรวจเอ็กซเรย์ปอดต้องพบแพทย์ ให้แพทย์มีคำสั่งก่อนแล้วจึงมาเอ็กซเรย์ หรือการรอผลเลือดนาน ทำให้เสียเวลารอคอย 

ดังนั้น โรงพยาบาลน่าน จึงปรับแนวทางให้บริการให้กระชับขึ้น ทำให้สามารถลดเวลารอคอยระหว่างคัดกรองจาก 2 ชั่วโมง 10 นาที เหลือเพียงแค่ 44 นาที และการเอ็กซเรย์ปอด ลดเวลารอคอยเพื่อพบแพทย์จาก 4 ชั่วโมง 50 นาที เหลือเพียง 2 ชั่วโมง 10 นาที 

นพ.กนก กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินการ ปี 2566 ในการขับเคลื่อนเพื่อรองรับการปฏิรูปเขตสุขภาพนั้น จะมีการจัดระบบในเรื่องวินิจฉัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังให้ถูกต้อง ทำให้มีการรักษาตามมาตรฐาน รวมถึงการพัฒนาคนและครุภัณฑ์เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน ตลอดจนการจัดบริการสุขภาพแบบ VBHC เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์ได้ระยะยาว 

2

ขณะเดียวกัน ได้เสนอปรับการเบิกจ่ายชดเชยของ สปสช. รวมทั้งการดำเนินคัดกรองกลุ่มเสี่ยงของโรคปอดกลุ่มกั้นเรื้อรังโดยการตรวจสมรรถภาพปอด ตามบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องก้นโรค ที่่ต้องการเร่งรัดการเข้าถึงบริการตามปัญหาพื้นที่ระดับเขต และจังหวัด ของ สปสช.

นพ.วรพงษ์ สุจริตพงษ์พันธ์ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาคุณภาพบริการและมาตราฐาน กล่าวถึงแนวทางการป้องกันพลัดตกหกล้ม ว่า เมื่อปี 2556-2560 จ.น่าน มีอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ในระดับวิกฤต จึงมีการพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง และป้องกันความเสี่ยงพลัดตกหกล้มกระดูกหักในผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดกระดูกหักรายใหม่และผู้ป่วยที่มีกระดูกหักเพื่อไม่ให้มีการหักซ้ำในจังหวัดน่าน ในรูปแบบ ระบบน่านโมเดล 

3

ทั้งนี้  น่านโมเดล มุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสหวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้ม เช่นการปรับระบบงานภายในโรงพยาบาลน่านเพื่อให้สามารถผ่าตัดผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักได้อย่างรวดเร็ว (fast track hip surgery) เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและสามารถกลับมาเดินได้เร็วขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อน 
 
ขณะเดียวกัน อสม.มีการค้นหา ประเมินผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง  รวมทั้งติดตามการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยกระดูกหักโดยรพ.สต. และทีมเวชกรรมสังคมโรงพยาบาลในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ที่สำคัญ ยังมีการประสานกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดในการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงแต่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ
 
"หลังจากมีระบบน่านโมเดลที่เริ่มดำเนินการในเขตเมือง แนวโน้มผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก และแนวโน้มที่จะหกล้มซ้ำในพื้นที่เขตเมืองลดลง”  

4
 
ขณะที่ นพ.วสันต์ แก้ววี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ของสปสช. ทำให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการดูแลผู้ป่วย ซึ่งทำให้โรงพยาบาลมีความเข้าใจในระบบของสปสช.มากขึ้น รวมถึงยังได้รับการสนับสนุนให้มีการบริการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ 
 
นอกจากนี้ สปสช. ยังพร้อมที่จะพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ของโรงพยาบาลน่าน ทั้งการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยที่เน้นการรักษาอย่างมีคุณค่าเพื่อบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์สำหรับประชาชนสิทธิ์บัตรทอง รวมไปถึงได้รับฟังข้อจำกัดของการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะกับการพิสูจน์ตัวตน และการเบิกค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้มีการทำงานเพื่อบริการทางการแพทย์ต่อประชาชนมีความราบรื่นดียิ่งขึ้น 

4
 
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า จ.น่านเป็นพื้นที่พิเศษที่มีประชากรไม่มาก แต่การบริการดูแลสุขภาพของประชาชนทำได้อย่างครบถ้วน และจุดเด่นของโรงพยาบาลน่าน คือ มีการบริการด้านหัวใจที่ครบวงจร การดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่วางเป้าหมายไม่ให้มีผู้ป่วยฉุกเฉิน และยังมีประเด็นการบริการผ่าตัดข้อ กระดูก สะโพก ที่ให้บริการรวดเร็ว และทำให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็วขึ้น ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นมากจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และบุคลากรทางการแพทย์ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งการป้องกัน  รักษา และฟื้นฟูสภาพ
 
อย่างไรก็ตาม จากนี้จะมีระบบการทำงานของสปสช. ที่เชื่อมกับระบบโรงพยาบาล โดยเฉพาะการพิสูจน์ตัวตนของประชาชนที่มาใช้บริการสิทธิบัตรทอง ซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลต้องปรับตัวบ้าง แต่ขณะเดียวกัน สปสช.ก็พร้อมจะรับฟังข้อเสนอแนะ และพร้อมจะปรับปรุงระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่มาเชื่อมต่อระบบเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันที่มีความราบรื่นมากขึ้น และทำให้ระบบบริการบประชาชนมีความยั่งยืน 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ