ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากมองไปที่ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยทั้ง 3 ระบบ อันประกอบด้วย ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ จะพบว่า ผู้ประกันตนนั้นเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้อง ‘จ่ายเงิน’ จำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน เข้ากองทุนของตนเองทุกเดือน ขณะที่ผู้ใช้สิทธิอื่นๆ ‘ไม่ต้องจ่าย’ เงินในรูปแบบดังกล่าว

ทว่า สิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนที่ได้รับจริงๆ กลับ น้อยกว่าทั้ง 2 สิทธิ โดยผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และข้าราชการนั้น สามารถรับการรักษาสุขภาพช่องปากพื้นฐานได้ ‘ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม’ ตามโรคหรืออาการที่เกิดขึ้นจริง อาทิ ฟันผุ การผ่าฟันคุด ปริทันต์ เหงือกอักเสบ

ขณะที่ผู้ประกันตน แม้โดยหลักการจะสามารถรับการรักษาได้ครอบคลุมเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากมีการ ‘จำกัดเพดานเงิน’ ค่ารักษาด้านทันตกรรมไว้ที่ 900 บาทต่อปี

นั่นทำให้หากมีการรักษาที่มีราคาเกินเพดานเงิน ผู้ประกันตนต้อง ‘รับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง’ ตัวอย่างเช่น ฟันผุ 5 ซี่ แต่จากวงเงินที่กำหนดไว้ทำให้อุดได้เพียง 2 ซี่ ที่เหลืออีก 3 ซี่ต้องจ่ายเองทั้งหมด

2

มันรู้สึกชัดเจนว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ประกันตนหายไปนะ แล้วถูกให้พิเศษมาเป็น 900 บาทโดยที่คนไม่รู้สึกว่ามันหายไป เพราะยังเห็นว่ายังรักษาอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นสิทธิพื้นฐานของเขา ที่ควรจะได้รับเทียบเท่ากับบัตรทองทพญ.มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลลำลูกกา บอกกับ “The Coverage”

เธอ อธิบายเพิ่มว่า มีอีกกรณีที่คนจำนวนมากไม่รู้ คือ การทำฟันปลอมแบบฐานพลาสติก ซึ่งมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. ทำทั้งช่องปาก (ทุกซี่ทั้งฟันบน-ล่าง) และ 2. ทำแค่เพียงบางซี่ โดยบริการนี้ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง และข้าราชการ สามารถทำได้ตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง

ทพญ.มาลี บอกต่อไปว่า แต่สำหรับผู้ประกันตนหากทำทั้งช่องปากสามารถทำได้เหมือนกัน แต่ในกรณีบางซี่ สปส. ระบุไว้ว่า 1-5 ซี่ สามารถเบิกได้ 1,300 บาท ส่วน 5 ซี่ขึ้นไป เบิกได้ 1,700 บาท แต่ราคาการทำฟันปลอมฐานพลาสติก 1 ซี่ ราคา 1,300-1,500 บาท โดยรายการนี้ผู้ประกันตนยังต้องสำรองจ่ายเองก่อนด้วย

แน่นอนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบมากที่สุดกับผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อย เนื่องจากต้องแบ่งการรักษาเป็นรายปีต่อจนกว่าจะรักษาครบทั้งช่องปาก ซึ่งช่วงรอยต่อระหว่างรอใช้สิทธิรักษาปีต่อไปก็อาจมีปัญหา หรือเสี่ยงเป็นโรคทางช่องปากเพิ่มมากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ด้วย

“ที่น่าสงสารก็คือ เวลาเขาไปเบิกเขาไม่ได้เบิกใกล้บ้านได้ เช่น มีสำนักงานประกันสังคมอยู่ในอำเภอเมือง เขาต้องนั่งรถไป ซึ่งค่ารถของเขาอีกเท่าไหร่ มันกลายเป็นต้นทุนแอบแฝงที่เขาต้องจ่ายเพิ่มเพื่อรับการรักษา” ทพญ.มาลี กล่าว

สำหรับความร้ายแรงของปัญหาทางช่องปากหากไม่ได้รับการรักษา ทพญ.มาลี อธิบายว่า นอกจากอาการเจ็บหรือปวดในระยะสั้นจากอาการโรคที่เกิดขึ้นแล้ว ในระยะยาวยังเสี่ยงเกิดภาวะรอยโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดมะเร็งทางช่องปากด้วย รวมถึงกรณีฟันหลุด หรือถอนฟันแล้วไม่มีการทำฟันปลอมมาใส่แทนที่ อาจทำให้ฟันซี่อื่นมีโอกาสจะหลุดตามมาด้วย เป็นโดมิโนไปเรื่อยๆ

2

ทั้งนี้ จากการร่วมขับเคลื่อนในประเด็นบริการทันตกรรมให้กับผู้ประกันตนมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งได้ทำให้อัตราค่าดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นจาก 600 บาทต่อปี มาเป็น 900 บาทต่อปี (อัตราในปัจจุบัน) อีกทั้งไม่ต้องสำรองจ่ายอีกด้วย

รวมถึงการเรียกร้องล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และพื้นที่ใกล้เคียงในการยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ สปส. ในการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนด้านสุขภาพช่องปากให้เท่าเทียมกับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง

เหล่านี้ทำให้เธอตกผลึกได้ว่าตอนนี้ด่านแรกของการแก้ปัญหา ควรต้องตั้งคำถามกันใหม่ว่าผู้ประกันตนเคยมีสิทธิได้รับการรักษาช่องปากเหมือนสิทธิการรักษาอื่นๆ จริงหรือไม่ โดยให้เหตุผลเสริมว่า “เราเคลื่อนเรื่องโรคมา สิ่งที่เราได้รับจาก สปส. คือ การเลือกที่จะเพิ่มวงเงิน ซึ่งมันไม่ตอบโจทย์ เพราะสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ประกันตนยังไม่ได้รับ ซึ่งก็อยากรู้เหมือนกันว่าสิทธิของคน 10 กว่าล้านคนมันมีอยู่จริงไหม ไม่รู้จะหาคำตอบที่ไหน

“ส่วนปลายทางในอนาคตการจะทำให้เท่าเทียมกันได้ อาจไม่ต้องรวมทั้ง 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพให้เป็นระบบเดียวก็ได้ เพราะแต่ละกองทุนมีสิทธิความพิเศษเฉพาะของตนเอง แต่พื้นฐานทุกกองทุนต้องพัฒนาสิทธิการรักษาให้เท่ากัน ส่วนการบริหารจัดการก็เป็นเรื่องของแต่ละกองทุนว่าจะทำอย่างไร” ทพญ.มาลี ทิ้งท้าย