ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ 19 สถาบันการศึกษา ร่วมกับ 8 เครือข่ายสมาคมองค์กรวิชาชีพ ออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืน “ร้านขายยา” ต้องมีเภสัชกรประจำเต็มเวลา

แถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565 เวลาประมาณ 19.00 น. ผ่านระบบ ZOOM ท่ามกลางตัวแทนหน่วยงานองค์กรต่างๆ กว่า 25 ชีวิต ที่เข้ามาร่วมเป็นสักขีพยาน และร่วมยืนยันในจุดยืนเดียวกัน

สำหรับจุดยืนที่สภาเภสัชกรรม และเครือข่ายสมาคมองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม ประกาศร่วมกัน มี 3 ประเด็นสำคัญ

ประกอบด้วย 1. ความปลอดภัยด้านยา เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับจากการบริการในร้านยา 2. การปฏิบัติหน้าที่ของเภสัชกรตลอดเวลาเปิดให้บริการ เป็นหลักประกันความปลอดภัยด้านยาให้กับประชาชน 3. การปฏิบัติตามมาตรฐานตามเกณฑ์วิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน (GPP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลอันเป็นที่ยอมรับ ต้องไม่ยืดระยะเวลาในการบังคับใช้

“สภาเภสัชกรรม และเครือข่ายสมาคมองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม มีจุดยืนร่วมกันคือ เคียงข้างประชาชน และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้านยาให้กับประชาชน ส่งเสริมให้ร้านยามีคุณภาพเป็นที่พึงด้านยาและสุขภาพอย่างแท้จริง” แถลงการณ์ระบุ

สำหรับที่ไปที่มาของการประกาศจุดยืนในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก กฎหมายว่าด้วยยาเกี่ยวกับ GPP ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีในร้านยา เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ วิธีปฏิบัติปฏิบัติหน้าที่ของเภสัชกรมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ หลังจากผ่อนผันให้ผู้ประกอบร้านยารายเก่ามาเป็นเวลา 8 ปี

“อันที่จริง การมีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ในร้านยาตลอดเวลาเปิดทำการ มีตั้งแต่ปี 2529 แต่เมื่อใกล้ถึงเวลาบังคับ กลับพบผู้ประกอบการบางราย บางกลุ่ม มีการเรียกร้อง ให้ขยายเวลาบังคับใช้” แถลงการณ์ระบุ

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม แถลงว่า การรับบริการที่ร้านยาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ต้องการให้มีเภสัชกรอยู่ควบคุมการขายยา เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนผู้มารับบริการ รวมไปถึงตามมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมในการจ่ายยา เภสัชกรต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้ยา ให้คำแนะนำปรึกษาข้อควรระวัง และติดตามปัญหาการใช้ยา

ดังนั้นร้านยาที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติงานตลอดเวลา เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติยา และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของประชาชนผู้มารับบริการ ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนจะต้องได้รับ รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ ระบุ

ขณะที่ ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ โฆษกสภาเภสัชกรรม ขยายความว่า สำหรับการแสดงจุดยืนในวันนี้ เนื่องมาจากกฎหมายว่าด้วยยาที่เกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติทางเภสัชการชุมชน หรือ GPP ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ที่ดีในร้านยา เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และเป็นกฎระเบียบที่เกี่ยวเนื่องกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติงานของเภสัชกร โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่นานนี้ หลังจากที่มีการผ่อนผันให้ผู้ประกอบการร้านยารายเก่ามาแล้ว 8 ปี

ขณะเดียวกัน แม้จะมีการกล่าวถึงเรื่องของการมีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยาตลอดเวลาเปิดตั้งแต่ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 และมีการผ่อนผันเรื่อยมาจนเสร็จสิ้นสิ้นสุดการผ่อนผันเมื่อปี 2529 นับเป็นระยะเวลาหลายสิบปีที่กฎหมายมีผลบังคับให้มีการให้เภสัชกรทำหน้าที่ในร้านยา

ประกอบกับในปัจจุบันร้านยามีบทบาทในการเข้ามาร่วมจัดบริการต่างๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพ แต่เมื่อถึงเวลาบังคับใช้กฎหมาย GPP ยังมีผู้ประกอบการบางกลุ่ม บางราย เรียกร้องให้มีการขยายเวลาในการบังคับใช้ออกไป ตรงนี้เป็นที่มาที่ทำให้สภาเภสัชกรรม และเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ร่วมกันแถลงจุดยืนของวิชาชีพกรณีการมีเภสัชกรในร้านยาที่มีความจำเป็นแก่ประชาชน

“เพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้านยาให้กับประชาชน และส่งเสริมให้ร้านยามีคุณภาพ เป็นที่พึ่งด้านยาและสุขภาพให้กับประชาชนสืบเนื่องต่อไป ร้านยาทุกที่ต้องมีเภสัชกร” ภก.วราวุธ กล่าว

รศ.ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ ประธานศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนของคณะเภสัชศาสตร์ 19 สถาบันการศึกษาของประเทศไทย ที่ทำหน้าที่ผลิตเภสัชกรเข้าสู่ระบบสุขภาพของประเทศไทย ระบุว่า ขอยืนยันว่าการปฏิบัติหน้าที่เภสัชกรในร้านยาตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ ถือเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้แก่ประชาชนไทย เพราะเภสัชกรที่ได้ผ่านการเรียนและฝึกอบรมอย่างเข้มข้นตลอดเวลา 6 ปีตามเกณฑ์หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตแห่งประเทศไทย ที่ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานระดับสากลจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และมีทักษะในเรื่องของการดูแลการใช้ยาอย่างลึกซึ้งและครบถ้วน

อย่างไรก็ดี ตามที่ทราบยาเป็นสิ่งที่มีทั้งคุณและมีโทษ หากใช้อย่างถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์ หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง ใช้อย่างขาดความเข้าใจก็จะทำให้เกิดโทษได้ ดังนั้นการใช้ยาจึงจำเป็นต้องมีความรู้ที่เข้าใจทั้งเรื่องยา และเรื่องโรคอย่างลึกซึ้ง

ทั้งนี้ เภสัชกรที่ผ่านการอบรม ผ่านหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต จึงเป็นผู้ที่ควรจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ที่ร้านยาเป็นเวลาตามที่เปิดให้บริการถึงจะมั่นใจได้ว่า การเข้าไปรับบริการในร้านยาจะปลอดภัย ฉะนั้นขอย้ำอีกทีว่าการมีเภสัชกรอยู่ที่ร้านยาเป็นหลักประกันความปลอดภัยด้านยาให้แก่ประชาชน

ด้าน ภก.สมพงษ์ อภิรมย์รักษ์ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การมีเภสัชกรประจำให้บริการในร้านยาตลอดเวลาที่เปิดทำการ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนจะได้รับการรักษาพยาบาล และการดูแลด้านสุขภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ จากการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเกิดกฎหมายว่าด้วยการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยา พ.ศ. 2556 เพื่อให้การทำงานมีการปรับปรุงมาตรฐานร้านยาเพื่อเข้าสู่หมวดของการที่มีเภสัชกร เข้าสู่วิธีการปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม เนื่องจากระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมานั้น มีขั้นตอนของกฎหมายที่บังคับใช้ให้ร้านยาที่เปิดก่อนปี 2556 มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงร้านยาให้เป็นร้านยามาตรฐาน ตั้งแต่ปี 2556-2565

อย่างไรก็ดี มีการประกาศเพิ่มเติมในปี 2557 เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนมาตรฐานของร้านยาเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนในระยะเวลาผ่อนผัน 8 ปีให้เป็นไปตามสูตร GPP และมีการประกาศเพิ่มเติมในปี 2560 เป็นเวลา 5 ปีต่อจากปี 2560 ให้มีมาตรฐานเกิดขึ้นในหลายๆ มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นหมวดหมู่ของสถานที่ที่ประชาชนเมื่อเข้ามาใช้บริการร้านยาแล้วมีที่ตั้งแน่นอน ประชาชนเข้าถึงง่าย และสามารถดูแลได้โดยมีมาตรฐานของ พ.ร.บ.ยา มาเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งสำคัญที่เป็นการควบคุมคุณภาพเมื่อประชาชนเข้าไปรับบริการมในร้านยา ไม่ว่าจะเป็น ยาที่มีการจัดเป็นหมวดหมู่อย่างมีคุณภาพ มีการส่งมอบยาที่ตรงกับโรคที่ประชาชนเป็น เภสัชกรจะต้องซักถามอาการตามที่ได้รับจากการอบรม หรือจากการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวมไปถึงการมีอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน เช่น เครื่องวัดความดัน ที่วัดส่วนสูง ที่ชั่งน้ำหนัก ตู้เย็นควบคุมอุณหภูมิ และพื้นที่สำหรับยาอันตราย ฯลฯ แต่กระบวนการเหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีเภสัชกรที่ทำหน้าที่ในการผลักดันกระบวนการควบคุมคุณภาพทในการส่งมอบยาที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนตามกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 หรือ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพเภสัชกรรม

“นี่คือความสำคัญของ GPP ที่ผ่อนผันการปรับเปลี่ยนร้านยามาตรฐานเดิม เข้าสู่มาตรฐานใหม่เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของการใช้ยาของประชาชน โดยผ่านบุคลากรทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเภสัชกร นี่คือความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่กระบวนการที่มี GPP” ภก.สมพงษ์ ระบุ

อนึ่ง สภาเภสัชกรรม และเครือข่ายสมาคมองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมที่ร่วมกันประกาศจุดยืน ประกอบด้วย

- ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) ซึ่งมีสถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย 19 สถาบัน ได้แก่

1. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
4. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
5. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
6. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
7. วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
8. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
9. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
10. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
11. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
12. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
13. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
14. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ
15. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
16. สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
17. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
18. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
19. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- เครือข่ายสมาคมองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม 8 องค์กร ได้แก่
1. เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย(The Pharmaceutical Association of Thailand under Royal Patronage)
2. สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) Community Pharmacy Association (Thailand)
3. สมาคมเภสัชกรอุตสาหการ ประเทศไทย (Thai Industrial Pharmacist Association ;TIPA)
4. สมาคมเภสัชกรรมการตลาด(ประเทศไทย) The Marketing Pharmacy Association of Thailand (MPAT)
5. สมาคมเภสัชกรรมทะเบียนและกฏหมายผลิตภัณฑ์ ประเทศไทย (Regulatory Affairs Pharmacy Association (Thailand)
6. สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล(ประเทศไทย) The Association of Hospital Pharmacist (Thailand)
7. สมาคมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (Public health Pharmacy Association of Thailand)
8. คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand National Pharmacy Education)

1