ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มบริการ “เภสัชกรรมปฐมภูมิ” โดยให้เภสัชกรร้านยาในชุมชน มีบทบาทครอบคลุมการบริการสุขภาพให้กับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้สามารถรับยาที่ร้านยาได้ใน 16 กลุ่มอาการ

ประกอบด้วย 1. อาการปวดหัว เวียนหัว 2. ปวดข้อ 3. เจ็บกล้ามเนื้อ 4. ไข้ 5. ไอ 6. เจ็บคอ 7. ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก 8. ถ่ายปัสสาวะขัด 9. ปัสสาวะลำบาก 10. ปัสสาวะเจ็บ 11. ตกขาวผิดปกติ 12. อาการทางผิวหนัง 13. ผื่น คัน 14. บาดแผล 15. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และ 16. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู

“The Coverage” พูดคุยกับ นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะอาจารย์แพทย์และนักวิชาการที่มีมุมมองต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างแหลมคม

ปัจจุบัน “นพ.สมศักดิ์” ดำรงตำแหน่งประธาน service plan โรคหลอดเลือดสมอง เขตสุขภาพที่ 7

“เห็นด้วยและขอสนับสนุนการบริการเภสัชกรรมปฐมภูมิ เพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อประชาชน และวงการสาธารณสุขอย่างชัดเจน” นพ.สมศักดิ์ ระบุ

รพ.ลดแออัดลง 30% ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น

นพ.สมศักดิ์ อธิบายว่า อาการทั้ง 16 อาการมักพบบ่อย การที่ประชาชนสิทธิบัตรทองสามารถรับยาได้ที่ร้านยา จะช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ได้สูงถึง 30%

มากไปกว่านั้น โครงการเภสัชกรปฐมภูมิยังช่วยให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น เพราะแต่ละพื้นที่จะมีร้านยามากกว่า 1 แห่งแน่นอน อีกทั้งร้านยายังกระจายตัวอยู่ในชุมชน ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายกว่าการไปโรงพยาบาล เพราะสามารถเลือกไปใช้บริการตามเวลาเปิด-ปิดของร้านยาได้ โดยที่ผู้ป่วยก็ไม่ต้องลางานเหมือนกับไปโรงพยาบาล

นอกจากนี้ การที่ประชาชนสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการที่ร้านยาแทนการไปโรงพยาบาล ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษา เพราะเป็นการรักษาที่เริ่มตั้งแต่มีอาการ ไม่ใช่ระยะที่อาการลุกลามหนัก และเมื่อโรงพยาบาลลดความแออัดลง บุคลกรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลก็ไม่ต้องทำงานหนัก มีเวลาในการดูแลรักษาผู้ป่วยนานมากขึ้น ดูแลผู้ป่วยได้ละเอียดมากขึ้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อการรักษา

“ในอนาคต ควรจะเพิ่มการบริการด้านนี้สู่ผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการด้วย” นพ.สมศักดิ์ เสนอ

4 ข้อพึงระวัง และสิ่งที่ควรดำเนินการคู่ขนาน

นพ.สมศักดิ์ ยังฉายภาพถึงบทบาทสำคัญของเภสัชกรในงานบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งมีความครอบคลุมในทุกมิติของชุมชน ทั้ง 3 ด้าน คือ 1. ระดับบุคคล ที่ช่วยให้ประชาชนมีผลการรักษาตามเป้าหมาย 2. ระดับครอบครัว ซึ่งช่วยให้แต่ละครอบครัว มีการใช้ยาที่เหมาะสมและมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งอาจดูแลครอบครัวที่มารับบริการที่ร้านยา หรือการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย 3. ระดับชุมชน ที่เภสัชกรจะเข้าใจถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชน และให้การป้องกัน คุ้มครองประชาชนในฐานผู้บริโภคในด้านยาและสุขภาพ

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวยังมีข้อพึงระวัง “นพ.สมศักดิ์” กล่าวว่า สิ่งที่ต้องระวังในการรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่รับยาที่ร้านยาคุณภาพจากเภสัชกรมีอยู่ 4 เรื่อง คือ 1. การวินิจฉัยโรคหรืออาการที่ผิดปกติ ด้วยข้อจำกัดศักยภาพของเภสัชกร และที่ร้านยาไม่ได้มีอุปกรณ์ในการตรวจรักษาเหมือนในโรงพยาบาล 2. ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของเภสัชกรที่มีจำกัดในระดับหนึ่ง การสอบถามประวัติ การตรวจร่างกายที่อาจไม่เพียงพอในการประเมินอาการผิดปกติ 3. การใช้ยาต้านจุลชีพอาจมีการใช้ยาดังกล่าวมากขึ้น และ 4.โรคทางตา หู ผิวหนัง อาจยากเกินศักยภาพของเภสัชกร

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สามารถแก้ไขหรือคลี่คลายข้อจำกัดในเบื้องต้นได้

นพ.สมศักดิ์ เสนอว่า สิ่งที่ควรดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการเภสัชกรปฐมภูมิ คือการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพของเภสัชกรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงออกแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับเภสัชกรในการรักษาโรค หรือกลุ่มอาการผิดปกติ 16 อาการข้างต้น โดยองค์กรวิชาชีพของแพทย์ร่วมกับเภสัชกร

สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการกำหนดระบบให้คำปรึกษาระหว่างแพทย์และเภสัชกร เพื่อให้การดูแลรักษามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น และกำหนดแนวทางคุ้มครองผู้ป่วย และเภสัชกรในกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนของการรักษาโดยที่ไม่คาดคิด และไม่มีเจตนาให้เกิดขึ้น

แพทย์ช่วยอบรมเภสัชกร ดูแลรักษาตั้งแต่ต้นทาง

การใช้ยาในชุมชนท่ามกลางความหลากหลายและการไหลบ่าของข้อมูลมหาศาล เกี่ยวพันกับ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” โดยตรง

นพ.สมศักดิ์ ประเมินว่า ปัจจุบันความรอบรู้ด้านการใช้ยาของประชาชนดีขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าถึงสื่อโซเชี่ยลต่างๆ ที่ให้ความรู้ด้านการใช้ยา หรือให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งประชาชนยังเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน โครงการรับยาที่ร้านยาคุณภาพของ สปสช. ก็เป็นการยกระดับให้กับเภสัชกร ร้านยา ให้มีมาตรฐานในการตรวจวินิจฉัยอาการโรคเบื้องต้นที่พบบ่อย ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ สปสช. และสภาเภสัชกรรมได้กำหนด เพื่อทำหน้าที่ในการบริการสุขภาพให้กับชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย

สำหรับประเด็นที่มีข้อกังวลว่า เภสัชกร ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. อาจไม่มีความรู้ หรืออาจไม่รู้การปฏิบัติที่ถูกต้องต่อคนไข้นั้น ทางแพทย์เองก็ต้องไม่นิ่งเฉย เมื่อเห็นความสำคัญเรื่องนี้ ก็ต้องเข้าไปช่วยอบรมกับเภสัชกร ให้มีความรู้เพียงพอในการดูแลคนไข้ตามอาการเบื้องต้น ซึ่งแพทย์ก็จะมีส่วนช่วยให้การรักษาประชาชนมีมาตรฐานตั้งแต่ต้นทาง

“ผมมองว่าเป็นโครงการที่ดีของ สปสช. และจะช่วยให้ต่อยอดการให้บริการสาธารณสุขต่างๆ ในอนาคตได้ เพราะการรับยาที่ร้านยา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นการเปิดมุมมองใหม่ด้านการดูแลตัวเองให้กับประชาชน ซึ่งในอนาคตอาจจะมีบริการอื่นๆ ตามมา เช่น รับยาในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเภสัชกรก็มีศักยภาพที่จะดูแลผู้ป่วยในชุมชนได้เช่นกัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว