ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.ศ.ภ.ท. ออกแถลงการณ์ หนุนการให้บริการผู้ป่วยและประชาชนในร้านยาจำเป็นต้องมีเภสัชกรปฏิบัติการ ณ ร้านยา เต็มตามเวลาที่เปิดให้บริการ ตามเกณฑ์วิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน (GPP)


ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) ซึ่งประกอบด้วยคณบดี คณะเภสัชศาสตร์จาก 19 สถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์ของประเทศไทย ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 เรื่อง “การมีเภสัชกรปฏิบัติการ ณ ร้านยา เต็มตามเวลาที่เปิดให้บริการ”

แถลงการณ์ตอนหนึ่ง ระบุว่า ศ.ศ.ภ.ท. เห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า การให้บริการผู้ป่วยและประชาชนในร้านยาจำเป็นต้องมีเภสัชกรปฏิบัติการ ณ ร้านยา เต็มตามเวลาที่เปิดให้บริการ

ความปลอดภัยในการใช้ยาเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดที่ประชาชนไทยทุกคนควรได้รับเมื่อเข้าไปรับบริการที่ร้านยา ดังนั้น .... จึงขอแสดงจุดยืนในการสนับสนุนการดำเนินการตามเกณฑ์วิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน (Good Pharmacy Practice หรือ GPP) ตามกฎกระทรวง ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ และตามมาตรฐานที่สภาเภสัชกรรมกำหนด โดยให้มีเภสัชกรปฏิบัติการ ร้านยา เต็มตาม เวลาที่เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลที่ประเทศไทยควรยึดถือปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แถลงการณ์ ระบุ

1

สำหรับสถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์ของประเทศไทย ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตเภสัชกรเข้าสู่ระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยเภสัชกรมีบทบาทและหน้าที่ในการใช้ความรู้และทักษะทางวิชาชีพเภสัชกรรมในการดูแลความปลอดภัยด้านยาแก่ประชาชน และเป็นหนึ่งในบุคลากรหลักของระบบสาธารณสุขไทย

แถลงการณ์ ระบุอีกว่า หลักสูตรเภสัชศาสตร์บัณฑิตของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นหลักสูตร 6 ปี ซึ่งมีความเป็นมาตรฐานสากล และด้วยหลักสูตรดังกล่าวถือได้ว่าประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการศึกษาเภสัชศาสตร์ในระดับภูมิภาค การเรียนเป็นเวลา 6 ปีทำให้บัณฑิตที่จบเป็นเภสัชกร มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการดูแลการใช้ยาที่ลึกซึ้งและครบถ้วน ผ่านการฝึกปฏิบัติทั้งภายในสถาบันการศึกษาและการฝึกปฏิบัติในแหล่งปฏิบัติงานจริง ภายใต้การดูแลของคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและเภสัชกรที่มีประสบการณ์ และทำให้บัณฑิตเภสัชกรสามารถส่งเสริมให้การใช้ยาเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและคุ้มค่า และเป็นไปอย่างสมเหตุผล

.... เห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า การให้บริการผู้ป่วยและประชาชนในร้านยาจำเป็นต้องมีเภสัชกรปฏิบัติการ ร้านยา เต็มตามเวลาที่เปิดให้บริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยา และป้องกันปัญหาจากการใช้ยา โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ให้บริการที่ร้านยานั้น ขาดความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการใช้ยาที่ถูกต้อง ดังตัวอย่างในอดีตที่เคยมีประชาชนได้รับอันตรายจากการได้รับยาที่ไม่เหมาะสมจากผู้ให้บริการที่ขาดความรู้ และส่งผลเสียต่อร่างกาย ชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วยมาแล้ว แถลงการณ์ ระบุ