ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “หลักการประกันสุขภาพของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด-19” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการประกันสังคม ประจำปี 2565 “Modernizing SSO การบริการที่ทันสมัยกับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2565 โดยระบุว่า หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้สถานบริการสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีการปรับเปลี่ยนตามวิธีชีวิตยุค New Normal

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง แทบทุกจังหวัดมีนักระบาดวิทยา ทำให้สามารถรับมือโควิด-19 ในระดับเบื้องต้นได้ดี การจัดการค่าใช้จ่ายในการรักษาของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม สวัสดิการรักษาพยาบาลราชการ และรัฐวิสาหกิจต่างๆ มีกลไกพื้นที่ทำให้มีการรวมศูนย์จัดการทางการเงินขึ้น ทำให้ทุกโรงพยาบาลมีความไว้วางใจ

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยได้บทเรียนหลายอย่าง เรียนรู้จากข้อผิดพลาด โดยเฉพาะการสื่อสารกับประชาชน ในช่วงแรกมีช่องทางการติดต่อเยอะมาก ทำให้เกิดความสับสนระหว่างประชาชนและหน่วยงาน ภายหลังเปลี่ยนให้เหลือเบอร์ โทร. ติดต่อ แค่ 1130 ของ สปสช. และ 1506 ของสำนักงานประกันสังคม โดยรับเรื่องทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 และเป็นตัวกลางในการส่งต่อ เช่น หาเตียง หาโรงพยาบาล รวมถึงการติดตามยาและอาการผู้ป่วย

ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนกำลังสำคัญในการช่วยเหลือหลายอย่าง เช่น มูลนิธิต่างๆ จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การจัดหายา บริษัทเอกชนเข้ามาช่วยส่งยา ส่งอาหาร ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในช่วงแรกที่มีการแพร่ระบาด เมื่อพบผู้ป่วยก็ต้องเข้าโรงพยาบาลรับการรักษาในห้องความดันลบและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จนปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย จึงมีการศึกษาการรักษา Home Isolation (HI) ของประเทศอังกฤษ และเพิ่มบริการส่งยา ส่งอาหาร และมีแพทย์คอยเยี่ยมและตามอาการอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เหมือนกับรับบริการในโรงพยาบาลมากที่สุด แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ภายหลังเอกชนได้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการส่งอาหาร และส่งยา จนมาถึงปัจจุบันประชาชนสามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเจอแพทย์

“บทเรียนชิ้นนี้เป็นผลให้ในปี 2566 สปสช. จะเริ่มโครงการ Homeward โดยคนไข้ 6-7 โรค ที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล โดยแพทย์จะคอยวิดีโอคอล และส่งยา ส่งอาหารให้กับผู้ป่วย เป็นการแปลงร่างจาก Home Isolation” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น ยกตัวอย่างการตรวจ ATK ด้วยตัวเองว่าติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานก็มีการตรวจมะเร็ง หรือโรคต่างๆ ด้วยตัวเองเช่นกัน

อย่างไรก็ดี บริการสาธารณสุขก็มีการปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมของประชาชนและวิวัฒนาการของโลก เช่น เมื่อประชาชนมาตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลสามารถรับยาใกล้บ้านแทน ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาอยู่ที่โรงพยาบาลนาน มีการสนับสนุนการผ่าตัดวันเดียวกลับด้วยการผ่านตัดผ่านกล้องขนาดเล็ก ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นร่างกายที่บ้านต่อได้และหายภายในไม่กี่วัน รวมถึงลดความสำคัญของโรงพยาบาลลง แต่ให้ความสำคัญกับการรักษาที่บ้านและชุมชนมากขึ้น โดยการดูแลรักษาจะถูกเปลี่ยนเป็นการป้องกัน เพื่อให้ประชาชนแข็งแรงและลดอาการป่วย

นอกจากนี้ มีการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททางการแพทย์มากขึ้น เช่น บริการสุขภาพเคลื่อนที่ (Mobile Health Service) บริการโทรเวชกรรม (Telehealth/Telemedicine)  ในการเข้ารับการปรึกษาการรักษา รวมถึงบริการส่งยาไปยังบ้าน หรือรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในปี 2563 – 2564 มีผู้รับสิทธิประโยชน์บัตรทองเข้ามาเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 40 พุ่งสูง เนื่องจากเข้ารับสิทธิประโยชน์ค่าชดเชยโควิด-19 ซึ่งมองว่าถ้าผู้ใช้บัตรทอง 48 ล้านคนทั่วประเทศเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรานี้ก็จะได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลของหลักประกันสุขภาพ ขณะเดียวกันมาตรา 40 ให้สิทธิกับผู้พิการที่สามารถทำงานได้เข้าทำงานมาก โดยได้ทั้งสิทธิประกันสังคมและสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อเป็นแรงจูงใจและสนับสนุน ช่วยให้เพิ่มแรงงานในระบบของประเทศมากขึ้น

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า หนึ่งในข้อกังวลทั่วโลกคือในอนาคตค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประชาชนสูงขึ้น เพราะคนจะเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสังคมผู้สูงอายุ โรคอุบัติใหม่ และสิ่งแวดล้อม แต่การเข้ามาของโควิด-19 เข้ามาทำให้เกิดเทคโนโลยีชะลอวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุแข็งแรงไม่ป่วยง่าย เพราะการป่วยติดบ้านติดเตียงต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก รวมถึง Self Test Self Care ลดค่าใช้จ่ายลง การรักษาแบบใหม่ถูกกว่าเดิม เช่น การแพทย์จีโนมิกส์ที่ใช้การตรวจยีนส์เพื่อทราบว่าร่างกายเหมาะสำหรับกาใช้ยาประเภทใด ก็จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดประโยชน์ได้

“สิ่งที่เราเคยเชื่อว่าค่าใช้จ่ายทางสุขภาพจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น มันอาจจะไม่จริงแล้วก็ได้ หลังการระบาดของโรคโควิด-19 เพียงแต่ว่าเราจะมีความชาญฉลาดในการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาระบบบริการ ปรับเปลี่ยนการเข้ารับบริการของผู้ป่วยอย่างไรให้เหมาะกับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น” นพ.จเด็จ ระบุ