ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้เชี่ยวชาญเสนอนานาประเทศ เร่งยกระดับการจัดทำระบบข้อมูลสุขภาพ ซึ่งจำเป็นต่อการการตัดสินใจนโยบายสุขภาพและดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอดังกล่าว สะท้อนในบทความที่เขียนโดย 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ได้แก่ พญ.รูมา บราห์กาวา (Ruma Bhargava) หัวหน้าสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) สำนักงานอินเดีย และ สตีฟ โอลิส (Steve Ollis) ผู้อำนวยการโครงการระบบข้อมูลสุขภาพและการใช้ข้อมูล (Country Health Information Systems and Data Use หรือ CHISU)

บราห์กาวาและโอลิส ให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล เป็นประเด็นร้อนในอุตสาหกรรมสุขภาพในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

องค์กรและหน่วยงานทั่วโลกใช้จ่ายเงินกับการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล เพิ่มจาก 13,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (473,000 ล้านบาท) ในปี 2561 เป็น 44,600 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (1.6 ล้านล้านบาท) ในปี 2565

ขณะที่การศึกษาของบริษัทดีลอยท์ (Deloitte) พบว่า 92% ของวิชาชีพและสถาบันทางการแพทย์ทั่วโลก ล้วนแล้วให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล

1

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านนี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่ความจริงแล้ว การเปลี่ยนผ่านขึ้นอยู่กับมนุษย์ เทียบเท่ากับเทคโนโลยี

เช่นเดียวกัน ข้อมูลสุขภาพจำเป็นต้องมีมนุษย์ทำหน้าที่เก็บรวบรวมและจัดการ รวมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพระดับชาติ (National health information system หรือ HIS) ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่มีคุณภาพ เท่าทันสถานการณ์ สามารถเตือนภัยการมาของโรคระบาดและเหตุการณ์ฉุกเฉิน ทั้งยังช่วยในการออกแบบการดูแลผู้ป่วยที่มีคุณภาพ บริหารจัดการโรงพยาบาล และวิเคราะห์ลักษณะการแพร่กระจายโรค

ระบบข้อมูลสุขภาพ คือ กระบวนการออกแบบชุดข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจด้านเรื่องสุขภาพ มี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ การสร้างชุดข้อมูล รวบรวม วิเคราะห์ ใช้งานและสื่อสาร

ตัวอย่างการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพที่น่าสนใจ คือ โครงการระบบข้อมูลสุขภาพและการใช้ข้อมูล (Country Health Information Systems and Data Use หรือ CHISU) ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน ภายใต้องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development หรือ USAID)

โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยนานาประเทศยกระดับความสามารถในการจัดหา และจัดการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพ โดยดำเนินโครงการแล้วใน 8 ประเทศ

ความช่วยเหลือเน้นไปที่ยกระดับศักยภาพมนุษย์ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสุขภาพ เช่น สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆในการจัดการข้อมูล และช่วยเจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนผ่านจากระบบบันทึกข้อมูลลงกระดาษเป็นระบบออนไลน์ เป็นต้น

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับการสนับสนุนสร้างแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ ชื่อว่า SATUSEHAT ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในยุทธศาตร์เปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลของประเทศ

2

การสนับสนุนด้านอื่นๆ ได้แก่ การจัดประชุมกลุ่มทำงานด้านพัฒนาระบบข้อมูล ใช้มาตรฐาน Fast Healthcare Interoperability Resources หรือ FHIRⓇ ในการทำระบบข้อมูล และทำตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง

บราห์กาวาและโอลิสสรุปในตอนท้ายว่า นานาประเทศควรเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีสุขภาพดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระจายข้อมูลและสร้างความรู้ใหม่ให้กับสังคม และรวมอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Susutainable Development Goals หรือ SDGs)

อย่างไรก็ดี หลายประเทศยังคงต้องการความช่วยเหลือจากประเทศที่มีประสบการณ์และร่ำรวยกว่า ในการจัดทำยุทธศาสตร์และสร้างระบบข้อมูลสุขภาพ

รวมทั้งต้องสร้างความร่วมมือข้ามภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และแหล่งทุน เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการจัดหาและจัดการข้อมูล มิใช่เพียงแต่ลงทุนในด้านเทคโนโลยีอย่างเดียว

“วิกฤตโควิด 19 เผยให้เห็นความเปราะบางของระบบสุขภาพ และความจำเป็นของการมีชุดข้อมูลที่มีคุณภาพในการตัดสินใจนโยบายสุขภาพ ระบบสุขภาพดิจิทัลต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพที่ให้ประโยชน์แก่ผู้คน และต้องคำถึงจริยธรรม ความปลอดภัย ความมั่นคง ความน่าเชื่อถือ ความเท่าเทียม และความยั่งยืน”

อ่านบทความฉบับเต็มที่:
https://www.weforum.org/agenda/2022/09/how-digital-transformation-driving-action-healthcare/