ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

16 องค์กรภาคประชาสังคมด้านเอชไอวี นำร่องขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านในระบบบัตรทอง เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนดูแลผู้ป่วย-เสี่ยงติดเชื้อเข้าสู่การรักษา สอดรับยุทธศาสตร์ยุติเอดส์ พ.ศ. 2573 คาดเริ่มดำเนินการปีงบประมาณ 2566


น.ส.สุภาพร เพ็งโนนยาง ผู้จัดการด้านการพัฒนาศักยภาพและรณรงค์เชิงนโยบาย สถาบันวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า การรวบรวมรายชื่อหน่วยงานภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวี (HIV) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน จำนวน 16 องค์กร โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สากลที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน

สำหรับการขอขึ้นทะเบียนดังกล่าว สืบเนื่องตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่เห็นชอบให้องค์กรฯ ที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐานการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน โดยกรมควบคุมโรค เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อร่วมบริการประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้เกิดการเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น พร้อมรับค่าบริการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  

น.ส.สุภาพร กล่าวว่า องค์กรภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานด้าน HIV หากเข้ามาเป็นหน่วยบริการเฉพาะด้านจะมีสิทธิเทียบเท่าเหมือนโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามรายการบริการได้โดยไม่ต้องทำเป็นสัญญารายปีเหมือนที่ผ่านมา ตรงนี้คาดว่า สปสช.จะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2 สัปดาห์ คาดว่าจะเริ่มเบิกได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ทั่วประเทศไทยจะมีองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้าน HIV อยู่ทุกจังหวัด ซึ่งในแต่ละองค์กรจะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป เช่น บางองค์กรสามารถตรวจเองได้เนื่องจากมีนักเทคนิคการแพทย์ และจัดตั้งเป็นคลินิกเทคนิคการแพทย์ ขณะที่บางองค์กรจะทำหน้าที่ส่งผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่ง 16 องค์กรที่เข้ายื่นหนังสือชุดแรกส่วนมากจะมีนักเทคนิคการแพทย์เป็นเจ้าหน้าที่ในองค์อยู่แล้ว

1

“16 องค์กรชุดแรกเป็น 16 องค์กรนำร่อง แต่ยังมีองค์กรอื่นๆ อีกทั่วประเทศกำลังเตรียมความพร้อม เช่น อยู่ในกระบวนการอบรม อยู่ในกระบวนการประเมินเพื่อให้ตรงเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด ฉะนั้นยังมีอีกหลายชุดที่จะต้องเข้ามายื่นในระบบในลำดับถัดไป ปีหน้าอาจจะยังไม่สามารถเก็บตกได้ทั้งหมดทุกองค์กรแต่ก็หวังว่าในปี 2568 ต้นไปจะสามารถเก็บตกได้ทั้งหมด” น.ส. สุภาพร ระบุ

น.ส. สุภาพร กล่าวว่า ประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอาจจะไม่สะดวกเข้ารับบริการที่สถานบริการ เนื่องจากระยะทาง หรือวิถีชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการไปรับบริการตามเวลาทำการ ฉะนั้นหากจะยุติปัญหาเอดส์ของประเทศให้ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2573 จะต้องทำให้ผู้ที่ติดเชื้อหรือเสี่ยงติดเชื้อเข้าสู่การรักษา ซึ่งคิดว่าองค์กรภาคประชาชนคือส่วนที่ทำให้เกิดการให้บริการได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับผู้ที่จะเข้ารับบริการมากที่สุด รวมไปถึงหากต้องการให้การบริการเป็นไปอย่างยั่งยืนก็จะต้องเป็นการให้บริการที่มีคุณภาพ เพื่อที่จะผลักให้บริการเข้าไปอยู่ในระบบสาธารณสุขของประเทศ และสามารถดำเนินงานต่อไปในได้ในระยะยาว

“มีการพัฒนาหลักสูตร จัดอบรมเพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรภาคประชาสังคมที่จะให้บริการ สามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ จากนั้นเมื่อพัฒนาหลักสูตรอบรมแล้วก็จะต้องมีระบบรับรอง ซึ่งก็ได้มีการทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ออกระเบียบกระทรวงฯ ที่จะมาสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมเหล่านี้ให้ถูกยอมรับว่าอยู่ในระบบ” น.ส.สุภาพร ระบุ

น.ส.สุภาพร กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีระบบรับรองเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการแล้ว ก็จะมีการร่วมกันพัฒนาระบบการประเมินมาตรฐานบริการ HIV และเมื่อผ่านกระบวนการทั้งหมดก็จะต้องมาดูเกณฑ์ของ สปสช. เพื่อขอเป็นหน่วยบริการในระบบ เช่น มีคุณสมบัติผ่านการอบรมผ่านการรับรอง ผ่านการประเมินมาตรฐานการให้บริการ ฯลฯ