ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากประสบการณ์ไปดูงานที่ประเทศสหรัฐฯ เมื่อปี 2540 ได้พบกับ ambulatory surgery หรือการผ่าตัดที่สามารถให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดเสร็จ ศิริทิพย์ สงวนวงศ์วาน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้าหน่วยคลินิกวิสัญญีสรรพสิทธิ ศูนย์ผ่าตัดวันเดียวกลับ Nurse manager กลุ่มงานการพยาบาลวิสัญญี โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ก็เกิดความคิดว่าควรจะมีการผ่าตัดลักษณะนี้ในประเทศไทยบ้าง เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายของคนไข้และระบบบริการสุขภาพโดยรวม การทำงานของแพทย์พยาบาลก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศิริทิพย์จึงเริ่มศึกษาวิจัยหัวข้อ ambulatory surgery หรือการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS) ความเป็นไปได้ และมีโอกาสไปเสนอความเห็นตามเวทีต่างๆ จวบจนปี 2560 เธอก็ได้มีส่วนร่วมวิจัยเรื่องนี้อีกครั้งร่วมกับทีมของกระทรวงสาธารณสุข แล้วโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ก็เข้าร่วมเป็นโรงพยาบาลนำร่องในโครงการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ

เตรียมคนไข้ให้พร้อม

“พยาบาลเราก็ต้องปรับระบบการทำงานนิดหนึ่งเพราะเราจะต้องมีระบบโทรศัพท์ติดตามคนไข้ ซึ่งแต่เดิมเราไม่มี เพื่อจะได้ไม่เสียคิวผ่าตัด” ศิริทิพย์ เล่าถึงบทบาทของพยาบาล “ส่วนกระบวนการผ่าตัด เมื่อก่อนคนไข้มาโรงพยาบาล เราจะมีการจัดโซนนิ่งให้คนไข้กลุ่มนี้ มีการจัดโซนให้เขาในห้องผ่าตัดเพื่อที่จะไม่ปะปน กับกลุ่นที่มาผ่าตัดแบบทั่วไป แล้วก็ลีนระบบโดยการลดขั้นตอน”

หมายความว่าเมื่อคนไข้มาถึงโรงพยาบาลจะได้รับการบริการแบบ one stop service รอผ่าตัดตามคิวได้ทันที ไม่ต้องถือเอกสารเดินไปยื่นให้แก่ฝ่ายต่างๆ ให้ยุ่งยาก โดยมีคลินิกวิสัญญีที่เธอก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2551 และได้รับรางวัล R2R (Routine to Research) ในการเตรียมความพร้อม เธอเล่าว่า

“การผ่าตัดวันเดียวกลับการเตรียมคนไข้มีความสำคัญ เนื่องจากเดิมการเตรียมผู้ป่วยที่จะมาผ่าตัด ไม่สามารถเตรียมได้ ถ้าจะเตรียมก็ต้องเดินไปที่หอผู้ป่วยในแต่ละวันซึ่งวิสัญญีเราไม่มีเวลา ต้องไปเตรียมหลังเลิกงาน เราก็เลยเปิดคลินิกวิสัญญีรับคนไข้ที่หมอนัดผ่าตัดแล้วมาพบเรา เราก็ให้คำแนะนำ ประเมิน ให้ความรู้ สอนการฝึกปฏิบัติ การประเมินความปวดเพื่อบอกคุณหมอหรือพยาบาล จะได้ให้ยาแก้ปวดได้ถูกต้อง หรือถ้าวิสัญญีประเมินแล้วว่าน่าจะยังผ่าตัดไม่ได้เพราะโรคของเขาอาจจะต้องไปปรึกษาก่อน เราก็จะจัดการให้คนไข้ได้จัดการปัญหาก่อน ก็จะไม่เสียเวลาไปเลื่อนให้ห้องผ่าตัดเพราะเราเลื่อนตั้งแต่มา OPD เลยเขาก็ไม่เสียเวลา

“เมื่อผ่าน OPD วิสัญญี พยาบาลจะโทรหาคนไข้ที่จะมาผ่าตัดก่อน 1 วัน ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ให้ข้อมูลคำแนะนำการปฏิบัติตัว คลินิกวิสัญญีจะมีวีดิโอให้ญาติมารับฟังด้วย ให้ข้อมูลว่าถ้าเกิดภาวะฉุกเฉินจะต้องโทรมาหา nurse manager ซึ่งเป็นตัวเรา วันที่เขามาผ่าตัด เราจะนัดหมายให้เขาไปที่ห้องผ่าตัด OPD การ์ดจะถูกเตรียมไว้ ไม่ต้องเดินมาหาพยาบาล เข้าสู่กระบวนการผ่าตัดเลย ซึ่งก่อนจะเข้าห้องผ่าตัดก็จะมีคนมาประเมินเขาอีกครั้งหนึ่ง เป็นพยาบาลวิสัญญีหรือคุณหมอวิสัญญี พอผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย เขาก็จะมาห้องพักฟื้น รอตื่น ในช่วงอยู่ห้องพักฟื้น เราก็จะมีพยาบาลวิสัญญีดูแลและประเมินว่าเขาสามารถกลับบ้านได้แล้วหรือยัง”

nurse manager สร้าง flow การทำงาน

จะเห็นได้ว่า nurse manager มีบทบาทสำคัญในด้านการจัดการ การประสานงาน ให้กระบวนการทำงานทั้งก่อนและหลังดำเนินไปอย่างราบรื่น ศิริทิพย์อธิบายว่า nurse manager ควรมีอยู่ทุกระดับตั้งแต่โรงพยาบาลระดับตติยภูมิถึงระดับปฐมภูมิ โดยทำหน้าที่หลัก 2 อย่างคือบริหารจัดการระบบการดูแลและการให้บริการผู้ป่วยโดยตรง

บทบาทของ nurse case manager ในด้านการบริหารจัดการไม่ว่าในโรงพยาบาลเล็กหรือใหญ่จึงต้องมีขั้นตอนไม่แตกต่างกัน เช่น มีการประสานงานจัดทีมสำหรับดูแลผู้ป่วย มีการจัดประชุม ให้ความรู้ หรือว่ามี ขั้นตอนหรือ flow ในการให้บริการคนไข้ซึ่งความซับซ้อนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล ต้องมีการสื่อสารข้อมูลให้กับทีม เป็นต้น จากทั้งหมดนี้ nurse case manager คนเดียวไม่สามารถทำได้

“ที่สรรพสิทธิฯ จะให้มี nurse case manager ย่อยอยู่ตามส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ OPD ที่วอร์ด ที่ห้องผ่าตัด หรือที่ฝ่ายวิสัญญี เพื่อที่จะได้ประสานงานกัน เพราะถ้าเป็นคนไหนมาก็ได้จะไม่โอเค เนื่องจากคนไข้เหล่านี้จะได้รับการดูแลที่แตกต่างไปจากคนไข้ผ่าตัดทั่วไป แล้วยังต้องมี nurse case manager กลางเพื่อประสานนโยบายหรือถ้ามีปัญหาเขาก็จะโทรมาที่ nurse case manager กลาง”

นอกจากนี้ โครงสร้างของการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์มีลักษณะ hospital based ไม่ได้จัดตั้งโครงสร้างเฉพาะขึ้นมา แต่ใช้คนและหน้าที่เดิมเป็นกลไกลในการเชื่อมต่อการทำงานจึงยิ่งทำให้ nurse case manager มีความจำเป็นต่อความราบรื่นในการทำงาน

ในทัศนะของศิริทิพย์ การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับยังต้องการการประชาสัมพันธ์อีกมากทั้งในส่วนของประชาชนและบุคลากรสาธารณสุข เธอคาดหมายด้วยว่าบทบาทของ nurse manager จะขยายลงไปสู่โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คอยทำหน้าที่ดูแลคนไข้ บริหารจัดการ บันทึกและทำฐานข้อมูลส่งต่อให้แก่ส่วนกลางเพื่อให้การติดตามมีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น