ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา กาญจนบุรี เป็นโรงพยาบาลต้นแบบการผ่าตัดวันเดียวกลับหรือ One Day Surgery: ODS เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เมื่อศัลยแพทย์หน้าใหม่ต้องทำการผ่าตัดไส้เลื่อนให้กับคุณลุงคนหนึ่งที่ยืนกรานว่าตนไม่สะดวกนอนโรงพยาบาลและต้องการกลับบ้านเนื่องจากเป็นห่วงลูกหลาน

เรื่องลงเอยที่ว่าคุณลุงคนนี้ได้กลับบ้านหลังผ่าตัดเสร็จ โดยตกลงกับญาติว่าหากเหตุฉุกเฉินอะไรเกิดขึ้นให้ติดต่อกลับมายังโรงพยาบาลได้ทันทีทุกเวลา หลังจากนั้นการผ่าตัดในลักษณะนี้ก็ดำเนินมาต่อเนื่อง กระทั่งปี 2559 ศัลแพทย์หน้าใหม่ที่ว่าและทีมจึงร่วมกันผลักดันศูนย์ Ambulatory Surgery Unit พัฒนาเป็นทีม ambulatory surgery ซึ่งหมายถึงการผ่าตัดที่สามารถให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเสร็จผ่าตัดในที่สุด

ศัลยแพทย์คนนั้นคือ นพ.วิบูลย์ ภัณฑบดีกรณ์ ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา กาญจนบุรี

นพ.วิบูลย์ เล่าว่า ODS คือการทำงานเป็นทีมร่วมกัน ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ที่จะต้องร่วมกันประเมินคนไข้ พยาบาลช่วยดูแลคนไข้ ให้คำแนะนำวิธีการดูแลแก่ญาติ จนถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้การบริการคนไข้ดำเนินไปอย่างราบรื่น รวมถึงกระทั่งผู้ป่วยและญาติเอง หากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปการทำงานย่อมยากจะสำเร็จ

“พอเรามีหน่วยแล้ว ทั้งการประเมินก่อนผ่าตัด วิสัญญี อยู่ในที่เดียวกันเรียกว่า one stop service ฉะนั้นคนไข้ไปที่นี่จบเลยครับ แล้วก็มานัดผ่าตัดพร้อมกับได้รับคำแนะนำจากพยาบาลเพื่อให้ญาติมีความรู้เรื่องการดูแลคนไข้หลังผ่าตัดและการติดต่อสื่อสารกันกับทางโรงพยาบาล”

disrupt บริการสาธารณสุข

ในมุมมองของ นพ.วิบูลย์ ODS เข้ามา disrupt หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในการให้บริการสาธารณสุขอย่างน่าสนใจ ประการแรก มันเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติของบุคลากรสาธารณสุขที่เคยยึดถือกันมาในอดีตที่มีลักษณะต่างฝ่ายต่างทำงานในหน้าที่ของตนเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันเป็นทีมดังที่กล่าวไปข้างต้น

ประการที่ 2 ODS ทำให้บุคลากรสาธารณสุขต้องพัฒนาทักษะของตนให้มีความชำนาญยิ่งขึ้น เรียนรู้เทคนิคหรือการใช้ยาตัวใหม่ รวมถึงการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เช่น การสื่อสาร การบริหารจัดการ นพ.วิบูลย์ อธิบายว่า

“เราต้องพัฒนาการทำงานของแพทย์และพยาบาลให้ดีขึ้น ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยลง หมอผ่าตัดก็ต้องระวังการผ่าตัดให้ดี ห้ามเลือดต้องห้ามอย่างดีไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกได้โดยอาศัยการแพทย์ที่ทันสมัย ยาหลายๆ ตัวทำให้เราทำได้ ยาของวิสัญญีปัจจุบันมีเยอะ เดิมทีเรากลัวคนไข้คลื่นไส้อาเจียนกลับบ้านไม่ได้ มันเกิดน้อยลง หลังผ่าตัดจะมีการประเมินคนไข้ที่หน่วยดูแลหลังผ่าตัดหรือว่าเราเรียกว่าห้องพักฟื้น คนไข้ก่อนออกจากห้องพักฟื้นต้องถูกประเมินโดยวิสัญญีแพทย์ก่อนว่ามีความพร้อมที่จะกลับบ้านได้ไหม พอประเมินเสร็จก็จะถูกประเมินอีกโดยคุณพยาบาลอีกครั้ง เราจะมี safe chart criteria เป็นมาตรฐานความปลอดภัยก่อนกลับบ้านของผู้ป่วยซึ่งคุณพยาบาลจะช่วยแพทย์ในการประเมิน”

ประการสุดท้าย การกลับไปพักฟื้นที่บ้านช่วยลดการติดเชื้อของผู้ป่วย สร้างความร่วมมือกับญาติในการดูแล จุดนี้สร้างผลลัพธ์ที่เป็นผลดีต่อมิติเชิงสุขภาพหลายประการ เช่น ญาติและครอบครัวมีส่วนร่วมในการรักษาช่วยให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว เกิดการเรียนรู้ด้านสุขภาพ สร้าง health literacy แบ่งเบาภาระของบุคลาการทางการแพทย์เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ลดปริมาณงานที่ไม่สมดุลกับจำนวนคน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นต้น

ครอบคลุมและเท่าเทียม

นพ.วิบูลย์ กล่าวว่า ณ วันนี้ การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับถึงเป็นระบบบริการแบบ open platform หมายถึงเป็นระบบบริการที่มีขั้นตอนการให้บริการชัดเจน ทุกฝ่ายต่างรู้บทบาทหน้าที่ของตนทั้งก่อนและหลังรับบริการ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเพิ่มโรคหรืออาการต่างๆ ที่ต้องผ่าตัดเข้าสู่ระบบได้ดังที่มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์มากขึ้นทุกปี

“การบริการในวันนี้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลศูนย์ทุกโรงพยาบาลนะครับ โรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่ง แล้วก็ยังมีส่วนที่เป็นโรงพยาบาลอำเภอขนาดใหญ่ ซึ่งความครอบคลุมในเรื่องของโรคและหัตถการจะมีความแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในโรงพยาบาลนั้น

“สำคัญคือการเพิ่มจำนวนผู้รับบริการ ณ วันนี้การเข้าถึงเข้ารับรู้ของประชาชนผมเชื่อว่ายังจำเป็นที่เราต้องสื่อออกไปว่ามีบริการนี้อยู่ วันนี้คณะกรรมการของกรมการแพทย์ได้จัดทำคู่มือประชาชนสำหรับการผ่าตัดวันเดียวกลับ ซึ่งจะมีเรื่องของความหมายของการผ่าตัดวันเดียวกลับง่ายๆ ให้ประชาชนเข้าใจ แล้วก็มีเรื่องของสิ่งที่ท่านจะได้รับจากบริการนี้ว่ามีอะไรบ้าง ประโยชน์ของการรับบริการนี้ เบอร์ติดต่อ หน่วยบริการที่อยู่ใกล้ๆ เพราะฉะนั้นวันนี้เราขยายเพิ่มทั้งจำนวนโรคและหัตถการ พยายามเพิ่มทั้งผู้เข้ารับเข้าถึงบริการที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม”

การผ่าตัดวันเดียวกลับอาจเป็นมากกว่าการรักษา เพราะมันกำลังสร้างและส่งคลื่นความเปลี่ยนแปลงต่อระบบบริการสุขภาพของไทยอย่างน่าสนใจ