ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คำว่า ‘ผ่าตัด’ ต่อให้พูดเบาๆ คนไข้ก็รู้สึกเจ็บแล้ว มีดที่กรีดลงไปบนร่างเป็นเรื่องใหญ่เสมอ หลังผ่าตัดยังต้องนอนโรงพยาบาลต่ออีกสองสามคืน ต้องมีญาติมาคอยเฝ้าให้ความช่วยเหลือ ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุน ไหนจะเงินทอง เวลา ค่าเสียโอกาส แม้กระทั่งสุขภาพจิต

ถ้ามีวิธีลดการใช้ทรัพยากรเหล่านี้ได้ก็น่าจะเป็นหนทางที่ดีต่อทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับปัจเจกถึงระบบสาธารณสุขโดยรวม เทคโนโลยีและทักษะของบุคลากรสาธารณสุขในปัจจุบันสามารถทำให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย มันถูกรู้จักกันในชื่อว่า ‘การผ่าตัดวันเดียวกลับ’ หรือ ‘One Day Surgery’

การผ่าตัดวันเดียวกลับคืออะไร ?

จากหนังสือ ‘ข้อเสนอแนะด้านการพัฒนาระบบบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS) และการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery: MIS) ปี 2565’ ให้นิยามไว้ว่า หมายถึงระบบบริการในการรับผู้ป่วยเข้ามาเพื่อรับการรักษาทำหัตถการหรือผ่าตัด ที่ได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าก่อนแล้วและสามารถให้กลับบ้านได้ในวันเดียวกับวันที่รับไว้หรือมีระยะเวลาในการอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่ 2 ชั่วโมงถึงเวลาจำหน่ายออกไม่เกิน 24 ชั่วโมง

ผ่าตัดวันเดียวกลับลดรายจ่ายประชาชนถึง 66 ล้านบาท

ในแง่ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์เมื่อดูจากข้อมูลปีงบประมาณ 2561-2564 พบว่า มีการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ 41,532 ราย สามารถลดค่าใช้จ่ายภาคประชาชนได้ถึง 66,451,200 บาท โดยคำนวณจากประมาณการค่าใช้จ่ายต่อวันของผู้ป่วย ได้แก่ ค่าอาหาร 200 บาท ค่าเดินทาง 200 บาท ค่าเสียเวลา 400 บาท รวมเป็น 800 บาท/คน/วัน ในส่วนที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลพบว่าสามารถลดวันนอนโรงพยาบาลได้ 83,064 วัน

นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและรองผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า

“โครงการนี้ช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายของการดูแลรักษาของคนไข้และโรงพยาบาล เพราะถ้าอยู่โรงพยาบาลน้อย ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็น้อย แล้วก็สามารถมีเตียงรับคนไข้มาผ่าตัดเพิ่มขึ้น คนไข้สามารถเข้าถึงการรักาที่มีมาตรฐานปลอดภัยเหมือนต่างประเทศ ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยไร้ญาติ ระยะเวลารอคอยความเสี่ยงหลังติดเชื้อหลังผ้าตัดก็ลดลงเพราะว่าเวลาอยู่โรงพยาบาลสั้นลง”

ทำงานเป็นทีม

ทว่า การผลักดันโครงการนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต้องเผชิญความท้าทายหลักๆ อย่างน้อย 3 ด้านคือคนไข้ บุคลากรสาธารณสุข และตัวระบบสุขภาพ กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด คนไข้เองก็รู้สึกไม่มั่นใจว่าตนเองจะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ ต่อให้อยากอยู่บ้านมากกว่าโรงพยาบาล แต่กลับบ้านแล้วจะปลอดภัยหรือไม่

ด้านบุคลากรสาธารณสุขเองก็ไม่คุ้นเคยกับรูปแบบการทำงานที่ต้องบูรณาการทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน สร้างการทำงานเป็นทีม สร้างการบริการแบบ One Stop Service ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนไข้ไม่ต้องวิ่งไปมาตามจุดบริการต่างๆ ภายในโรงพยาบาล

“เรามีทีมครับ มีคุณหมอวิสัญญี มีพยาบาลมาร่วมด้วยกับเรา ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราพบว่าจริงๆ มันทำได้เยอะกว่าแค่การฉีดยาชาผ่าตัด เราสามารถผ่าตัดโรคอื่นที่ต้องดมยา คุณหมอวิสัญญีมีความสามารถในการดมยาคนไข้ตื่นมาแล้วพร้อมกลับได้ ที่ศูนย์บริการ one day surgery มีประเมินคนไข้ที่ดี” นพ.วิบูลย์ ภัณฑบดีกรณ์ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา กาญจนบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลต้นแบบการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ ยกตัวอย่าง

ความปลอดภัยและประสิทธิภาพต้องมาคู่กัน

การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับจึงมี 3 ระยะที่ต้องคำนึงถึงเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและประสิทธิภาพของระบบ ประกอบด้วย ระยะก่อนการผ่าตัด (Pre Operation) ที่ต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติว่ามีประโยชน์และข้อดีอย่างไร มีการประเมินและเลือกผู้ป่วยที่สามารถทำการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับได้ อธิบายการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด เป็นต้น ระยะผ่าตัด (Intra Operation) ซึ่งเป็นหน้าที่ของศัลแพทย์ผู้ผ่าตัดและทีมวิสัญญีในการทำตามแผนการผ่าตัดและจัดการรองรับกรณีเหตุฉุกเฉิน และระยะหลังผ่าตัด (Post Operation)เป็นการติดตามผลการรักษา ทั้งในระยะเฉียบพลันหรือ 24-48 ชั่วโมง ระยะแรก 48-72 ชั่วโมง และระยะยาว 1 สัปดาห์ขึ้นไป

และสุดท้าย ตัวระบบสุขภาพที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินให้สอดคล้องกับการผ่าตัดวันเดียวกลับ เพราะหากคำนวณรายจ่ายเป็นผู้ป่วยนอกทางโรงพยาบาลก็ต้องเจอภาวะขาดทุน

ผลการดำเนินการนับแต่ปี 2561-2564 ทำให้ปัจจุบันการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับถูดจัดเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมการผ่าตัด 62 รายกาย มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมประมาณ 150 แห่งทั่วประเทศ

ในตอนต่อไป เราจะพาไปสำรวจสิ่งที่ผ่านมา อุปสรรค และอนาคตของการผ่าตัดวันเดียวกลับ