ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากตอนก่อนๆ เราได้แสดงให้เห็นว่าการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS) มีประโยชน์อย่างไรต่อระบบสุขภาพ แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้มันก็เคยเผชิญข้อท้าทายเกี่ยวกับการเบิกจ่าย ทำให้ผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาลต้องแบกภาระ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1 ใน 3 กองทุนหลักที่ดูแลระบบบริการสุขภาพของคนไทยสนับสนุนการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ มาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อลดภาระการนอนโรงพยาบาลของคนไข้และพัฒนาเรื่อยมา ล่วงถึงปี 2562 ก็ได้เพิ่มการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery: MIS) ขึ้นมา

ทว่า การปรับเปลี่ยนบริการตรงนี้ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของทางโรงพยาบาล กล่าวคือเดิมทีผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดจะถูกคำนวณค่าใช้จ่ายเป็นผู้ป่วยในซึ่งโรงพยาบาลจะได้รับค่าบริการสูงกว่าผู้ป่วยนอก เมื่อผู้ป่วยเปลี่ยนมารับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับทำให้สถานะการเป็นผู้ป่วยในเปลี่ยนไปเป็นผู้ป่วยนอก ขณะที่ค่าใช้จ่ายของทางโรงพยาบาลที่ใช้ในการผ่าตัดยังคงเท่ากับการผ่าตัดผู้ป่วยใน

ปรับเปลี่ยนการเบิกจ่ายตอบโจทย์ ODS

นพ.วิบูลย์ ภัณฑบดีกรณ์ ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา กาญจนบุรี กล่าวว่า เดิมระบบบริการมีอยู่แค่ 2 ระบบคือผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน สิทธิหลักประกันสุขภาพของผู้ป่วยนอกจะจ่ายที่ประมาณ 700 บาท

“สมมติผมผ่าไส้เลื่อนและให้กลับบ้านโดยที่ระยะการอยู่โรงพยาบาลไม่ได้อยู่ตามข้อกำหนดของ สปสช. ผมจะได้ 700 บาท ถ้าเอาคนไข้ไว้โรงพยาบาลอยู่เกินวันเฉลี่ย ผมได้ค่าตอบแทนหลายพันบาท มันมีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้มันมีผลกับหน่วยบริการ”

จุดนี้เองที่กลายเป็นอุปสรรคให้การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับยังไม่ขยายตัวเท่าที่ควรในช่วงแรกเริ่มก่อนมีการผลักดันเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ สปสช. เข้ามาสนับสนุนจึงทำการปรับเปลี่ยนการเบิกจ่ายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า

“การปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเริ่มมีงบประมาณ พ.ศ.2561 หลังจากนั้นความหมายของ ODS แปลว่าเป็นการผ่าตัดที่เดิมจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ด้วยวิทยาการและแนวทางการดูแดผู้ป่วยสมัยใหม่ทำให้หรนอนโรงพยาบาลไม่เกิน 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างความมั่นใจในการเปลี่ยนวิธีการจ่ายก็ต้องไม่มีภาวะแทรกซ้อนด้วย มีการผ่าตัดและโรคตามที่กรมการแพทย์กำหนด เช่น ไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ มีความปลอดภัย ต้องเป็นหน่วยบริการที่ผ่านการประเมินว่าสามารถทำได้ นี่ก็เป็นเงื่อนไขหลักๆ ถ้าเงื่อนไขครบทั้ง 4 ข้อแล้ว เกณฑ์พวกนี้สามารถเบิกจ่ายได้เลยเสมือนเป็นผู้ป่วยใน”

ยังคุ้มค่าหรือไม่?

เป็นไปได้ที่จะเกิดคำถามตามมาว่าถ้าการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับมีขึ้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของระบบบริการสุขภาพ แต่การเบิกจ่ายกลับยังเป็นแบบผู้ป่วยในแทนที่จะเป็นผู้ป่วยนอก เช่นนี้แล้วจะประหยัดค่าใช้จ่ายหรือคุ้มค่าได้อย่างไร

ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับคำว่า คุ้มค่า กินความกว้างแค่ไหน พญ.กฤติยา ตอบว่าก่อนจะเปิดตัวโครงการนี้มีการศึกษาวิจัยและอภิปรายด้านความคุ้มค่าจำนวนมาก โดยการประเมินความคุ้มค่าถูกแบ่งออกเป็น 4 ด้านคือมุมมองจากตัวผู้ป่วย, ผู้ให้บริการ, ผู้จ่ายเงิน และสังคม

“ลองคำนวณเบื้องต้นว่าค่าใช้จ่ายภาคประชาชนถ้ามาโรงพยาบาลครั้งหนึ่งรวมก็ 800 บาทต่อคนต่อวัน อันนี้คำนวณต้นทุนต่ำสุด ตรงนี้ก็ลดค่าใช้จ่ายไปได้ปีหนึ่งเป็นหลักสิบล้านขึ้นไป ส่วนโรงพยาบาลลดวันนอนได้ ไม่ต้องเสียค่าอาหาร เอาเตียงไปรับคนอื่นได้ ก็เฉลี่ยได้ 20,000 วัน ปกติจะนอนโรงพยาบาลเฉลี่ยในโรคทั่วไปทั้งหมดประมาณ 5 วัน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ประหยัดทั้งเงินและเตียง ไม่ต้องสูญเสียการดูแลเคสนั้นๆ และเขาได้รับเงินเต็ม

“ส่วนมุมมองคนจ่ายเงิน คุณรักษาโรคเดียวกันจะนอน 3 วันหรือนอน 1 วัน แต่คนไข้หายเหมือนกัน เราก็ถือว่าไม่ได้ไม่เสียอะไร โรงพยาบาลจะได้เตียงไม่เต็ม สามารถรองรับผู้ป่วยอาการหนักได้เพิ่มขึ้น ส่วนทางสังคมเป็นผลรวมต้นทุนทั้งหมด คนนอนโรงพยาบาล เขาก็ไม่อยากนอน ถ้าเขาผ่าตัดแล้วกลับมารักษาดูแลที่บ้านได้คุณภาพชีวิตเขาก็น่าจะดีขึ้น”

เมื่อพิจารณาความคุ้มค่าทั้ง 4 ด้านประกอบกัน แม้จะปรับเปลี่ยนเกณฑ์การจ่ายเงินดังที่กล่าวข้างต้น ก็ยังถือว่าคุ้มค่ากว่า

สปสช. เตรียมดัน MIS และการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์

หากจะมีประเด็นใดที่ต้องใส่ใจมากกว่าคงหนีไม่พ้นเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากการผ่าตัดย่อมต้องมีการเลือดออก แผลฉีดขาด หรือแผลติดเชื้อ ถ้าอยู่โรงพยาบาลสามารถจัดการแก้ปัญหาได้เร็ว ดังนั้น ถ้าให้ผู้ป่วยกลับบ้านก็จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลผู้ป่วยให้เสมือนอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีการจัดระบบ Platformของสำหรับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับเพื่อดูแลส่วนนี้โดยเฉพาะ ODS โดยที่ผ่านมายังไม่เคยพบการสูญเสียจากการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ

นอกจากนี้ ในปี 2566-2567 ทาง สปสช. ยังมีแผนจะขยายจำนวนโรคที่ให้บริการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery: MIS) ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ระยะเวลานอนเตียงของคนไข้ลดลง เช่นจาก 10 วันเหลือ 3 วันหรือ 1 วัน แล้วแต่โรคที่ทำการผ่าตัด แล้วใช้ telemedicine ที่เรียกว่าโปรแกรม AMED ดูแลคนไข้ที่บ้านต่อ

“สิ่งที่เรากำลังจะเปลี่ยนอีกอันก็คือ Robot surgery การผ่าตัดด้วยหุ่นยนตร์ เดิมมีอยู่ แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก ตอนนี้กำลังปรับว่าทำอย่างไรจะลดค่าใช้จ่ายลง เดิมการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์คนไข้ต้องจ่ายเงินเอง เพราะกองทุนยังไม่สนับสนุน เป็นค่าใช้จ่ายที่แพงหลักสี่ถึงห้าแสน แต่ตอนนี้กำลังจะเริ่มที่การผ่าตัดต่อมลูกหมาก มันจำเป็น เพราะมะเร็งต่อมลูกหมากมันเกิดในช่องที่เล็กมาก การผ่าตัดด้วยวิธีอื่นอาจจะนำเอารอยโรคออกมาไม่หมด มีการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับผ่าตัดต่อมลูกหมากมาสักระยะหนึ่งแล้วซึ่งมีความแม่นยำมาก เราก็พยายามปรับมาให้มีค่าใช่จ่ายไม่สูงมาก ให้กองทุนสามารถชดเชยได้ คนไข้ก็จะนอนโรงพยาบาลระยะสั้นมาก นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่พยายามจะทำให้ทันปี 66 และ 67”