ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลรัฐตามต่างจังหวัด เราคุ้นเคยกับภาพญาติผู้ป่วยหอบหิ้วเครื่องนอนของกินไปเฝ้าญาติที่กำลังรักษาตัวหรือได้รับการผ่าตัด ต่อให้ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลก็ยังมีต้นทุนแฝงอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเสียโอกาส และเวลา

ในส่วนของโรงพยาบาลเองก็เผชิญกับความแออัดของผู้ป่วยและญาติ ยิ่งการครองเตียงของผู้ป่วยแต่ละรายยาวนานเท่าไหร่ โอกาสเข้าถึงเตียงของผู้ป่วยรายอื่นก็ยิ่งยืดยาวออกไป และเพิ่มภาระที่ไม่จำเป็นแก่บุคลากรสาธารณสุข

การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS) เกิดขึ้นก็เพื่อแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ ตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพโดยยังคงคุณภาพการรักษาไว้

นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและรองผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เล่าว่า โครงการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2558 เกิดขึ้นพร้อมกับแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขรับแนวคิดดังกล่าวมาต่อยอดและปฏิรูปการทำงาน ODS เป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอด พูดให้เข้าใจง่ายคือเป็นกระบวนการผ่าตัดแบบมาเช้าเย็นกลับหรือนอนโรงพยาบาลไม่เกิน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นคนไข้สามารถกลับไปดูแลรักษาตัวต่อที่บ้านได้ทันที โดยมีทีมบุคลากรสาธารณสุขคอยติดตามอาการผ่านระบบที่สร้างขึ้น

กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดแผน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2564 เพื่อผลักดันโครงการ ODS โดยกำหนดให้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมต้องดำเนินการ 9 ขั้นตอน นพ.ทวีชัย อธิบายว่า

“ทุกโรงพยาบาลจะเหมือนกันคือตั้งแต่ขั้นที่ 1 ต้องมีคณะกรรมการดูแลการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับในแต่ละโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะมีหมอหรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นประธาน แพทย์สาขาต่างๆ พยาบาล วิสัญญีแพทย์หรือแพทย์ศัลยกรรมคอยประสานงานปัญหาอุปสรรคหรือกฎระเบียบการเบิกจ่าย หรือแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นของแต่ละโรงพยาบาล สอง ต้องมีศูนย์ประสานงานคอยให้คำอธิบายคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นก่อนและหลังผ่าตัด”

นอกจากนี้ ยังมีระบบการติดตามผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัด, การวางแนวทางปฏิบัติของผู้ป่วย, การวางแนวทางการปฏิบัติด้านความปลอดภัยของการทำหัตถการ, การวางแนวทางปฏิบัติต่อผู้ป่วยในระยะพักฟื้นโดยใช้เกณฑ์ของราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์, มีหน่วยประสานผู้ป่วยและหน่วยงานในโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง, มีการจัดอัตรากำลังรองรับเพื่อให้มีผู้รับผิดชอบชัดเจน และสุดท้าย โรงพยาบาลต้องจัดสถานที่โดยเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยและก่อให้เกิดการบริหารจัดการที่รวดเร็ว

เพราะการรักษาพยาบาลไม่ใช่สิ่งที่จะเน้นเฉพาะประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพในการรักษาและความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก มาตรการ 9 ขั้นตอนมีไว้ก็เพื่อวัตถุประสงค์นี้ ซึ่งสามารถแยกย่อยได้เป็น 4S คือ ระบบ-System บริการ-Service โครงสร้าง-Structure และบุคลากร-Staff เช่น ต้องมีโครงสร้างการทำงานและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน มีสถานที่และอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน บุคลากรมีความเชี่ยวชาญ เป็นต้น

นพ.ทวีชัย กล่าวว่า หลังจากจบโครงการในระยะ 5 ปีแรกทำให้พบอุปสรรคที่ต้องจัดการ 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ ผู้รับบริการ, บุคลกรทางการแพทย์ และระบบ

“ด้านผู้รับบริการ เช่น ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากความดันสูงเกินไป มีผลเลือดไม่ผ่าน ไม่ได้งดข้าวงดน้ำมาก่อน มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ผู้ป่วยเปลี่ยนใจหรือว่าเปลี่ยนการรักษา ไม่มั่นใจในการรักษา ไม่มั่นใจว่าจะมาเช้ากลับเย็นหรือเรียกว่าไม่สมัครใจ ไม่มั่นใจในโครงการ หรือว่าไม่มีคนดูแล มีส่วนหนึ่งไม่อยากกลับด้วยความเชื่อว่าการผ่าตัดจะต้องนอนโรงพยาบาลเท่านั้น ก็เป็นความเชื่อที่เราต้องเปลี่ยน ต้องอธิบายกับคนไข้ให้มากขึ้น

“ด้านบุคลากรทางการแพทย์ก็เหมือนกัน แม้แต่แพทย์หรือว่าพยาบาลเองก็ยังขาดความรู้ในเชิงวิชาการและเทคนิคที่สำคัญ อย่างเช่นไส้เลื่อน ถ้าให้คนไข้กลับบ้านได้จะต้องไปอบรมเพิ่มเติม ต้องใช้ทักษะการผ่าตัดที่ดีขึ้น ละเอียดขึ้น แล้วยังขาดความรู้ความชำนาญในการบริการ เพราะอันนี้เป็นวิธีใหม่สำหรับประเทศไทยยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง เช่น ยังอยากให้คนไข้นอนโรงพยาบาลมากกว่าเพราะมันง่าย คุ้นชินกับแบบเดิม ด้านระบบพบว่าผู้บริหารโรงพยาบาลบางแห่งก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจจึงไม่สนับสนุนทรัพยากรหรือการสนับสนุนงบประมาณของกองทุนสุขภาพก็ยังติดขัดเรื่องระเบียบการเบิกจ่าย”

นพ.ทวีชัย ระบุว่าในระยะต่อจากนี้หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว จะต้องเน้นการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น มีการจัดการสื่อสารและอบรมแก่บุคลากรสาธารณสุขโดยราชวิทยาลัยต่างๆ สร้างความร่วมมือระหว่างกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนทำให้การเบิกจ่ายสะดวกขึ้นและเพิ่มแรงจูงใจแก่ทางโรงพยาบาลซึ่งปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการแล้ว

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ทำการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับทั่วประเทศประมาณ 150 แห่ง ครอบคลุมการผ่านตัด 62 รายการ ในระยะต่อจากนี้ นพ.ทวีชัย กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาโครงการ ODS PLUS ด้วยการประยุกต์การผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery: MIS) มาใช้ในการผ่าตัดถุงน้ำดี ช่วยให้คนไข้สามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง เป็นการลีนระบบให้กระชับยิ่งขึ้น การพัฒนาสิทธิประโยชน์ร่วมกับ สปสช. และการพัฒนา Telemedicine มาใช้ติดตามอาการของคนไข้ เป็นต้น