ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัยหัวข้อ ความเหลื่อมล้ำในการได้รับบริการตามระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งตีพิมพ์ผ่านวารสารมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2565) พบว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพมีอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านสิทธิประโยชน์  2. ด้านการเงินการคลัง 3. ด้านคุณภาพบริการ

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นผลพวงมาจาก แนวคิดตั้งต้นในการก่อตั้ง ที่แตกต่างกันของทั้ง 3 ระบบ อันได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ระเบียบวิธีการ และกฎหมายที่รองรับไม่เหมือนกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบระบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจ่ายไปจนถึงอัตราการจ่าย

ระบบบัตรทอง ใช้หลักแนวคิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ครอบคลุมประชาชนทั่วไปกว่า 48 ล้านคน การเบิกจ่ายเป็นการเหมาจ่ายรายหัวประมาณ 3,600 บาท จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ระบบประกันสังคม ใช้หลักแนวคิดความมั่นคงทางสังคม ครอบคลุมลูกจ้างทั้งในและนอกระบบราชการประมาณ 13 ล้านคน การเบิกจ่ายเป็นการใช้เงินสมทบจากนายจ้างและรัฐโดยมีลูกจ้างร่วมจ่าย 2,575 บาทต่อหัว

ระบบสิทธิสวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ใช้หลักแนวคิดสวัสดิการของรัฐ ครอบคลุมข้าราชการและครอบครัวจำนวน 6 ล้าน โดยเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ค่าใช้จ่ายต่อหัวอยู่ที่ 12,000 บาท

งานวิจัยระบุอีกว่า ที่ผ่านมามีการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพทำให้เกิดความครอบคลุมได้มากขึ้น แต่คุณภาพบริการกับแย่ลง โดยเฉพาะสิทธิบัตรทอง ที่การใช้สิทธิการรักษาได้ไม่เท่าเทียมกับสิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ทั้งด้านการเข้าถึงยา คุณภาพของยา และคุณภาพการรักษา รวมถึงปัญหาความขัดแย้งและการถูกฟ้องร้องจากผู้รับบริการกับแพทย์หรือผู้ให้บริการ

นอกจากนี้ การที่รัฐใช้ผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สื่อสารถึงการทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีอย่างถ้วนหน้า จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้ระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีการพัฒนาคุณภาพบริการ การดูแลสุขภาพของประชาชนกลับกลายเป็นแหล่งสำหรับแสวงหากำไรและผลประโยชน์ สะท้อนการขาดการกำกับควบคุมมาตรฐานของระบบ ซึ่งส่งผลเสียต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ตลอดจนจิตวิญญาณของประชาชนผู้รับบริการ

ไม่เพียงเท่านั้น มุมมองในการมองโลกของการแพทย์สมัยใหม่ที่เลือกมองชีวิตอย่างแยกส่วน ทำให้มิติความเป็นมนุษย์ขาดหายไป มีส่วนลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้รับบริการ รวมถึงโครงสร้างของระบบสาธารณสุขที่แยกออกจากชุมชน ส่งผลให้ชุมชนมีส่วนร่วมและอำนาจในการต่อรองหรือกำกับระบบบริการทางการแพทย์ลดน้อยลง

แม้การต่อสู้ต่อรองเพื่อคุ้มครองสิทธิในหลักประกันสุขภาพของประชาชน จะมีการนำเสนอผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง แต่กลับไม่ได้รับความสนใจและให้ความสำคัญเท่าที่ควร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมการนับถือศาสนาพุทธในประเทศไทยที่มุ่งสอนให้คนปล่อยวางและอโหสิกรรมต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งมองว่าเป็นเรื่องของเวรกรรมของตนเอง และมักลงเอยด้วยการเลือกไม่จองเวรจองกรรมกันให้เป็นผลสืบเนื่อง ทำให้ประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ที่ยังรอการแก้ไข

อนึ่ง การวิจัยดังกล่าวดำเนินการโดย กล่อมศรี สิทธิศักดิ์, ปิยลักษณ์ โพธิวรรณ์ และธนพฤษ์ ชามะรัตน์ สามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ บทความวิจัย+กล่อมศรี+สิทธิศักดิ์.pdf