ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ประเมินว่าลูกในท้องมีโอกาสผิดปกติด้านสมอง จึงแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ แต่ทางโรงพยาบาลไม่สามารถที่จะยุติครรภ์ให้ได้ จึงแนะนำให้ไปโรงเรียนแพทย์ เธอเดินทางไปโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งในกรุงเทพฯ แต่ไม่มีที่ไหนรับ ...”

นี่คือเสียงของหญิงตั้งครรภ์คนหนึ่ง ที่กำลังทุกข์ระทมจากความผิดหวัง ความเศร้า และยังต้องเผชิญกับความโหดร้าย เพราะไม่สามารถเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้

จากเคสนี้ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงพฤติกรรมการเลี่ยงทำแท้งของสถานพยาบาล ทั้งที่มีความจำเป็นนั้น เท่ากับว่าสถานพยาบาลละเมิดสิทธิคนท้องหรือไม่

จนนำมาสู่การรวมตัวของเครือข่ายท้องไม่พร้อม เครือข่ายอาสา RSA  สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 และองค์กรภาคีรวม 59 องค์กร เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ และแพทยสภา

เรียกร้องให้กำหนดมาตรฐานการดูแลรักษา พัฒนา และกำกับติดตามการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ให้เป็นหนึ่งในบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง พ.ศ. 2564

พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาเนื่องมาจาก บุคลากรสุขภาพขาดองค์ความรู้ในด้านวิธียุติการตั้งครรภ์ อายุครรภ์ที่ทำได้ กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง ไม่รู้ข้อมูลเครือข่ายให้บริการและแนวทางการส่งต่อ ฯลฯ

“The Coverage” ขออาสาพาทุกท่านไปร่วมฟังมุมมองของ นพ.เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล นายกสมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสา RSA ถึงปัญหาการยุติการตั้งครรภ์ ตลอดจนความคาดหวังที่อยากให้ดำเนินการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นไปตามกลไกปกติ

การทำแท้งขึ้นอยู่กับแพทย์

นพ.เรืองกิตติ์ อธิบายให้ฟังว่า ในอดีตแล้วการยุติการตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับทัศนคติของแพทย์ การยุติการตั้งครรภ์ได้นั้น ต้องมีหรือต้องทำตามข้อบ่งชี้ตามแพทยสภาระบุเอาไว้ เช่น เรื่องสุขภาพกายและจิตใจ ความเครียดจากการที่ลูกมีภาวะพิการ หรือกรณีที่ถูกข่มขืน ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์และผู้ป่วย ซึ่งองค์กรวิชาชีพ สธ. หรือแพทย์สภาไม่ได้บังคับให้ต้องทำ และก็ไม่ได้มีบทลงโทษในกรณีที่แพทย์ทัศนคติต่อต้านการทำแท้ง

ในอดีต หากแพทย์เห็นด้วยที่จะช่วยเหลือผู้หญิงก็สามารถทำได้ แต่ถ้าแพทย์เห็นด้วยแต่บุคลากรคนอื่นๆ หรือผู้อำนวยการไม่เห็นด้วย แพทย์ท่านนั้นก็อาจทำไม่ได้ รวมไปถึงหากโรงพยาบาลนั้นเป็นโรงพยาบาลคุณธรรมก็จะมีการระบุเลยว่า ห้ามทำแท้ง

เครือข่าย RSA ก็ได้ต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนที่จะมีเครือข่ายเมื่อปี 2558 เพราะรู้ดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ลำบาก เส้นทางที่จะช่วยเหลือผู้หญิงที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมทุกกรณีเป็นเรื่องที่เราจะต้องเผชิญกับการต่อต้าน ไม่ได้รับการยอมรับ หมอที่ทำแท้งก็จะถูกมองว่าไม่ดี ทำเพราะเรื่องเงิน เป็นเรื่องบาป ทุกคนก็จะมองด้วยสายตาที่รังเกียจ แล้วก็ถูกขู่ว่าอาจจะถูกตำรวจจับสักวัน มันจะเป็นแบบนี้มาตลอด

ปัจจุบัน ประเทศไทยมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ในมาตรา 301 ที่ระบุว่า หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือให้ผู้อื่นทำแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมที่เป็นการกำหนดโทษทางอาญาแก่หญิงที่ทำให้ตนเองแท้งหรือให้ผู้อื่นทำแท้ง

ขณะที่มาตรา 305 ของ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวก็ได้ระบุไว้ว่า หากกระทำผิดตามมาตรา 301 หรือ มาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

  1. การตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายและจิตใจของหญิงตั้งครรภ์
  2. มีความเสี่ยงอย่างมาก หรือมีเหตุทางการแพทย์ที่เชื่อได้ว่าทารกที่คลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
  3. ยืนยันได้ว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับเพศ
  4. อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์
  5. กรณีมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ รมว.สธ. ประกาศกำหนดโดยแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งตรงข้อ 5 ที่กระทรวงสาธารณสุขก็กำลังรอรัฐมนตรีเซ็นร่างหลักเกณฑ์การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกการยุติการตั้งครรภ์ มีการทำร่างเรื่องนี้ไว้เรียบร้อยแล้วซึ่งเป็นร่างกฎกระทรวงสาธารณสุข เราก็ตามอยู่นพ.เรืองกิตติ์ อธิบาย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการปรับ พ.ร.บ. ที่ว่าด้วยเรื่องของการยุติการตั้งครรภ์ แต่แพทย์และโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ได้กระตือรือร้นดำเนินการอธิบายเกี่ยวกับกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภาที่ออกมาใหม่ให้กับบุคลากรรับทราบ

ไม่มีคำสั่ง ก็ไม่มีการขับเคลื่อน

นพ.เรืองกิตติ์ ระบุว่า หาก รมว.สธ. ลงนามในประกาศกรณียุติการตั้งครรภ์ 12-20 สัปดาห์ (ตามข้อ 5.) ก็เชื่อได้ว่าน่าจะเกิดกระบวนการ และมีการดำเนินการที่จะต้องทำตามกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภาอยู่แล้ว เช่น จะให้หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ หรือมีแผนการดำเนินการอย่างไร เหมือนกรณีโรคโควิด-19

แต่เมื่อยังไม่มีการขับเคลื่อน หมอส่วนใหญ่ที่ทำเหมือนเดิมก็ยังทำเหมือนเดิม องค์กรวิชาชีพเช่น ราชวิทยาลัยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ผู้บริหารเขาอาจจะมองต่างมุมกับเรา คือมองว่าการยุติการตั้งครรภ์ก็แล้วแต่ความสมัครใจ ถ้าจะยุติการตั้งครรภ์ในช่วงที่อายุครรภ์เยอะๆ ก็จะไม่ปลอดภัย

ขณะเดียวกัน หากดูตามข้อเท็จจริงจะเห็นว่ายังมีผู้หญิงที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ที่ยุติการตั้งครรภ์อยู่ ซึ่งคำถามที่ตามมาก็คือ เราจะปล่อยเขาทิ้งได้อย่างไร จะให้เขาไปทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยอย่างนั้นหรือ ?

สาเหตุที่เขาปล่อยตัวเองให้อายุครรภ์เกินเนื่องจากว่าเขาไม่รู้จะไปถามใคร อย่างโควิดหากมีอาการ เราก็โทรไปปรึกษากรมควบคุมโรค สายด่วนต่างๆ ก็จะได้รับการตอบสนอง แต่นี่เธอไม่รู้เลย เวลาไปปรึกษาที่โรงพยาบาลเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ทราบ ไม่รู้ก็ ต้องทำให้เกิดการปฏิเสธ ก็ทำให้เขาต้องไปดั้นด้นหาที่อื่นเองทำให้อายุครรภ์มากขึ้น

สำหรับในต่างประเทศจะมีสถานที่ที่ปรึกษาปัญหา ขณะเดียวกันสำหรับบริบทเรื่องของอายุครรภ์หากมีสถานบริการที่สามารถให้บริการประชาชนได้สะดวกทั่วประเทศนั้น อายุครรภ์จะไม่มีทางเกิน 12 สัปดาห์แน่นอน

นพ.เรืองกิตติ์ บอกว่า การเข้าถึงบริการในส่วนนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ยาก หากจะให้สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัยพูดอยู่หน่วยเดียวเรื่องต่างๆ จะดำเนินไปอย่างล่าช้า เพราะคนส่วนมากในกระทรวงไม่อยากพูดเรื่องยุติการตั้งครรภ์ ฉะนั้นผู้บริหารระดับที่สูงกว่าต้องช่วยผลักดันและสนับสนุนติดตามขับเคลื่อนไปด้วยเช่นกัน ไม่งั้นทำให้ทุกอย่างดูเหมือนจะเงียบสนิท

ขณะเดียวกันก็มีเครือข่ายของ RSA ที่มีอยู่ 108 แห่งแต่ครอบคลุมเพียง 42 จังหวัด ยังมีจำนวนไม่เพียงพอและเกือบทั้งหมดให้บริการยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากมีการขับเคลื่อนของ สธ. จะสามารถลดช่องว่างตรงนี้ทำให้ประชาชนอาจจะสามารถเข้าโรงพยาบาลชุมชนที่อาจจะรับคำสั่งให้ตั้งคลินิกดูแลหญิงท้องไม่พร้อม หากทำได้ก็สามารถใช้ยา หรืออุปกรณ์ดูดได้ หากไม่มีประสบการณ์ก็มีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงในจังหวัด หรือจังหวัดใกล้เคียง แต่ปัจจุบันไม่มีการส่งต่อ นั่นจึงทำให้เครือข่ายฯ ใช้คำว่าละเมิดสิทธิ์

มันก็มีช่องโหว่เพราะกฎหมายก็ไม่กล้าพูดตรงๆ ขนาดร่างกระทรวงที่รอรัฐมนตรีเซ็นยังไม่กล้าเขียนเพราะกลัวคนต่อต้าน เราเขียนร่างนี้เสร็จมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ผ่านมาร่วมปียังไม่กล้าลงนามอะไรเลย เพราะกลัวกระแส ตอนมีกฎหมายใหม่มาก็มีแพทย์มาคัดค้าน ว่าการบริการยังไม่มีความพร้อมควรจะพิจารณากฎหมายใหม่

ผู้บริหารกระทรวงเขาก็คงจะกลัวแรงต่อต้าน มีผลกระทบต่อชื่อเสียงเขา ถ้างั้นจึงเป็นเรื่องที่ผมมองว่ายังไม่มีการบังคับ ทางเราก็ไม่ได้อยากจะให้มีการบังคับแต่อยากจะให้มีการขับเคลื่อนมีการส่งต่อและก็ทำให้ผู้หญิงได้รู้ว่าเขาจะเข้าไปใช้บริการได้อย่างไรและที่ไหนให้เขาสบายใจแล้วก็จะต้องไม่มีการดูถูกหรือตีตรา บริการที่ไม่เป็นมิตร”

อยากให้ทุกอย่างดำเนินการตามกลไกปกติ

นพ.เรืองกิตติ์ ระบุว่า ยังมีหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ตามปกติไปฝากครรภ์อยู่ อย่างกรณีที่หญิงตั้งครรภ์มีอายุ 40 ปี กังวลว่าลูกจะพิการก็มีแนวทางปฏิบัติว่าจะต้องคัดกรองโรคด้วยการตรวจเลือดเพื่อดูลูกในครรภ์ว่าพิการหรือไม่ เมื่อผลเลือดออกมาแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะพิการ ก็จะมีการตรวจยืนยันด้วยการเจาะตรวจน้ำคร่ำเพื่อหาโครโมโซมที่ผิดปกติ

ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการพูดคุยหาทางเลือกว่าหากลูกไม่เสี่ยงที่จะพิการก็ตั้งครรภ์ต่อไป แต่ถ้าพบว่าลูกมีความเสี่ยงสูงที่พบได้จากโครโมโซม แพทย์ก็ต้องให้คำปรึกษาก่อนว่าหากลูกพิการ ก็ยุติการตั้งครรภ์หากไม่ต้องการที่จะตั้งครรภ์ต่อ

อันนี้เป็นแนวทางจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยที่ได้ทำแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มีความชัดเจนในเรื่องการปฏิบัติตามแนวทางราชวิทยาลัยสูติของโรงพยาบาลต่างๆ จึงพบว่าเกิดปรากฏการณ์ที่โรงพยาบาลปฏิเสธการให้ยุติการตั้งครรภ์กับผู้หญิงทั้งที่ได้รับการตรวจยืนยันจากโรงพยาบาลนั้นเองว่าลูกมีความพิการร้ายแรง

นั่นจึงทำให้ นพ.เรืองกิตต์ มองว่า ควรมีการปรับระบบบริการทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ให้ดีกว่าปัจจุบัน หากตรวจแล้วพบว่าพิการจริง ตามข้อบังคับแพทยสภาและกฎหมายก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่กลายเป็นว่านอกจากจะไม่ยุติการตั้งครรภ์ให้ก็ยังไม่มีการส่งต่อ แน่นอนว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้ก็ได้มีการยื่นถึงราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ และ สธ. ได้รับทราบถึงผลของความไม่ชัดเจนของกระทรวงฯ ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์ยังต้องดำเนินการไปตามยถากรรม

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย กระทั่งค่ารถก็ยังไม่มี งั้นเราเลยอยากจะให้ผู้บริหารระดับสูงช่วยเรามองดูว่าถ้าท่านรู้สึกหรือมองเห็นหรือไม่ว่ามันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ปัญหาท้องไม่พร้อมมันเป็นปัญหาที่เป็นความจริง ถ้าจะปล่อยให้ระบบบริการเราที่เหมือนจะไม่มีเหมือนส่งไปตามยถากรรมไม่มีมาตรฐานแบบนี้มีการควบคุมกำกับแบบนี้มันก็คงไม่ใช่

นพ.เรืองกิตต์ ระบุว่า จริงๆ อยากให้ทุกอย่างดำเนินการเป็นกลไกปกติ หากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เครือข่าย RSA ก็อาจจะยุบไป เพราะเครือข่ายฯ เป็นเหมือนอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยดำเนินการเท่านั้น

อีกส่วนหนึ่งคือ ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว สำหรับ สปสช. ก็มีการเคลมในเรื่องของการยุติการตั้งครรภ์สำหรับหน่วยบริการที่จะจ่ายให้รายละ 3,000 บาท แต่ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมจะยังรู้สึกว่ามีปัญหาอยู่ ซึ่งก็อาจจะยังไม่ได้พูดคุยกันเต็มที่

ท้ายที่สุด สาเหตุที่ผู้หญิงเลือกยุติการตั้งครรภ์ไม่ได้เป็นเพราะขาดความรับผิดชอบ แต่เพราะมีความรับผิดชอบต่ออนาคตของเด็กที่จะเกิดขึ้น รับผิดชอบที่จะประเมินศักยภาพของตนเองในการเลี้ยงดูบุตรให้มีคุณภาพ แต่ว่าในสถานการณ์และความจำเป็นบางอย่างอาจจะทำให้ผู้หญิงไม่สามารถที่จะมีลูกได้

ถ้าหากเราไปตีตราว่าเธอเป็นคนที่คิดแบบรวดเร็ว ตัดสินใจโดยการขาดเหตุผลว่าจะต้องทำแท้ง จริงๆ แล้วเธอคิดมานานมาก คิดแล้วคิดอีกว่าจะทำหรือไม่ เพราะเขาก็ไม่กล้าทำนอกจากเรามาคุยกับเขาแล้วเปิดใจซึ่งเราก็จะเข้าใจเรื่องของเหตุผลและความจำเป็น ทำให้เขาสบายใจ

ต้องเข้าใจเหตุผลของเธอก่อนว่าเธอมีความจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่ว่ามักง่ายที่จะทำแท้ง บางคนร้องห่มร้องไห้เพราะไม่กล้าทำแท้ง กลัวบาป แต่เขาก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรเลี้ยงลูก เขาก็คิดหนักว่าจะดูแลลูกได้อย่างไรเพราะว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดูแลเด็กสักคนให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ