ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกชี้ ยิ่งปล่อยให้การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยิ่งผลักผู้หญิงและหญิงสาวนับล้านคนทั่วโลกไปสู่การทำแท้งเถื่อน เรียกร้องนานาประเทศส่งเสริมบริการทำแท้งที่ปลอดภัย พร้อมให้ข้อมูลการวางแผนครอบครัวที่ถูกต้อง

ปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของผู้หญิงและเด็กสาวที่ทำแท้ง เข้ารับบริการที่ไม่มีมาตรฐานและคุณภาพมากพอที่จะรับรองความปลอดภัย หรือคิดเป็นจำนวน 25 ล้านคนต่อปี

การทำแท้งดังกล่าวส่งผลให้ผู้หญิงและเด็กสาวเหล่านี้เสียชีวิตมากกว่า 39,000 คนต่อปี  และกว่า 1 ล้านคนที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยอาการแทรกซ้อน โดยการเสียชีวิตกระจุกตัวในประเทศรายได้น้อย ประมาณ 60% ของผู้เสียชีวิตอยู่ในประเทศแถบแอฟริกา และ 30% อยู่ในเอเชีย

เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา องคฺการอนามัยโลก ร่วมกับสถาบันกัตต์มาเชอร์ (Guttmacher Institute) และผู้เชี่ยวชาญจากโครงการอนามัยเจริญพันธุ์ ภายใต้สหประชาชาติ (Human Reproduction Programme)

ได้เผยแพร่การศึกษาอัตราการท้องไม่พร้อมและการทำแท้งใน  150 ประเทศ ระหว่างปี 2558-2562  พบความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์

เช่น ประเทศในแถบทวีปลาตินอมริกา มีอัตราการเข้าถึงบริการตั้งแต่ 41-107 ต่อผู้หญิง 1,000 คน แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ขณะที่ประเทศในแถบแอฟริกา มีอัตราเข้าถึงบริการอยู่ที่ระหว่าว 49-145 ต่อผู้หญิง 1,000 คน

ความเหลื่อมล้ำมีปัจจัยหลายด้าน นอกเหนือจากปัจจัยด้านรายได้ ประเทศที่มีอัตราท้องไม่พร้อมสูงในแถบยุโรป กลับเป็นประเทศรายได้สูงกว่า ประเทศที่มีอัตราท้องไม่พร้อมต่ำสุด กลับเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สะท้อนว่าปัจจัยด้านการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์มีผลต่ออัตราการท้องไม่พร้อม

“ความเหลื่อมล้ำนี้ ส่งสัญญานให้ทุกประเทศต้องลงทุน เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ เพื่อที่ผู้หญิงและเด็กสาวจะมีอำนาจตัดสินใจว่าพวกเธอควรมีบุตรหรือไม่” โจนาธาร บีแรก (Jonathan Bearak) นักวิจัยแห่งสถาบันกัตต์มาเชอร์กล่าว

“อัตราส่วนของคนที่ท้องไม่พร้อมและหันไปทำแท้ง มีมากถึง  68% ในภาพรวม แม้แต่ในประเทศที่ห้ามการทำแท้งก็มีอัตรานี้สูง สะท้อนว่ามีผู้หญิงและหญิงสาวจำนวนมากต้องการบริการทำแท้ง เพื่อไม่ต้องเลี้ยงบุตรโดยไม่พร้อม”

เมื่อต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกออกแนวทางปฏิบัติใหม่สำหรับบริการด้านอนามัยเจิรญพันธุ์ รวมถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย

แนวปฏิบัติฉบับใหม่นี้บรรจุคำแนะนำมากกว่า 50 ข้อ ครอบคลุมตั้งแต่เวชปฏิบัติ แนวทางการให้บริการ ข้อเสนอแนะทางกฎหมายและนโยบายที่สนับสนุนการทำแท้งปลอดภัย รวมทั้งการจัดระบบบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง

นอกจากนี้ แนวปฏิบัติฉบับนี้ยังเสนอให้ยกเลิกนโยบายกีดกันผู้หญิงจากการเข้าถึงการทำแท้ง เช่น ยกเลิกการใช้คดีอาญาหับหญิงที่รับการทำแท้ง หรือกฎหมายที่บังคบให้สามีหรือคนในครอบครัวยินยอมให้ผู้หญิงทำแท้งก่อน จึงจะรับบริการได้

กฎหมายเหล่านี้ผลักให้ผู้หญิงต้องเข้ารับการทำแท้งเถื่อน และเมื่อเกิดอาการแทรกซ้อน ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที ทั้งยังบังคับให้ผู้หญิงจำนวนมากหยุดเรียนหรือทำงาน เพราะตั้งท้องโดยไม่พร้อม

“การเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการทำแท้ง เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ เราจึงอยากแนะนำให้ผู้เกี่ยวข้องจัดระบบสุขภาพ ที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการทำแท้งที่มีมาตรฐาน และบริการวางแผนครอบครัวที่มีคุณภาพ” เครก ลิสส์เนอร์ (Craig Lissner) รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพและการวิจัยทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ุ องค์การอนามัยโลกกล่าว

“บริการทำแท้งต้องอิงอยู่กับการตัดสินใจ และความต้องการของผู้หญิง ให้พวกเขาได้รับการดูแลอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ตีตรา ไม่ควรมีผู้หญิงคนใดต้องโดนคุกคาม หรือประนาม เช่น โดนแจ้งความหรือเข้าคุก เพียงเพราะเข้ารับบริการทำแท้ง” พญ.เบลา กานาทรา (Dr Bela Ganatra) หัวหน้าฝ่ายป้องกันการทำแท้งไม่ปลอดภัย องค์การอนามัยโลกกล่าว

มีหลักฐานบ่งชี้ว่า การคุมเข้มช่องทางเข้าถึงการทำแท้ง ไม่ช่วยลดจำนวนคนทำแท้ง แต่กลับกระตุ้นให้ผู้หญิงมองหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย

ในประเทศที่การทำแท้งยังผิดกฎหมาย พบว่ามีเพียง 1 ใน 4 ของผู้หญิงที่ทำแท้ง ได้รับบริการที่ปลอดภัย อัตราส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 9 ใน 10 ในประเทศที่การทำแท้งถูกกฎหมาย

“หากเราต้องการป้องกันผู้หญิงจากการท้องไม่พร้อม และการทำแท้งไม่ปลอดภัย เราต้องให้บริการอนามัยเจิญพันธุ์ที่ครอบคลุมและรอบด้าน เช่น การให้ข้อมูลด้านเพศศึกษาและการวางแผนครอบครัว บริการทำแท้งที่มีคุณภาพและถูกกฎหมาย” พญ.เบลากล่าว

ภายหลังที่องค์การอนามัยโลกออกแนวปฏิบัติบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ฉบับใหม่ จะเดินหน้าสนับสนุนให้นานาประเทศใช้แนวทางฉบับนี้ พร้อมสนับสนุนให้ขยายนโยบายและบริการที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์

อ่าวข่าวต้นฉบับที่:
https://www.who.int/news/item/09-03-2022-access-to-safe-abortion-critical-for-health-of-women-and-girls
https://www.who.int/news/item/24-03-2022-first-ever-country-level-estimates-of-unintended-pregnancy-and-abortion