ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “เฟมเทค” (FemTech) หรือ นวัตกรรม สินค้า และบริการที่ตอบโจทย์ผู้หญิง มีการเติบโตด้านความต้องการและการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในปี 2564 มีการลงทุนพัฒนาสินค้าและบริการในกลุ่มเฟมเทคมากถึง 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเพียง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 หรือเพิ่มจากประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท

เฟมเทค หมายรวมถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์ เช่น คลินิกเจริญพันธุ์ซึ่งให้คำปรึกษาด้านการตั้งครรภ์ แอพพลิเคชั่นมือถือให้คำแนะนำด้านประจำเดือน รวมไปถึงบริการให้คำปรึกษาทางไกลด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งบริษัทที่ให้บริการด้านนี้หลายเจ้าได้เติบโตจนกลายเป็นบริษัทระดับ “ยูนิคอร์น”

อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าในด้านนี้อาจหยุดชะงัก เมื่อศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาได้ออกคำพิพากษาใหม่ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ล้มล้างคำพิพากษาเดิมในคดี Roe v. Wade ที่อนุญาตให้การทำแท้งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2516 หรือตั้งแต่เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน

คำพิพากษาเดิม มาจากคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลสูงสุดโดยหญิงชาวเท็กซัส ใช้นามแฝงว่า เจน โร (Jane Roe ซึ่งชื่อของเธอถูกนำมาเป็นชื่อคดี Roe v. Wade) เธอคัดค้านกฎหมายห้ามทำแท้งของมลรัฐเท็กซัส โดยให้เหตุว่ามันขัดกับรัฐธรรมนูญ

ศาลสูงสุดพิพากษาให้เธอชนะคดี จนเป็นที่มาให้รัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถออกกฎหมายห้ามทำแท้งเฉพาะมลรัฐได้ คำพิพากษาใหม่ที่ล้มล้างคำพิพากษาเดิม ทำให้มลรัฐสามารถกลับมาออกกฎหมายทำแท้งได้อย่างเดิม

ผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (Havard Business School) ได้แก่ คริส เมิกสโควกี (Krys Mroczkowski) คอลลีน อัมเมอร์แมน (Colleen Ammerman) และ เรมแบรนด์ โคนิง (Rembrand Koning) ให้ความเห็นร่วมกัน ผ่านบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยว่า

การกลับคำพิพากษานี้จะส่งผลต่อสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ท้องเมื่อไม่พร้อม และเกิดผลเสียต่อการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมในกลุ่มเฟมเทค

ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นในบริการอนามัยเจริญพันธุ์ในหลายด้าน เช่น ในกลุ่มบริการทำเด็กหลอดแก้ว หรือไอวีเอฟ ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์นิยมมักคัดค้านเพราะเชื่อว่าผิดธรรมชาติ

มีบทวิเคราะห์ที่ชี้ว่า 18% ของการทำเด็กหลอดแก้วอาจได้รับผลกระทบ หากมลรัฐแก้กฎหมายให้การทำแท้งผิดกฎหมาย ซึ่งมักรวมถึงการห้ามทำลายตัวอ่อนของเด็กตั้งแต่ในระยะหลังปฏิสนธิ แต่การทำเด็กหลอดแก้วในหลายกรณี อาจเกิดความล้มเหลวจนต้องทำลายตัวอ่อน

เมื่อสิทธิการทำแท้งถูกลิดรอนโดยศาล นั่นย่อมหมายถึงสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์อื่นๆ อาจถูกลิดรอนไปด้วย

ในสหรัฐอเมริกา มีบริษัทที่พยายามขยายบริการด้านการทำเด็กหลอดแก้ว และอาจได้รับผลกระทบจากคำตัดสินศาลสูงสุดในระยะยาว เช่น บริษัทมาเวน (Maven) และ ไคนด์บอดี (Kindbody) ให้บริการทำเด็กหลอดแก้ว และประกันสุขภาพที่ครอบคลุมด้านบริการอนามัยเจริญพันธุ์

บริการอีกด้านที่น่าจะได้รับผลกระทบคือบริการด้านข้อมูลสุขภาพ ซึ่งอาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบผู้รับบริการทำแท้ง หรืออาจมีการออกกฎหมายบังคับผู้ให้บริการรายงานข้อมูลสุขภาพแก่เจ้าหน้าที่รัฐ หากการทำแท้งกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

บริษัทที่ให้บริการด้านข้อมูลสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ เน็กส์เจน เจน (NextGen Jane) และ เฟรมเฟอร์ทิลิตี้ (Frame Fertility) ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงเครื่องมือบันทึกข้อมูลประจำเดือน และนำไปใช้วินิจฉัยความเสี่ยงโรค

สำหรับผลกระทบในด้านอื่นๆ ยังรวมถึงความเสี่ยงด้านการลงทุนในเฟมเทค การกลับคำพิพากษาจะทำให้บริษัทเทคโนโลยีและนักลงทุนหลีกเลี่ยงพัฒนาสินค้าและบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ทั้งๆที่มีความต้องการสูงในตลาด

ข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ตลาดพิชบุ๊ค (Pitchbook) ระบุว่า การลงทุนในเฟมเทคเพิ่มขึ้น 3 เท่า ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนเชื่อในความจำเป็นของนวัตกรรมด้านเฟมเทค และเห็นช่องทางการเติบโตในเชิงเศรษฐกิจ

ผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ดเชื่อว่าการลงทุนในตลาดเฟมเทคจะลดลง เพราะนักลงทุนกังวลกับความเสี่ยงจากคำพิพากษาการทำแท้ง และยังทำให้ผู้เล่นรายใหม่ในตลาดน้อยลง จนไม่เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ คำพิพากษาอาจจำกัดการทำธุรกิจของผู้ประกอบการหญิง เพราะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์ มักขับเคลื่อนด้วยผู้ประกอบการหญิง ซึ่งเข้าใจความต้องการและปัญหาของผู้หญิงด้วยกัน

บทความของโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด ยกคำพูดของนักลงทุนในธุรกิจสุขภาพ แฮลเล เทคโค (Halle Tecco) ที่เคยกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์ว่า “การปิดกั้นจะกดทับความสร้างสรรค์ นี่คือความท้าทายที่มนุษย์ทุกคนและผู้นำต้องพูดคุยกัน ไม่ใช่เพียงแค่ผู้หญิงเท่านั้น”

อย่างไรก็ดี การลงทุนในด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของเพศชายอาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านการคุมกำเนิด ซึ่งมีบริษัทอย่าง คอนแทรไลน์ (Contraline) และ ยัวร์ชอยส์เทราปูติกส์ (YourChoice Therapeutic) ซึ่งกำลังพยายามพัฒนายาเม็ดคุมกำเนิดในเพศชาย

เป็นไปได้ที่นวัตกรรมในด้านอานามัยเจริญพันธุ์ในเพศหญิงอาจพัฒนาช้าลง ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้หญิง เศราฐกิจ และสังคมในภาพรวม

อ่านข่าวต้นฉบับที่: https://hbr.org/2022/08/how-abortion-bans-will-stifle-health-care-innovation