ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งชีวิตที่ถือกำเนิดมาเป็นทารก ไม่ว่าจะกี่วันหรือกี่สัปดาห์ เพียงแค่เกิดปฏิสนธิจิต ขณะนั้นก็นับว่าสิ่งมีชีวิตได้ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว ดังนั้นหากมนุษย์คนใดทำแท้ง จึงถือว่าบาป และผิดศีลปาณาติบาตไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ข้อความข้างต้นคือทัศนะของศาสนาพุทธที่มีต่อเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ทำแท้ง” ซึ่งดูมีความสมเหตุสมผล เพราะแน่นอนว่าการทำให้ชีวิตหนึ่งชีวิตจากไปย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี

แต่… ถ้าคนเป็นแม่ที่ตั้งครรภ์นั้นยัง ‘ไม่พร้อม’ เช่นนั้นแล้วการทำแท้งคือสิ่งที่ถูกที่ควรหรือไม่ ? 

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการถกเถียงในประเด็นนี้กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนที่การทำแท้งจะถูกกฎหมาย กระนั้นเรื่องการตัดสินว่า ‘ศีลธรรม’ หรือ ‘บริบทชีวิตจริง’ สิ่งใดสำคัญหรือถูกต้องกว่า ก็ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน 

ทาง 2 แพร่งดังกล่าวกลับมาให้สังคมไทยชวนคิดอีกครั้ง เพราะช่วงที่ผ่านมา “อิงอิง-วิชญาดา ชาติธีรรัตน์” มิสยูนิเวิร์ส นครปฐม ได้ปลุกกระแสขึ้นมาผ่านการบอกเล่าเรื่องราวการผ่านประสบการณ์ทำแท้งของตนเองบนเวทีประกวดนางงาม 

เหตุผลของการตัดสินใจทำแท้งในครั้งนั้นเธอบอกว่ามาจากความไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหาการเงิน วุฒิภาวะในขณะนั้น ทำให้เธอกังวลว่าอาจนำไปสู่การสร้างบาปและทำผิดศีลที่ส่งผลกระทบทางลบเป็นวงกว้างมากกว่าหากเด็กในท้องจะโตมาเป็นปัญหาของสังคม 

ทันทีที่คำพูดของเธอได้ออกอากาศและปรากฏสู่สังคม ต่างมีการวิพากษ์วิจารณ์กันจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

คนที่เห็นด้วยส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ นักวิชาการ  แพทย์ และกลุ่มคนทำงานที่คลุกคลีและรับฟังปัญหาคนท้องไม่พร้อม 

ในส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย ก็ต่างมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่าขัดต่อจารีตหลักศาสนา รวมถึงมีบางส่วนไปถล่มต่อว่าเธอต่างๆ นานา เช่น หน้าด้าน , มึx พูดอะไร มันฆ่าคนนะ”, “ตอนสนุกทำไมพร้อม พอมีชีวิตนึงขึ้นมาทำไมไม่พร้อม

ทว่า ถึงเสียงสะท้อนดังกล่าวที่ออกมาจะต่างกันคนละขั้ว แต่อิงอิงบอกกับ “The Coverage” ว่าหลังจากที่ได้เห็นความเห็นเหล่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เธอรู้สึกดีใจ เพราะสังคมได้เกิดการถกเถียงโดยมีจุดประสงค์ร่วมกัน คือ ‘การหาทางออกและหนทางแก้ไขปัญหานี้ที่ดีและยั่งยืนที่สุด’ 

อีกนัยหนึ่งหมายความว่า คนที่มีเพศสัมพันธ์เริ่มตระหนักรู้ในการสำรวจร่างกายตัวเอง และคนใกล้ตัว รวมถึงเกิดการพูดคุยถึงวิธีการป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น

มันเป็นเรื่องที่บาปก็จริง แต่มันจะดีกว่าไหมถ้าประชาชนลองตัดเรื่องศาสนาน้อยลง และมองในโลกถึงความเป็นจริงหรือชีวิตมนุษย์จริงๆ กันมากขึ้น เพราะมันอาจจะได้ป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมาได้อย่างแท้จริงอิงอิง กล่าว

ด้วยความที่ไม่อยากให้ผู้หญิงที่เคยทำแท้งโดนตราหน้าให้เป็นภาพลักษณ์แย่ๆ ในสังคม เธอจึงเลือกสื่อสารเรื่องนี้ผ่านเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ในปีนี้ 

รวมถึงสานต่อโครงการ Power of Victim ท้องไม่ผิด เพราะเราก็สูญเสีย เพื่อมอบแสงสว่างให้แก่คนที่กำลังเผชิญปัญหาแบบที่เธอเคยเจอ 

“จุดประสงค์ของโครงการ คือการช่วยเหลือคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือเพศอื่นๆ และ สนับสนุนการทำแท้งถูกกฎหมาย การช่วยเหลือเหยื่อที่ตกเป็นจำเลยสังคม โดยหัวใจหลักของโครงการเป็นการบอกต่อและส่งต่อข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุมกำเนิดที่ถูกวิธี และการทำแท้งในสถานพยาบาลที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายและมีนักจิตวิทยาช่วยเหลือ” มิสยูนิเวิร์ส นครปฐม อธิบาย

เธอบอกอีกว่าหวังแค่เพียงให้การทำแท้งเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีที่สุดของผู้หญิงที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ให้คนที่กำลังเผชิญปัญหาไม่ได้สู้เพียงลำพัง แต่ยังมีแพทย์ที่พร้อมให้การดูแลรักษา นักจิตวิทยาที่พร้อมจะเยียวยาสภาพจิตใจ และอีกหลายคนที่จะมาร่วมโครงการอยากจะมาร่วมช่วยเหลือ 

“อิงอยากบอกคนในสังคมเห็นว่า บางครั้งมันอาจดูผิดศีลธรรม แต่มันอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของคนนั้นก็ได้ แต่การยุติตั้งครรภ์ต้องปลอดภัย มีผู้เชี่ยวชาญ และนักวางแผนครอบครัวดูแลด้วย” อิงอิง เผย

เพราะท้องไม่พร้อม เป็นปัญหาที่ซับซ้อน

ด้าน เครือข่ายท้องไม่พร้อม ที่ทำหน้าที่ฟังและให้คำปรึกษาในเรื่องของการยุติการตั้งครรภ์ ให้ข้อมูลกับ “The Coverage” ว่าตั้งแต่ มี.ค. 2565 – ก.ค. 2566 มีประชาชนส่งข้อความมาขอคำปรึกษาราว 600 คน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการขอปรึกษาเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการท้อง ท้องไม่พร้อมและต้องการยุติการตั้งครรภ์ ประมาณ 460 ราย หรือคิดเป็น 77% โดยประมาณ 

สำหรับสาเหตุของการท้องไม่พร้อมโดยส่วนใหญ่ที่พบ คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาความสัมพันธ์ และปัญหาความผิดพลาด เช่น คุมกำเนิดผิดพลาด กินยาคุมไม่สม่ำเสมอ หรือ การใช้วิธีการคุมกำเนิดฉุกเฉินแทนการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น รวมไปทั้งการถูกละเมิดทางเพศ 

นอกจากนี้ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มอายุที่ท้องไม่พร้อมจะเป็นกลุ่มวัยทำงานมากกว่ากลุ่มวัยรุ่น ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงของ ‘กลุ่มทำทาง’ ที่มีบทบาทในเรื่องสายด่วนปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 ฉะนั้น ประเด็นท้องไม่พร้อมจึงไม่ใช่ปัญหาวัยรุ่นแต่เป็นปัญหาที่ซับซ้อนกว่านั้นและเกิดได้กับทุกกลุ่มอายุ  

ตัวเลขผู้ยุติการตั้งครรภ์เยอะก็จริง แต่ก็ยังมีโรงพยาบาล และหน่วยบริการต่างๆ ที่เพียงพอต่อการรองรับการบริการได้ โดยภาพรวมในระดับประเทศ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลในสถาบันมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีสถานบริการสุขภาพทั้งรัฐและเอกชน 110 แห่ง ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศไทย และในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลรัฐมากที่สุด คือ 68 แห่ง รองลงมา คือ คลินิกเอกชน 32 แห่ง, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 6 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 4 แห่ง (ข้อมูลช่วง ก.ย. 2565) 

ส่วนหน่วยบริการภาครัฐ และโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) มี 146 แห่ง ในจำนวนนี้มีโรงพยาบาลรัฐ 7 แห่งที่ให้บริการภายใต้บางเงื่อนไข เช่น กรณีข่มขืน 

“ภายหลังการเข้าพบหารือซึ่งก็มีความพยายามที่จะพัฒนาให้มีการประสานงานส่งต่อได้ เพราะยังติดเงื่อนไขไม่มีบริการ” ตัวแทนเครือข่ายท้องไม่พร้อม ระบุ

ตัวแทนเครือข่ายท้องไม่พร้อม บอกอีกว่าการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นั้นปัจจุบันไม่มีการบังคับทุกหน่วยบริการให้ต้องจัดบริการยุติการตั้งครรภ์ แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่ร่วมเป็นหน่วยบริการคู่สัญญากับทาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผู้มาใช้บริการก็สามารถเบิกจ่ายได้ แต่บางโรงพยาบาลก็อาจจะไม่ให้บริการดังกล่าว ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดตนเอง

ดังนั้น แม้ปัจจุบันจะมีการขยายเงื่อนไขทางกฎหมายอาญาว่าให้สิทธิทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งหากละเมิดสิทธิการทำแท้งจะถือว่าเป็นการกระทำที่มีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้คนที่ต้องการทำแท้งถูกกฎหมายเข้าไม่ถึงบริการ

“การทำแท้งคือ บริการสุขภาพพื้นฐาน การตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ในสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแลกกับความขัดแย้งที่ขัดกับบรรทัดฐานทางสังคมที่ตีตรา ซึ่งนำไปสู่การปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพและการพัฒนาระบบบริการ” ตัวแทนเครือข่ายท้องไม่พร้อม ระบุ

ถูกกฎหมาย แต่คนยังไปคลินิกเถื่อน

ขณะที่ นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช (เวชศาสตร์การเจริญพันธ์ ) ซึ่งคอยรับฟัง-ให้คำปรึกษาในกลุ่มคนทั่วไปและคนท้องไม่พร้อม บอกกับ “The Coverage” ว่าถึงตอนนี้ประเทศไทยจะให้การทำแท้งเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างถูกกฎหมายและมียายุติที่ปลอดภัยก็ตาม แต่ก็สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ผู้ป่วยส่วนหนึ่งเลือกที่จะเข้าคลินิกทำแท้งเถื่อนก่อน เนื่องจากความไม่รู้ว่ามีสถานที่ใดบ้างที่จะสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ 

“ในเรื่องของค่าใช้จ่าย บางคนก็เลือกที่จะใช้วิธีอื่นที่คิดว่าราคาถูกกว่า อีกทั้งหน่วยบริการที่รองรับบริการเหล่านี้ไม่ได้มีทุกจังหวัด ดังนั้นการเดินทางที่จะไปอีกที่นึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ พวกเขาเหล่านั้นก็อาจจะเลือกที่ใกล้ๆ บ้านสะดวก และในจังหวัดตัวเองก่อน” นพ.โอฬาริก กล่าวเสริม

หากพินิจตามหลักศาสนาหรือศีลธรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่แพทย์ทุกคนที่จะให้บริการยุติตั้งครรภ์ เพราะอาจมีเหตุผลส่วนตัว หรือเหตุผลตามความเชื่อทางศาสนา แต่ไม่ใช่กับ นพ.โอฬาริก ที่บอกว่าเขามองข้ามเรื่องของความเชื่อ แต่มองถึงผลกระทบกับผู้หญิงที่หากไปทำแท้งเถื่อน แล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิตได้มากกว่า

“ถ้าถามกลับกันว่าในเมื่อการทำแท้งในประเทศไทยนั้นถูกกฎหมายและมีการรองรับการยุติการตั้งครรภ์แบบปลอดภัยแล้ว จะส่งผลให้สังคมเกิดการมีเซ็กส์แบบประมาทเลินเล่อได้โดยง่ายไหม คำตอบคือ เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปัญหาความเสี่ยงที่ตามมามันไม่คุ้มเสีย และคงไม่มีใครที่อยากเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงกับเรื่องแบบนี้” นพ.โอฬาริก

มาถึงตรงนี้สิ่งหนึ่งที่สำคัญในประเด็นนี้ไม่ใช่ว่าหลักศาสนาหรือความเป็นจริงอะไรถูกต้องกว่ากัน แต่คือการฉายให้เห็นภาพว่าจะดีกว่าไหม ถ้าคนในสังคมยอมเปิดรับสภาพความจริงของปัญหาที่อาจจะส่งผลตามมาต่อสังคม โอบรับคนที่เลือกทางนั้น มีกลไกที่คอยเกื้อหนุนในด้านที่จำเป็น แทนการยึดมั่นในศีลธรรมแบบแข็งตัว และเบียดขับให้คนทำแท้งกลายเป็นคนบาป โดยไม่ให้ความช่วยเหลืออะไรเลย