ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่น เผยอัตราการคลอดในวัยรุ่นแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกเขตสุขภาพ เท่ากับ 19.6 ต่อพันประชากร พิจารณาปรับค่าเป้าหมายอัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี ไม่เกิน 15 ต่อพันประชากร ภายในปี 2570 พร้อมเดินหน้าพัฒนาแนวทางและฐานข้อมูลแม่วัยรุ่นให้เข้าถึงการช่วยเหลือ 


ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 เปิดเผยว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มีการตรากฎหมายลูกครบถ้วนแล้ว ขอให้คณะกรรมการฯ ช่วยกันกำกับติดตามความก้าวหน้าของการบังคับใช้กฎกระทรวง เพื่อให้วัยรุ่นได้รับสิทธิตามกฎหมาย และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน จนสามารถทำให้อัตราคลอดในวัยรุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ไม่เกิน 25 ต่อพันประชากรก่อนเวลาที่กำหนด 

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลสถิติสาธารณสุข ปี 2533 - 2563 อัตราคลอดมีชีพในวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี เปรียบเทียบปี พ.ศ. 2563 กับปี 2564 พบว่า ในปี 2564 อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี มีแนวโน้มต่ำกว่า 25 ต่อพันประชากรและมีแนวโน้มลดลงในทุกเขตสุขภาพ ในภาพรวมลดลงเท่ากับ 19.6 ต่อพันประชากร ส่วนอัตราคลอดมีชีพเท่ากับ 23.1 ต่อพันประชากร 

นอกจากนี้ ในวันนี้คณะกรรมการฯ จะได้พิจารณาปรับค่าเป้าหมายของยุทธศาสตร์ฯ ในระยะครึ่งหลัง (พ.ศ. 2566-2570) ให้เหมาะสมสอดคล้องกับการดำเนินงานและสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ปรับค่าเป้าหมายอัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี จากเดิม ไม่เกิน 25 ต่อพันประชากร ภายในปี 2569 เป็น ไม่เกิน 15 ต่อพันประชากร ภายในปี 2570 และให้คงค่าเป้าหมาย อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10 - 14 ปี ไว้ที่ ไม่เกิน 0.5 ต่อพันประชากร ภายในปี 2570

ทั้งนี้ ยังได้เห็นชอบให้มีคณะทำงานบูรณาการฐานข้อมูล กำหนดแนวทางการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพพร้อมจัดทำรายละเอียดชุดข้อมูลแม่วัยรุ่น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนกลไกช่วยเหลือแม่วัยรุ่น