ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ท้องไม่พร้อม” เป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น-วัยเจริญพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐก็มีนโยบายหลากหลายในการคลี่คลายหรือลดระดับความรุนแรงของปัญหาลง ล่าสุดคือการ “คิกออฟ” แจกยาคุมชนิดรับประทานให้หญิงไทยทุกคนทุกสิทธิที่มีอายุระหว่าง 15-59 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. เป็นต้นมา

มากไปกว่านั้น ในระยะเวลาอันใกล้นี้ คือภายในเดือน เม.ย. 2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมแจก “ถุงยางอนามัย” 4 ขนาดให้แก่คนไทยทุกสิทธิที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปด้วย

“The Coverage” จับเข่าคุยกับ ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แบบถึงพริกถึงขิง เกี่ยวกับนโยบายและทิศทางที่ควรจะเป็นหลังจากนี้

นโยบายดี แต่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

จากประเด็นนโยบายสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ สปสช. จัดช่องทางให้คนไทยทุกคนทุกสิทธิเข้าถึงยาเม็ดคุมกำเนิด-ถุงยางอนามัยได้นั้น ผศ.นพ.ธนพันธ์ มองว่า การมีอุปกรณ์-เครื่องมือในการคุมกำเนิดให้คนเข้าถึงได้เป็นเรื่องที่ดีเพราะสามารถลดปริมาณการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้

ผมมีสองความเห็นคือทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สิ่งที่เห็นด้วยคือการมีเครื่องมือในการคุมกำเนิดที่ดีให้เข้าถึงได้เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนในวัยไหน วัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์ วัยทำงาน หรือกระทั่งวัยแม่บ้านก็ตาม

แต่การมีแคมเปญแจกให้กับทุกคนที่เข้าข้อกำหนดตามที่ระบุนั้น ส่วนตัวรู้สึกว่ายังเป็นการจัดการที่ค่อนข้างตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ผมกำลังหมายความว่าใช้เงินเยอะเกินไปหรือเปล่าในการจัดการสิ่งเหล่านี้ เพราะของพวกนี้เอาเข้าจริงๆ มันง่ายมาก เรามียาคุมวางขายตามท้องตลาด ราคาตั้งแต่ 20 บาทยัน 500 บาท เรามียาคุมที่สามารถซื้อได้ถูกมากในทุกที่รวมถึงในโรงพยาบาล

อีกทั้งการจัดให้มีการใช้ยาคุมในคนบางกลุ่มนั้นอาจจะมีความเสี่ยง เช่น หญิงที่มีอายุมากกว่า 45 ปี นั้น ต้องระวังเรื่องผลแทรกซ้อนจากการรับฮอร์โมน เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน ยิ่งอายุมาก ยิ่งเสี่ยงมาก ดังนั้น ถ้าขยายจนถึง 59 ปีนี่ ผมว่ามันมากไปจริงๆ

อย่างไรก็ดี สปสช. เองก็มีการให้บริการการคุมกำเนิดอยู่แล้ว เช่น การฝังยาคุมกำเนิดฟรีในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปีในสถานบริการภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการ แต่ขณะนี้กำลังขยายเป็นแจกถุงยาง-ยาคุมกำเนิดที่ไม่ได้ขาดแคลน และเป็นของที่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ตามร้านขายยา-ร้านสะดวกซื้อ

ผศ.นพ.ธนพันธ์ มองว่า สิ่งที่กำลังขาดแคลนจริงๆ ในขณะนี้คือของที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้ปราศจากโควิด 19 ต่างหาก ซึ่งนั่นยังเป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก

รวมไปถึงในตอนนี้ สปสช. เองก็มีหน้างานที่มีความจำเป็นต้องทำ เช่น การจัดการ-การรักษาโควิด รวมไปถึงการจัดการตรวจคัดกรองโควิด 19 การจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หรือแม้กระทั่งการแจกหน้ากากอนามัย ผมว่ามันจำเป็นกว่าแจกถุงยาง แจกยาคุมเสียอีก

 ฉะนั้นส่วนตัวมองว่าการแจกยาคุมกำเนิด-ถุงยางอนามัยยังเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

แต่ผมอาจจะผิดก็ได้ เพราะเอาเข้าจริงๆ ผมเองต่างหากที่สามารถหามันได้ง่าย ผมสามารถเดินไปร้านขายยา ซื้อของ ซื้อถุงยางได้ ผมซื้อถุงยางผ่านทางออนไลน์ได้ ในขณะที่คนอื่นอาจจะไม่ใช่ก็ได้ อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว

How-to ใช้ ยาคุม แบบถูกวิธีที่สุด

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเข้าถึงยาคุม แต่อยู่ที่การตัดสินใจว่าจะคุมอย่างไรให้ถูกวิธี ผศ.นพ.ธนพันธ์ มองว่า ส่วนนี้ถือเป็นทักษะชีวิต (life skill) ของคนรุ่นใหม่หรือคนในรุ่นปัจจุบัน ฉะนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่หาไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่าจะคุมเมื่อไหร่-ใช้อย่างไร และใช้แบบไหน

ผศ.นพ.ธนพันธ์ อธิบายว่า ยาเม็ดคุมกำเนิดจะมี 2 ประเภท คือชนิด 21 เม็ด และ 28 เม็ด ซึ่งเป็นยาคุมทั่วไปที่เรียกว่า “ฮอร์โมนรวม” หมายความว่าในหนึ่งเม็ดจะมีฮอร์โมนเท่ากันทั้งหมด และต้องเริ่มกินภายใน 5-7 วันแรก แต่จะให้ดีที่สุดคือกินในช่วง 5 วันแรก หมายความว่าหากประจำเดือนมาวันนี้ ให้นับไปอีก 5 วัน คือภายใน 5 วันนี้จะเริ่มกินวันไหนก็กินได้เลย

สำหรับยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด โดยปกติ 7 เม็ดหลังจะเป็นเม็ดแป้งหรือวิตามิน นั่นคือมียาฮอร์โมน 21 เม็ดเท่ากัน เพื่อให้คนที่ไม่อยากกินแบบแผงชนแผง ฉะนั้นเมื่อกินไปแล้วประจำเดือนจะมาในช่วง 7 เม็ดหลัง ส่วนคนที่กินชนิด 21 เม็ดนั้นประจำเดือนจะมาในช่วงที่ไม่ได้กิน

ขณะเดียวกันก็จะมียาคุมกำเนิดที่มีลูกเล่นเพิ่มเติม เป็นยาคุมชนิด 24 เม็ด และมีเม็ดหลอก 4 เม็ดรวมเป็น 28 เม็ด ซึ่งจะใช้ลักษณะเดียวกันกับชนิด 28 เม็ด นั่นคือกินแผงชนแผงไม่ต้องเว้นช่วง

นี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ว่ายาเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพดีถ้ากินตามคำแนะนำ ถ้าลืมกินรีบเปิดอินเทอร์เน็ต กูเกิลหาดูได้เลย เราก็จะรู้ว่าถ้าลืมกินเม็ดแรก หากนึกได้ต้องกินทันทีแล้วก็ตามด้วยเม็ดปกติของวันนั้น เช่น เมื่อวานลืมกินก็ให้รีบกินก่อน 1 เม็ดตอนนี้ แล้วก็กิน 1 เม็ดของวันนี้ตามปกติ หรือถ้าเกิดลืมกินมา 2 วัน ก็ให้กิน 1 เม็ดกิน และกินตอนเย็นอีก 1 เม็ด และให้กินเพิ่มอีก 1 เม็ดของวันนั้น และอีก 1 เม็ดตามเวลาปกติ ซึ่งมันก็จะครบพอดี แต่ถ้าลืม 3 เม็ด ให้ทิ้งไปเลย ไม่ต้องกินแล้ว ให้ใช้ถุงยางไปก่อน

ผศ.นพ.ธนพันธ์ ขยายความว่า เมื่อได้ยาคุมกำเนิดไปแล้วควรพลิกดูหลังแผง เพราะยาคุมกำเนิดจะมีฮอร์โมนอยู่ 2 ชนิดเท่านั้น คือ Ethinyl Estradiol (EE) ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่ทุกยี่ห้อจะต้องมี โดยจะมีจำนวนมิลลิกรัมระบุเอาไว้ เช่น 0.030 0.035 0.020 0.015  เป็นต้น และตัวต่อมาจะเป็น Progestin หรือ Progesterone ซึ่งราคายาคุมในแต่ละยี่ห้อที่แตกต่างกันก็จะขึ้นอยู่กับส่วนนี้

ขณะเดียวกันในส่วนของยาฉีด ก็จะมีอยู่ 2 แบบ นั่นคือฉีดแบบ 3 เดือนครั้ง หรือฉีดแบบเดือนละ 1 ครั้ง โดยยาคุมชนิดที่ฉีด 3 เดือนครั้ง จะเป็นยาคุมที่มีชื่อว่า Depot Medroxyprogesterone Acetate (DMPA) ที่มีฮอร์โมน Progestin อย่างเดียว ซึ่งราคาถูกมากประมาณ 20-30 บาทเท่านั้น แต่ถ้าฉีดที่คลินิกก็อาจจะอยู่ที่ 100-200 บาท

ทว่าสิ่งที่ควรต้องรู้เมื่อฉีดยาคุมชนิด 3 เดือนคือ เมื่อฉีดแล้วประจำเดือนจะไม่มา หรือมากะปริดกะปรอย หรืออวบขึ้น ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นทุกคน ขณะเดียวกันยาคุมชนิดฉีดเดือนละ 1 ครั้ง จะเป็นยาคุมที่เลียนแบบยากิน ซึ่งใน 1 หลอดจะมีทั้งยา Estrogen และ Progesterone ฉะนั้นคนที่ไม่ต้องการจะอวบขึ้น หรือประจำเดือนมากะปริดกะปรอยก็ต้องฉีดยาคุมชนิดนี้เดือนละ 1 ครั้ง

ผศ.นพ.ธนพันธ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า หากเป็นวัยรุ่นที่ขี้ลืมก็อาจจะฝังยาคุม 3 ปี 5 ปีก็ได้ ยิ่งถ้าอายุน้อยว่า 20 ปี ก็สามารถเดินเข้าไปรับได้ที่สถานบริการภาครัฐ ซึ่งเดี๋ยวนี้หลายๆ โรงพยาบาลก็มีโครงการของ สปสช. ที่สามารถฝังยาคุมได้ฟรีก่อนอายุ 20 อยู่แล้ว

แจกที่โรงเรียน-โรงหนัง ดีกว่า สถานพยาบาล

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือการทาน-ฉีด-ฝัง-ใส่ห่วงคุมกำเนิดช่วยป้องกันได้เฉพาะการตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการป้องกันโรคติดต่อมีสิ่งเดียวที่ทำได้ นั่นก็คือ “ถุงยางอนามัย”

ผศ.นพ.ธนพันธ์ อธิบายว่า ถุงยางอนามัยจะมีขนาดให้เลือกตามความเหมาะสม ตั้งแต่ขนาด 49 52 52.5 เป็นต้น นั่นเป็นสาระสำคัญที่ผู้ใช้จะต้องรู้ขนาดที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยการวัดขนาดจะต้องวัดในช่วงที่องคชาตแข็งตัว มันคือการวัดเส้นรอบวงองคชาติ หลังจากนั้นก็นำเส้นรอบวงที่วัดได้มาหารด้วย 2 ก็จะได้เป็นขนาดออกมา ไม่เช่นนั้นหากใส่หลวมไปก็จะหลุด และถ้าใส่คับเกินไปก็ถุงยางก็อาจจะแตกได้

มากไปกว่านั้น การสวมใส่ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรจะต้องรู้ นั่นก็คือสวมถุงยางอนามัยในขณะที่องคชาตกำลังแข็งตัว บีบบริเวณปลายถุงและรูดลงมาให้มีลักษณะเป็นสุญญากาศ ขณะเดียวกันเมื่อจะถอดก็จะต้องถอดในขณะที่องคชาตยังแข็งตัวอยู่โดยไม่ไปจับที่บริเวณด้านนอกของถุงยางเพราะมีสารคัดหลั่งจากช่องคลอดผู้หญิง หรือถอดออกด้วยกระดาษชำระ 

ขณะเดียวกัน ถุงยางปกติความหนาจะอยู่ 0.05 มิลลิเมตร แต่ในปัจจุบันก็มีประเภท 0.01 0.03 ซึ่งก็ต้องดูว่าในแต่ละยี่ห้อมีอะไรเป็นส่วนประกอบพิเศษบ้าง เช่น มีกลิ่น-รสชาติ-พื้นผิว ฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก็คือ 0.05 คือขนาดมาตรฐาน หากใช้ 0.03 จะมีความรู้สึกกระชับ-แนบ แต่เวลาถอดก็จะรู้สึกว่ามีความเหนียวและแข็งกว่ามากกว่า 0.05

“ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่เขาควรจะต้องรู้ว่า 0.01 0.03 0.05 แตกต่างกันอย่างไร”

ผศ.นพ.ธนพันธ์ เล่าว่า การแจกถุงยางอนามัยก็มีความพยายามที่จะแจกกันมาแล้ว โดยมีการนำไปใส่ตู้หยอดเหรียญตามสนามกีฬา โรงเรียน ฯลฯ แต่ก็ต้องพบกับบรรดาครูรุ่นเก่าๆ หรือเจอกับผู้ที่มีศีลธรรมสูงส่งบอกว่ามีไม่ได้ วางไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเด็กจะมีเซ็กส์

ตอนนี้เรารู้แล้วว่าการจัดการเรื่องของการคุมกำเนิด มีเทคโนโลยีให้ เด็กไม่ได้มีเซ็กส์มากขึ้น เพราะมันมีของมันอยู่แล้ว ผมคิดว่าการมีถุงยางไว้ในทุกที่ดีกว่าการไปตั้งไว้ในสถานบริการ ถ้า สปสช. จะทำ ก็ทำในโรงเรียน ห้องน้ำโรงหนัง สนามกีฬา ฯลฯ จะดีกว่าทำในสถานพยาบาล

fair enough แต่ต้องรับผิดชอบต่อ คู่นอน

การตั้งตู้ถุงยางอนามัยไว้ที่โรงเรียน รวมไปถึงการนำครูมาสอน-พูดคุยเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย-ยาคุมกำเนิดนั้นมีความจำเป็น เพราะเด็กวัยรุ่นควรจะต้องทราบว่า เมื่อทานยาคุมจะต้องใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยเสมอ เพราะยาคุมกำเนิดป้องกันได้แต่ “โรคท้องไม่พร้อม” ในขณะที่ถุงยางอนามัยป้องกัน “การติดโรคทางเพศสัมพันธ์” ได้

เขามีโอกาสเปลี่ยนแฟนได้ fair enough ฉันมีโอกาสที่จะมีคู่นอนหลายคนได้ แต่ฉันจะต้องไม่เอาคู่นอนคนนี้ไปติดโรคให้คู่นอนคนนี้ ผมว่าทักษะแบบนี้สนุกออก ทำไมเขาไม่สอนกัน

ผศ.นพ.ธนพันธ์ เล่าว่า หากเข้าไปดูหนังผู้ใหญ่ในปัจจุบัน ร้อยทั้งร้อยไม่สวมถุงยางอนามัย และถูกทำให้เสร็จภายนอกทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นเด็กก็เข้าใจว่าการเสร็จจากภายนอกเป็นการคุมกำเนิดที่ดี ซึ่งหลายคนที่ท้องมานั้นเกิดจากไม่สามารถเอาออกมาเสร็จภายนอกทัน เพราะบางครั้งอสุจิจะออกมาก่อนที่จะถึงจุดสุดยอด

การเรียนรู้จากหนัง AV พวกนี้ สอนเรื่องพวกนี้ยังไม่ถึงใจและผิด ฉะนั้นเด็กจะคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันการตั้งท้องได้ แล้วเวลาเด็กมีเซ็กส์กันก็ลืมเรื่องของการติดโรค

ผศ.นพ.ธนพันธ์ อธิบายว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคหากติดแล้วจะติดตลอดชีวิต เช่น เอดส์ การติดเชื้อ HPV การติดเชื้อเริม เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ซ้ำซากตลอดชีวิต และเอาออกไม่ได้ ฉะนั้นการใช้ถุงยางอนามัยจึงมีความจำเป็นในการลดสิ่งเหล่านี้

Health Literacy เป็นสิ่งที่ขาดในสมการการศึกษา

ผศ.นพ.ธนพันธ์ มองว่า ความรอบรู้ทางสุขภาพ (health literacy) ยังเป็นสิ่งที่คนไทยขาด และยังตัดสินใจผ่านการใช้ความเชื่อ-ความรู้สึก ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของภาครัฐที่จะต้องสอน เพราะในตอนนี้เรายังสอนให้เด็กเรียนเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เช่น การเรียนลูกเสือก็ต้องมีการสอนวิธีหนีไฟ-ดับไฟ-ดูทางออกฉุกเฉินเวลาอยู่ในห้องประชุมหรือโรงแรม ยังดีเสียกว่ามานั่งเมาคลีล่าสัตว์

ตอนนี้ผมว่ามันงี่เง่า เรื่องพื้นฐานอย่างทักษะการมีเซ็กส์อย่างมีความสุข การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัยทำไมไม่สอน ให้เด็กดูในทวิตเตอร์เอาเอง เพราะรัฐไม่เปิดให้ดู Youporn ก็ปิด ของดีๆ มีให้ดูก็ไม่ยอมให้ดู sex toy จะให้ซื้อก็ถูกทำให้ผิดกฎหมาย มองเป็นเรื่องลามก

ผศ.นพ.ธนพันธ์ เล่าว่า จริงๆ แล้วภาครัฐทำเรื่องดีๆ หลายเรื่อง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การทำแท้งซึ่งเป็นงานที่ทำอยู่ตอนนี้ ภาครัฐสามารถมียาให้ใช้ได้ฟรี คนรู้หรือไม่ว่าสามารถใช้ยาของหลวงในการทำแท้งได้โดยไม่เสียเงินสักบาท

ตรงนี้ประชาชนก็ไม่ทราบ จะมีคนบางกลุ่มที่จะรู้ สามารถหาข้อมูลได้ชัด ค้นหาขึ้นว่า 1663 (สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม) คนไม่เข้าถึงตรงนี้ มันจึงเกิดการบาดเจ็บ เกิดการล้มตายจากการทำแท้งได้อยู่ เราไม่ได้เห็นการล้มตายมานานมากแล้วเพราะว่าเรามีการให้บริการแบบนี้ ปัญหาคือการเข้าไม่ถึงบริการ

ผมว่าอันนี้เป็นโปรเจ็กต์ที่ดี ไม่ได้เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเลยสำหรับความคิดของผม เพราะเรื่องของการทำแท้งยังเป็นการหาบริการที่ยังยากอยู่ การจัดสิ่งเหล่านี้ให้เข้าถึงได้เป็นเรื่องที่ดี ส่วนยาคุมกับถุงยางนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะหาง่ายใครจะซื้อก็ได้

ผศ.นพ.ธนพันธ์ อธิบายว่า การเรียนการสอนนั้น ควรเสริมการจัดการเรื่องความไม่รู้ของคน เสริมสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพในการเรียนให้เยอะ หยุดสักทีที่จะสอนฟิสิกส์ในเด็กมัธยมต้น สอนเรื่องไฟลัมของสัตว์ในเด็กประถม และควรจะสอนสิ่งที่เด็กควรจะต้องรู้ สิ่งที่จะทำให้ลูกหลานของเรามีชีวิตอยู่ในสังคมได้ด้วยความปลอดภัย เช่น รถต้องขับไม่เกินเท่าไหร่ เมื่อเห็นทางม้าลายต้องหยุดหากมีคนข้าม เมื่อไหร่ก็ตามที่ดื่มแอลกอฮอล์ต้องไม่ขับรถ

“มันมีสามเหลี่ยมของสุขภาวะอันหนึ่ง คือ โง่ จน เจ็บ คนของเราส่วนหนึ่งยังไม่หลุดออกจากสามเหลี่ยมนี้ คือ ไม่รู้ ไม่รู้ทำให้เจ็บป่วย เจ็บป่วยบ่อยๆก็ทำให้ยากจน วนไปวนมาอยู่แบบนี้

ความรอบรู้ทางด้านสุขภาพของเรายังต่ำ เราจึงไม่หลุดจากความจนและความเจ็บได้ผศ.นพ.ธนพันธ์ ระบุ