ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"นพ.อำนาจ" เผยมุมมองหลังการแก้กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ เชื่อแก้ปัญหาทำแท้งเถื่อนได้ แต่ห่วงเปิดช่องให้ "หญิงอายุครรภ์สูง" ทำแท้งได้เสรีมากขึ้น ระบุเป็น “สิทธิของแพทย์” ที่จะทำ-ไม่ทำ ยืนยันไม่เข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่


ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ กรรมการแพทยสภา และอดีตนายกแพทยสภา ให้ความเห็นกับ “The Coverage” ต่อกรณีของการยุติการตั้งครรภ์ หรือการทำแท้ง ภายหลังการมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 โดยระบุว่า กฎหมายฉบับนี้สามารถมองได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือจะช่วยแก้ปัญหาของการทำแท้งเถื่อน ที่เป็นอันตรายอย่างมากต่อผู้หญิงได้ แต่ในอีกทางหนึ่งก็อาจทำให้การทำแท้งนั้นมีเสรีเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับที่มีการแก้ไขใหม่นี้ พบว่าการทำแท้งจะสะดวกขึ้นมาก เนื่องจากอนุญาตให้การตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีเงื่อนไข ขณะที่อายุครรภ์ระหว่าง 12-20 สัปดาห์ ก็ยังสามารถกระทำได้ หากเข้ารับการปรึกษาแพทย์แล้วยังยืนยันที่จะทำอยู่ ทว่าในส่วนของการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นจากความผิดในคดีทางเพศ ไม่ได้มีการกำหนดอายุครรภ์เอาไว้แต่อย่างใด

“ส่วนนี้เป็นส่วนที่แพทย์หลายคนกังวลมากที่สุด เพราะแม้อายุครรภ์จะเกิน 20 สัปดาห์ แต่หากผู้ป่วยรายนั้นยืนยันว่าเป็นการตั้งครรภ์จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ก็สามารถทำได้อยู่ดี ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะโอเคว่าไปแจ้งความมาแล้ว ทำให้แพทย์มั่นใจได้มากขึ้น แต่ปัจจุบันไม่ได้มีข้อกำหนดตรงนี้ แพทย์จึงกังวลว่าถ้าไม่กำหนดอายุครรภ์เลย ก็ทำใจลำบาก บางทีท้องแก่ใกล้คลอดแล้ว แทนที่จะทำคลอดกลับต้องมาทำแท้ง" นพ.อำนาจ ระบุ

นพ.อำนาจ กล่าวว่า เรื่องของการทำแท้ง ในมุมมองแพทย์นั้นอาจแบ่งความเห็นได้เป็น 3 ทาง ทางแรกคือมุมธรรมะธัมโม ที่ไม่ว่าอย่างไรก็มองว่าไม่สมควรมีการทำแท้ง อีกทางหนึ่งมองว่าเป็นสิทธิของตัวผู้หญิง ที่สามารถทำได้อย่างอิสระ ขณะที่กลุ่มตรงกลาง อาจมองว่าทำได้แต่ควรอยู่ภายใต้เงื่อนไขในระดับหนึ่ง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมองว่าหากกรณีอายุครรภ์ไม่สูง และไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว การทำแท้งโดยแพทย์ก็จะเป็นทางออกหนึ่งให้กับผู้หญิงที่กำลังมีปัญหาได้

"เรารู้ว่าคนที่ต้องการจะทำจริงย่อมมีเหตุผลของเขา และไปหยุดเขาไม่ได้ ถ้าแพทย์ไม่ทำให้เขาก็ไปหาทำที่อื่น ซึ่งก็เกิดความเสี่ยงกับชีวิตเขา แต่ถ้าเราเบรคก่อนสักนิด ลองคุยดูว่าบางทีอาจเปลี่ยนใจเขาได้ อย่างหลายกรณีเช่น วัยรุ่น ที่เขารู้สึกแก้ปัญหาไม่ได้ แต่พอได้เข้ามาปรึกษา แพทย์ให้ความห่วงใย ให้ทางออกได้ สุดท้ายเขาก็คลอดออกมาและมีความรักให้กับลูกของเขาได้" นพ.อำนาจ กล่าว

สำหรับประเด็นความประสงค์ของแพทย์ในการที่จะทำแท้งหรือไม่ นพ.อำนาจ ระบุว่า ได้มีการพูดคุยจนได้ข้อยุติกับผู้บริการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิของแพทย์ที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ โดยไม่เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งหากแพทย์ไม่ต้องการที่จะทำก็สามารถแนะนำผู้ป่วยต่อได้ เพราะมีรายละเอียดของสถานที่ที่พร้อมจะทำอยู่แล้ว

นพ.อำนาจ กล่าวอีกว่า ในส่วนของแพทยสภาเองขณะนี้กำลังมีคณะอนุกรรมการเพื่อร่างข้อบังคับที่จะตามออกมา เช่นในส่วนที่ยังเป็นประเด็นอย่างการตรวจอายุครรภ์ ว่าจะพิสูจน์อย่างไร ใช้เครื่องมือใด เป็นต้น ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติม แต่ข้อบังคับเหล่านี้ก็อาจไม่สามารถไปขัดกับกฎหมายหลัก ซึ่งอาจยังมีข้อห่วงกังวลในบางจุดได้