ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เกิดกระแสการถกเถียงเรื่อง “ยุติการตั้งครรภ์” ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ที่อนุญาตให้หญิงที่ตั้งครรภ์สามารถเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิด แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือการให้ความชัดเจนว่า กรณีใดบ้างที่ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ตั้งต้นมาจากมุมมองว่าการทำแท้งเป็นความผิด (เว้นในบางกรณีที่กฎหมายยกเว้น)

กล่าวอย่างรวบรัด การแก้ไขกฎหมายเป็นการ “เปลี่ยนมุมมอง” ที่ตั้งต้นจากความผิดของผู้หญิง เป็นการให้สิทธิในเรือนร่างแก่ผู้หญิงแทน

นั่นหมายความว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เปิดช่องให้ “ทำแท้ง” ได้แล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะอนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างเสรีแต่อย่างใด

“The Coverage” มีโอกาสพูดคุยกับ “ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ” อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งนี้

อาจารย์ธนพันธ์ ได้ขยายมุมมองอย่างกว้างขวาง ตลอดจนอภิปรายถึงผลพวงจากการทำแท้งผิดกฎหมาย ที่สร้างบาดแผลทางกาย-ใจ ของผู้หญิงจำนวนมาก และมีไม่น้อยที่ต้องจบชีวิตลง เพียงเพราะที่ผ่านมาไม่อาจเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยได้

--- หยุดกฎหมายตีตรา คืนสิทธิในเรือนร่างให้ผู้หญิง ---

ผศ.นพ.ธนพันธ์ บอกว่า การที่ผู้หญิงจะท้องได้ต้องมีผู้ชาย แต่ที่ผ่านมากฎหมายกลับระบุให้ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายรับโทษแต่เพียงฝ่ายเดียว ตรงนี้คือความไม่เท่าเทียม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพของตนเอง การมีสิทธิในร่างกาย และมีความเสมอภาค

ดังนั้น สำหรับกฎหมายทำแท้งฉบับเก่า จึงเป็นกฎหมายที่สร้างความไม่เสมอภาค เท่าเทียม นั่นจึงเป็นที่มาของการแก้ในครั้งนี้

การกำหนดความผิดของผู้หญิงในกฎหมายฉบับเก่าปี 2500 จะบัญญัติอยู่ในมาตรา 301 ที่กำหนดบทลงโทษแก่หญิงที่ทำให้ตนเองแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้ง ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“จะเห็นได้ว่ากฎหมายสมัยก่อนจะกำหนดความผิดของผู้หญิงเอาไว้ก่อนเลย ซึ่งก็คือการทำแท้งมีความผิด”

สำหรับเงื่อนไขที่เปิดช่องให้ทำแท้งได้ในกฎหมายฉบับเก่า อยู่ในมาตรา 305 ที่ระบุเอาไว้ 2 วรรค คือ 1. การตั้งครรภ์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมารดา 2. การตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นจากความผิดในคดีทางเพศ

นอกจากนี้ ตามความในมาตรา 276 คือกรณีถูกข่มขืนกระทำชำเรา และมาตรา 277 คือการที่ทำให้ผู้หญิงอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ตั้งท้อง ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม รวมไปถึงมาตรา 282 - 284 ที่เขียนครอบคลุมถึงการตั้งครรภ์ที่เกิดจากความผิดคดีทางเพศ ที่มีผลมาจาก เป็นธุระ ล่อลวง จัดหาพาไป บังคับขู่เข็ญให้มีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการซื้อขายบริการทางเพศ ซ่องโสเภณี

ทั้งหมดนี้ คือเงื่อนไขที่เปิดช่องให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายได้ ฉะนั้นหากเรามองอย่างเป็นธรรม กฎหมายฉบับเก่าก็เปิดให้มีการทำแท้งได้อยู่แล้ว

“แต่ถึงแม้ในอดีตจะมีการเปิดช่องให้ทำแท้ง แต่กฎหมายฉบับเดิมก็ยังเป็นกฎหมายที่ตั้งต้นมาจากการกำหนดโทษให้ผู้หญิง ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายที่เพิ่งมีการแก้ไข โดยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย”

สำหรับกฎหมายฉบับใหม่ หรือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 มีสาระสำคัญอยู่ที่ การแก้ไข มาตรา 301 ใหม่ว่า หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และ มาตรา 305 ใหม่ใน 5 วรรค เพื่อสร้างความชัดเจนถึงเงื่อนไขการอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

            วรรคที่ 1 ทำแท้งได้ หากการตั้งท้องนั้นเกิดผลเสียต่อสุขภาพของมารดา ทั้งร่างกาย และจิตใจ

            วรรคที่ 2 ทำแท้งได้ หากทารกที่เกิดมานั้นมีความเสี่ยงที่จะพิการอย่างรุนแรง หรือเกิดมาแล้วยากต่อการใช้ชีวิตในสังคม

            วรรคที่ 3 ทำแท้งได้ หากเกี่ยวข้องกับความผิดทางเพศ

            วรรคที่ 4 ทำแท้งได้ หากอายุครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์

            วรรคที่ 5 หากอายุครรภ์เกิน 12-20 สัปดาห์ ต้องเข้ามาสู่บริการสาธารณสุข โดยมีแพทย์ดูแล

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ต้องรอความชัดเจนจากประกาศของ รมว.สาธารณสุข ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอนามัย หรือแพทยสภา ก็ต้องออกหลักเกณฑ์มาว่า 12-20 สัปดาห์นั้นเป็นอย่างไร

ข้อสุดท้ายจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการใช้กฎหมาย

--- ‘ทำแท้ง เป็นเรื่องของจิตใจ ---

เมื่อพูดถึงสุขภาพ กลุ่มที่ต่อต้านการทำแท้งก็จะพยายามไม่ให้เกิดการเข้าถึงการทำแท้งได้โดยง่าย เพราะเขามองว่าสุขภาพหมายถึง สุขภาพกาย การบาดเจ็บจากการตั้งครรภ์ หรือการเสียชีวิตเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วคำว่าสุขภาพยังตีความหมายไปถึง ความรู้สึกเป็นสุข ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นิยามคำว่าสุขภาพว่า “สุขภาพ หมายถึง สภาวะแห่งความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ รวมถึงการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข” 

ผศ.นพ.ธนพันธ์ เล่าว่า ใน พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ 2550 ได้นิยามของคำว่าสุขภาพว่า “ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย จิต และสังคมเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล”

นั่นหมายความว่า ถ้าเกิดตั้งครรภ์แล้วรู้สึกว่ามีความเป็นทุกข์ที่จะอยู่ในสังคม คนคนนั้นก็จะถือว่ามีสุขภาพที่ไม่ดี ฉะนั้นถ้ามองอย่างเป็นธรรม คนที่ต้องการทำแท้งก็จะบอกว่าการตั้งท้องที่ไม่พร้อม หรือการตั้งท้องที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ด้วยสาเหตุต่างๆ ควรทำได้โดยชอบตามกฎหมาย

“กฎหมายฉบับเก่าจะบอกว่าอนุญาตให้ทำแท้งได้ในบางกรณี เพียงแต่ผู้ใช้กฎหมาย แพทย์ หรือใครก็ตาม ที่ต่อต้านการทำแท้งก็จะมองว่าเป็นข้อห้ามทั้งๆ ที่จริงสามารถทำได้ เมื่อเป็นแบบนี้การเข้าถึงบริการจึงเกิดขึ้นไม่ได้ และมีผู้หญิงหลายคนจะต้องหลุดออกไปสู่ระบบของการทำแท้งเถื่อน จึงเป็นที่มาว่าในแต่ละปีเรามีการบาดเจ็บล้มตายจากการทำแท้งเถื่อนหลายคน”

ผศ.นพ.ธนพันธ์ เล่าต่อว่า ก่อนที่กฎหมายฉบับใหม่ออกมา อัตราการเสียชีวิตจากการทำแท้งในประเทศไทยก็ลดลงมาก ส่วนสำคัญเป็นเพราะมีเรื่องของยาใต้ดินเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งยาทำแท้งจากประเทศจีน หรืออินเดีย รวมไปถึงยารักษาโรคกระเพาะอาหารชนิดรุนแรงที่มีผลทำให้มดลูกบีบตัวและเกิดการแท้ง

สำหรับความเสี่ยงในขณะนั้นคือ มีโอกาสได้ยาปลอม ซึ่งนอกจากราคาค่อนข้างสูงแล้ว ยังอาจเกิดการใช้ยาผิดวิธีได้ ซึ่งก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน

“แม้ตอนนี้อัตราความสูญเสียลดลง แต่หากกฎหมายฉบับนี้สามารถออกฤทธิ์ได้ สถานการณ์ก็จะดีกว่านี้อีก สำหรับผม การออกกฎหมายมาใหม่หรือเก่า ถ้าคนจะทำเขาก็ทำ ส่วนคนที่ไม่อยากทำ ถึงจะออกกฎหมายมาอย่างไรก็ไม่อยากทำ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของจิตใจ ทั้งจิตใจของแพทย์ และจิตใจของผู้หญิงด้วย”

--- วิวัฒนาการทำแท้ง ---

ผศ.นพ.ธนพันธ์ อธิบายว่า ในสมัยก่อนการทำแท้งคือแพทย์จะใช้เหล็กขูดมดลูก ซึ่งอาจเกิดความบาดเจ็บเสียหาย มดลูกทะลุ บางครั้งยังกวาดเอาไส้ออกมาในทางช่องคลอด

ทว่า เมื่อมาถึงจุดหนึ่งก็มีการใช้ยาฉีดไปในโพรงมดลูกให้เกิดการตายของตัวอ่อนก่อน เมื่อมีการตายเกิดขึ้น ก็มีสารอักเสบหลั่งออกมา มดลูกจะบีบตัว มีการให้ยาทางหลอดเลือด และบีบเอาเด็กออกมาซึ่งก็เหมือนการคลอด

ย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณปี 2538-2539 ที่เริ่มพบว่ามียา Cytotec ซึ่งถูกตีทะเบียนเป็นยารักษาโรคกระเพาะ แต่มีผลให้เกิดการแท้งได้ โดยยาดังกล่าว เมื่อก่อนขายใต้ดินอยู่เม็ดละประมาณ 3,000 -5,000 ซึ่งต้นทุนที่ขายในโรงพยาบาลเพียงแค่ 13 บาท เท่านั้น 

“เมื่อก่อนผู้หญิงถูกขูด และใช้ไม้แขวนเสื้อเสียบเข้าไปในช่องคลอด (หมอเถื่อน) ผู้ป่วยก็จะมาหาเราเรื่องการติดเชื้อ มดลูกทะลุ ไส้ทะลัก และมีการตายเกิดขึ้น เกิดไตวาย ตับวาย แต่เมื่อมี Cytotec เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว พบว่ารูปแบบการนอนโรงพยาบาลมีการติดเชื้อน้อยลง และจะมาด้วยเรื่องการตกเลือดมากกว่า ซึ่งการตกเลือดนั้นถ้ามาถึงโรงพยาบาลทันก็สบายมาก” ผศ.นพ.ธนพันธ์ กล่าว

ในปัจจุบันก็มียาอีกหนึ่งชนิดเป็นยากิน ร่วมกับ Cytotec  ยาชุดนี้ทำให้เกิดการแท้งในก่อน 9 สัปดาห์ได้ง่ายกว่า ฉะนั้นการแท้งจึงเกิดขึ้นเองจากการใช้ยา 98% โดยที่ไม่ต้องถึงมือแพทย์

ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไป จากการขูดเป็นการดูด จากการดูดเปลี่ยนเป็นการใช้ยา ที่ง่าย ปลอดภัย และผู้หญิงสามารถควบคุมตัวเองได้

“การทำแท้งก็เหมือนกับการคลอด การรักษาโรคมะเร็ง หรือภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ไม่ได้ต่างกันเลย แต่คนไปให้ค่าในการทำแท้งว่าเป็นการทำลายชีวิต

“ทว่ารัฐบาลมองเห็นปัญหาของการแท้ง จึงบอกว่ายาชนิดดังกล่าว 2 ชนิด ให้ใช้ฟรี หมายถึงว่าสถานบริการสามารถเบิกจ่ายยาให้คนไข้ได้ โดยที่คนไข้ไม่ต้องเสียเงินค่ายา สามารถให้คนไข้ใช้ฟรี ซึ่งเมื่อเทียบกับการดูแลคนไข้ที่ทำแท้งเถื่อน ซึ่งค่าใช้จ่ายเป็นแสน”

--- ทุกการทำแท้งทิ้งรอยแผลไว้เสมอ ---

ผศ.นพ.ธนพันธ์ บอกว่า แม้ว่าการทำแท้งจะถูกกฎหมายแต่เรื่องแบบนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ดี คงไม่มีใครบอกว่าท้องและจะไปทำแท้ง ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายออกมา ถ้าคนยังมีความรู้สึกว่าการทำแท้งคือการเอาลูกตัวเองออก ก็จะต้องมีความรู้สึกติดอยู่ในใจ ว่าเป็นการทำลายสิ่งมีชีวิตที่มาเกิด

ฉะนั้น กฎหมายที่ออกมาในรูปแบบไหน ผู้หญิงตั้งท้องที่ไม่พร้อม หรือคนที่จะต้องถูกทำแท้งก็จะมีบาดแผลติดตัวเสมอ

“ทุกคนมีบาดแผลในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ บางคนที่บอกว่าตัวเองมีจริยธรรมสูงส่ง ต่อต้านการทำแท้งทุกอย่าง บางทีเขาก็อาจจะลืมนึกไปว่า สิ่งสำคัญคือไม่มีใครในโลกนี้ที่จะตั้งท้องมาเพื่อจะมาทำแท้ง ซึ่งการตั้งท้องนั้นเกิดขึ้นจากความผิดพลาด หรือเขาตั้งท้องมาด้วยความตั้งใจก็จริง แต่อุปสรรคบางอย่างในชีวิตทำให้เขาไปต่อไม่ได้ เช่น ลูกพิการ เกิดการสูญเสียในครอบครัว หรือสามีเสียชีวิตกระทันหัน และความยากจน”

ผศ.นพ.ธนพันธ์ บอกอีกว่า การตัดสินใจรับบริการทำแท้ง ส่วนตัวมองว่าเขาใช้ความรับผิดชอบของความเป็นแม่ ซึ่งหมายความว่าเขารับผิดชอบต่อการเกิดของลูกที่ออกมา และลูกอาจจะไม่มีความสุขนั่นนับว่าเป็นความรับผิดชอบ จะสังเกตว่าผู้ชายไม่ค่อยรับรู้เรื่องแบบนี้ คนที่ต่อต้านส่วนมากก็ผู้เป็นชาย ไม่เคยอุ้มท้อง ไม่เคยเบ่งคลอด ไม่เคยเสี่ยงตายจากการตั้งท้องและคลอด 

“ผมมองว่านี่คือความรู้สึกรับผิดชอบของการเป็นแม่ ที่รับผิดชอบต่อการเกิดของลูก การกินอยู่ของลูกคนที่เกิดออกมาก่อน รวมไปถึงรับผิดชอบเรื่องทรัพยากรที่จะต้องใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไปของลูกที่เกิดออกมา”

--- ‘จริยธรรม บาปบุญ ต้องแยกออกจากกัน ---

ผศ.นพ.ธนพันธ์ แสดงความคิดเห็นว่า จำเป็นต้องแยกระหว่างศีลธรรม จริยธรรม และบาปบุญคุณโทษจากกันให้ได้ โดยเฉพาะฟากฝั่งผู้ให้บริการ ถ้าแยกจากกันไม่ได้ เราก็จะเป็นหมอที่ต้องดูแลคนไข้คนอื่นๆ ได้อย่างลำบาก จะมีคนไข้อีกสักกี่คนที่ถูกหมอทำร้ายด้วยความรู้สึกในจริยธรรมอันดีงามและสูงส่งของตัวเอง

นั่นเพราะในทุกวินาทีที่ทำงาน ก็ต้องทำการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจากการทำเวชปฏิบัติที่ถูกต้อง ต้องทำแท้งเด็กที่เป็นโรค ต้องทำแท้งแม่ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ต้องตัดปีกมดลูกของผู้หญิงที่ท้องนอกมดลูก ซึ่งเป็นการทำลายสัตว์ เป็นการเอาเด็กออกวัยอันควรทั้งนั้น

“ถ้าเราแยกบาปบุญคุณโทษไม่ได้ เราจะไม่มีความสุขกับการทำเวชปฏิบัติ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อคนไข้ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เมื่อพูดอย่างนี้เราจะโฟกัสอยู่ที่คนได้รับบริการ ไม่ได้โฟกัสที่เราว่าเราทำบาปหรือไม่ เรารู้สึกดีใจและภูมิใจที่ เราสามารถรักษาคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งหายได้ เราก็ยังพูดถึงคนไข้เป็นหลัก ฉะนั้นถ้าเป็นแพทย์เราก็ต้องมุ่งไปที่ผู้ป่วย และผู้มารับการักษาดูแลจากเราก่อน

ผศ.นพ.ธนพันธ์ กล่าวต่อไปว่า มุมมองทางสังคมที่ไม่เห็นด้วยก็พูดถึงว่าการคิดเช่นนี้ทำให้เกิดความเสื่อมเสียของศีลธรรม เสื่อมเสียทางด้านจริยธรรมทางการแพทย์ ตรงนี้ทะเลาะกันตาย เพราะคนที่ทำเขาก็จะบอกว่าเขามีจริยธรรม เพราะดูผู้ป่วยเป็นหลัก ส่วนคนที่เขาไม่ทำเข้าก็จะบอกว่าเขามีจริยธรรม เพราะเป็นการทำลายสิทธิของเด็กที่จะมาเกิดใหม่

นี่จึงเป็นเรื่องถกเถียงกันไม่จบ การจะอยู่อย่างปรองดองได้คือแพทย์ที่อยากทำก็ทำต่อไป ส่วนแพทย์ที่ไม่อยากทำก็ส่งต่อให้เกิดการทำให้ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงอย่าไปด่า และต่อต้าน

ในปัจจุบันก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่เรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ แต่การทำแท้งบางครั้งไม่ได้เป็นความทุกข์กาย แต่เป็นความทุกข์ใจ ซึ่งเมื่อไหร่ที่เห็นผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติ ได้บรรเทาความทุกข์ใจ ตรงนั้นก็จะเห็นถึงคุณค่าของวิชาชีพ

--- ทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม ---

“แค่ค้นหาในอินเทอร์เน็ต ซื้อยาทางเน็ต ก็สามารถทำแท้งเสรีได้ แต่ถ้าเกิดผู้ป่วยเดินเข้ามาในโรงพยาบาล อันนี้ไม่ได้เรียกว่าการทำแท้งเสรี เพราะการทำแท้งนั้นเริ่มต้นตั้งแต่การให้คำแนะนำปรึกษา หาทางเลือก หาช่องทาง และวิธีที่เหมาะสมที่สุด ดูแลทั้งก่อนและหลังแท้ง”

ส่วนการทำแท้งเสรีนั้น ถึงอายุครรภ์จะ 28 สัปดาห์ก็ยังทำ ทำออกมาแล้วเอาเด็กไปทิ้งถังขยะ ซึ่งไม่ถูกต้อง ต้องไม่มีคำว่าทำแท้งเสรีในประเทศที่บริการเข้าถึงได้

“ผมจะอินมากกับคำว่าทำแท้งเสรี เพราะเป็นคำที่ดูถูกผู้หญิง เราต้องไม่ยอมให้ใครต้องมาดูถูกพี่น้องเรา สมัยก่อนเวลาเข้าประชุมของภาควิชา จะมีคำว่าการทำอาชญากรรมจากการทำแท้ง (Criminal Abortion) ผมบอกภาควิชาว่า เราเป็นแพทย์สูติฯ วลีนี้จะเกิดขึ้นในภาควิชาเราไม่ได้ เพราะการทำแท้งนั้นไม่ใช่อาชญากรรม พวกเราต่างหากที่ไม่ยอมทำแท้งให้ ทำให้เขาต้องออกไปทำแท้งเถื่อนข้างนอก ถามหน่อยสิ ใครคืออาชญากร ไม่มีสักคนเลยใช่ไหม”

ผศ.นพ.ธนพันธ์ ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า จะสังเกตว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) การทำแท้งเข้าถึงได้อย่างเป็นมิตร บางประเทศผู้หญิงที่จะขอทำแท้งก็นั่งรวมกับผู้หญิงที่เข้าไปฝากครรภ์ ไม่มีใครรู้ เพราะการไปทำแท้งจะมีสามี มีคนไปเป็นเพื่อน

สำหรับผู้หญิงไทยบางคนมาทำแท้งแบบเดียวดาย ถูกผู้ชายทิ้ง เพราะฉะนั้นประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว กฎหมายทำแท้งจะมีอันสุดท้ายที่พูดถึงเรื่องยุติการตั้งครรภ์ตามการร้องขอ เมื่อผู้หญิงของเขาไม่พร้อมที่จะตั้งท้อง แพทย์ก็จะทำแท้งให้

--- มุมมองต่อหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ---

ผศ.นพ.ธนพันธ์ กล่าวว่า ในความจริงทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมมือในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์มาหลายปีแล้ว เพราะการเข้าถึงบริการ 30 บาทก็เหมือนการรักษาโรค

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนโยบายที่แพทย์ในภาครัฐที่สามารถขอคืนเงินค่าการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงที่เป็นท้องไม่พร้อม มีค่าบริการ มีเงินสมทบให้เหมือนการรักษาโรค เมื่อมีการทำแท้งหนึ่งครั้ง สปสช. จะคืนเงินให้ 3,000 บาท รวมถึงการให้บริการฝังยาคุมกำเนิดฟรีให้กับผู้ป่วย

“ถ้ามองว่าการทำแท้งมีกำไรอาจจะมีคนมองว่าผมเลว แต่อย่าลืมว่า โรงพยาบาลหรือสถานบริการก็คือที่ที่รักษาผู้ป่วย เขาก็จะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาโรงพยาบาล ซึ่งก็มีหลายๆ สถานบริการเคลมตรงนี้ สปสช. สนับสนุนเราดีมากแต่ไม่ค่อยมีใครรู้ อันนี้ก็เป็นมุมมองที่มีต่อ สปสช. ในเรื่องการทำแท้ง”

ผศ.นพ.ธนพันธ์ กล่าวต่อว่า พื้นฐานของชีวิตผู้หญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จะต้องมีความรู้ด้านการเจริญพันธุ์ของตนเอง เช่นประจำเดือนเป็นอย่างไร การคุมกำเนิดเป็นอย่างไร ตรงนี้ที่สังคมพยามเรียกร้องให้มีการสอนว่าทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าประจำเดือนมาปกติ เมื่อมีแล้วท้องได้ไหม ถ้าท้องได้ต้องคุมอย่างไร มีอะไรที่สามารถคุมได้บ้าง และถ้าคุมแล้วประจำเดือนขาดมีโอกาสท้องหรือไม่ เมื่อรู้ว่ามีโอกาสท้องก็เดินเข้าไปที่ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อที่ตรวจครรภ์ตรวจ เกิดปัญหาขึ้นเมื่อไหร่ให้รีบเข้ามาพบแพทย์

“ปัจจุบันอัลตร้าซาวด์ก็เข้าได้ทุกที่ คลินิกสูตินรีเวชก็มีมหาศาล เรามัวแต่สอนอะไรกันอยู่ สอนเรื่องแคลคูลัส สามเหลี่ยมตรีโกณมิติ จนลืมไปว่าสามเหลี่ยมในมดลูก หรืออุ้งเชิงกรานนั้นมีคุณค่ามหาศาลกว่ามาก เพราะนี่คือพื้นฐานของชีวิต และสุขภาพที่ดี” ผศ.นพ.ธนพันธ์ กล่าว