ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่ม FTA Watch ตอกย้ำข้อห่วงกังวลหากไทยเข้าร่วมความตกลง "CPTPP" เสี่ยงทำลายระบบเกษตร ระบบการแพทย์-สาธารณสุขของประเทศ วอนคนไทยจับตาการประชุม กนศ. หลังเตรียมถกเสนอ ครม.เห็นชอบก่อนหยุดยาว 27 ก.ค.นี้


กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 ก.ค. 2565 นี้ก่อนวันหยุดยาวสำคัญ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะเรียกประชุม กนศ. เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

ขณะเดียวกัน กลุ่ม FTA Watch ระบุว่า จะเป็นการผิดคำมั่นสัญญาที่รองนายกฯ ดอนให้ไว้กับ FTA Watch และเครือข่ายที่เป็นตัวแทนของประชาชนกว่า 400,000 คน ที่ร่วมลงชื่อคัดค้านการที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP หากยังไม่มีการศึกษารอบด้านถึงผลดีและผลกระทบที่เป็นปัจจุบัน จะไม่นำเข้าสู่ ครม.

"การชงเข้า ครม.ทันที ปิดเสียงวิจารณ์ นี่ถือว่าคำพูดคนระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเชื่อถือไม่ได้ ใช่หรือไม่" กลุ่ม FTA Watch ระบุ

กลุ่ม FTA Watch ระบุอีกว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการทำร่างกรอบการเจรจาที่ต้องยืนยันในหลักการ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบ CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร เสนอแนะว่าต้องทำก่อนการอนุมัติไปเจรจา ซึ่งต้องเกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว หากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงนี้

ทั้งนี้ จากข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร และข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ได้เสนอข้อห่วงกังวลอต่อประธาน กนศ.ไปแล้ว ดังนี้

1. การเข้าร่วมความตกลง CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งมีผลกระทบด้านลบต่อเกษตรกร ทั้งราคาเมล็ดพันธุ์ที่จะแพงขึ้น สิทธิเกษตรกรที่ถูกลิดรอน และการทำลายความหลายหลากทางชีวภาพ

2. การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะสารพิษที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก

3. การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยจะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย

สุดท้าย ข้อบทในความตกลง CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล จากงานวิจัยการประเมินผลกระทบของ CPTPP ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 89 และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท แน่นอนว่านี่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรงต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นผลงานอวดชาวโลกของไทย

กลุ่ม FTA Watch ได้ระบุว่า การเลือกช่วงเวลาการประชุม กนศ.เพื่อตัดสินใจเรื่องที่จะพาไปประเทศชาติไปสู่หายนะหรือไม่ เป็นช่วงก่อนหน้าช่วงหยุดยาววันสำคัญ ถือเป็นการลดกระแสการตรวจสอบของสื่อและภาคประชาสังคมหรือไม่ เพราะใกล้เคียงกับแทคติคที่หน่วยราชการบางแห่งเคยใช้ในการผลักดันการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชในช่วงพระราชพิธี ปี 2560 ทำให้กว่าสื่อมวลชนและสังคมตื่นตัวติดตามก็ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว

"ขอให้ประชาชนคนไทยและเครือข่ายต่างๆที่ห่วงใยกับอนาคตและความเป็นไปของสังคมช่วยกันกระจายข่าวเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อฉุดรั้งสติของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าพาประเทศชาติหายนะไปกว่านี้เลย" กลุ่ม FTA Watch ระบุ

1