ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยระบุถึงสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ จากคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562-2590) พบว่าจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่เพิ่มขึ้น มาจากราคายาสูงขึ้น และประเทศไทยพึ่งพิงยานำเข้าเพิ่มขึ้น โดยสรุปคือ 1. ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท 2. สัดส่วนการพึ่งพิงนำเข้ายาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 71% เพิ่มเป็น 89% 3. มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบว่าความตกลง CPTPP จะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคหลายด้านหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น

1. ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศสูงขึ้น และอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศจะชะงักงันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมาตรการ Patent Linkage
2. ประเทศไทยจะถูกจำกัดการใช้มาตรการต่างๆเพื่อการเข้าถึงยาที่จำเป็นและพิทักษ์และคุ้มครองสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามข้อบทว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน
3. รัฐบาลไทยจะไม่สามารถสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมให้ปฏิบัติพันธกิจส่งเสริมการเข้าถึงยาและความมั่นคงทางยาของประเทศอีกต่อไป 
4. ไทยถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ ในขณะที่ประเทศยังไม่มีศักยภาพในการควบคุมกำกับเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับ การวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานได้  
5. ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากภัยของเครื่องสำอางที่ด้อยคุณภาพ 
6. ผู้บริโภค จะได้รับความเสี่ยงจากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์
7. CPTPP กำหนดให้ต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่และยาสูบ ส่งผลให้เข้าถึงอบายมุขเหล่านี้มากขึ้น 
8. ฐานทรัพยากรด้านสมุนไพรของไทย ซึ่งสามารถจะพัฒนาต่อยอดเป็นยาและเวชภัณฑ์ อาจถูกยึดครองด้วยบรรษัทต่างชาติ 
9. เกษตรกรที่ซื้อพันธุ์พืชใหม่มาปลูกจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า
10. ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่มีหรือปนเปื้อนสารตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) และการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมู

ในส่วนข้อเสนอนโยบายและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย

1. ขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบแล้วเสร็จ
2. ขอให้เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฯ ต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ
3. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยากับยาชื่อสามัญ (Generic Drug) และเร่งปรับปรุงฉลากผลิตภัณฑ์ GMO
4. ขอให้กระทรวงพาณิชย์ปรับปรุง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ที่สร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร สิทธิของประชาชน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ และสนับสนุนการใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการบังคับใช้สิทธิ,Compulsory Licensing) ให้มีประสิทธิภาพและสะดวกมากยิ่งขึ้น
5. ขอให้กองทุนอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืช ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เร่งดำเนินการให้กองทุนสามารถสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงกองทุนนี้
6. ขอให้กระทรวงเกษตร เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ครอบคลุมทรัพยากรชีวภาพทุกประเทศโดยใช้หลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity, CBD) เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายฉบับนี้

อนึ่ง สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภคในทุกด้านตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ปัจจุบันสภาองค์กรของผู้บริโภคมีสมาชิกเป็นองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน 195 องค์กร ทั้งนี้ในมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นตัวแทนผู้บริโภคและมีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

สำหรับข้อเสนอฉบับเต็ม อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ :https://www.thecoverage.info/assets/img/uploads/Paper_08062021_ConsumerCouncil_PMSuggestionPolicyonCPTPP.pdf