ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาองค์กรของผู้บริโภค เรียกร้องรัฐบาลชะลอการส่งหนังสือเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ระบุ ไทยเสียประโยชน์มหาศาล อุตสาหกรรมยาในประเทศดิ่งเหว 


สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยแพร่จดหมายข่าวเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการส่งหนังสือเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เนื่องจากเห็นว่าการเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว จะสร้างผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณในการจัดบริการสาธารณสุข

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ให้เหตุผลโดยอ้างอิงถึงข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อเดือน มี.ค. 2564 ซึ่งพบว่า การเข้าร่วม CPTPP ในระยะเวลา 30 ปี จะเกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 4.2 แสนล้านบาท รวมทั้งมูลค่าของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศที่จะลดลงสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท

“ค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณของรัฐในการจัดบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” จดหมายข่าวฉบับดังกล่าวระบุ

จดหมายข่าวฉบับเดียวกันนี้ ระบุอีกว่า จากการคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (พ.ศ. 2562 - 2590) ประเทศไทยจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมาจากการพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมาก ซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท 2. สัดส่วนการพึ่งพิงนำเข้ายาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 71% เพิ่มเป็น 89% 3. มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท