ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“คลัง” ทำหนังสือแจง “กนศ.” หากเข้าร่วม CPTPP จะเกิดผลกระทบต่อการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลรัฐ จึงต้องให้ สธ. ร่วมตัดสินใจว่ายอมรับข้อบทได้หรือไม่


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับเรื่อง CPTPP ด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและรัฐวิสาหกิจ ได้ทำหนังสือถึง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้แสดงความเห็นไว้ว่า ภายใต้ข้อบทของ CPTPP ได้กำหนดให้ต้องยกเลิกข้อกำหนดในเรื่องการให้โรงพยาบาลรัฐจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตามกฎกระทรวงและระเบียบภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลรัฐสามารถซื้อยาได้เป็นการทั่วไป และความสามารถในการแข่งขันของ อภ. ลดลง ฉะนั้นจึงต้องฟังความคิดเห็นจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ด้วย ซึ่งหาก สธ.ยอมรับประเด็นนี้ได้ กระทรวงการคลังก็สามารถแก้ไขกฎกระทรวงได้

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องหารือกับ สธ. เรื่องการเปิดเสรียาอย่างรอบคอบ เพราะแม้ประเทศไทยจะมีบัญชียา แต่ยาจากต่างประเทศก็อาจทะลักเข้ามาและผู้ผลิตยาในประเทศจะเสียเปรียบได้

ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติว่า ต้องให้ สธ. พิจารณาว่าจะยอมรับพันธกรณีของ CPTPP ที่กำหนดให้ยกเลิกกฎระเบียบที่ให้โรงพยาบาลของรัฐต้องซื้อยาจาก อภ. หรือไม่ ส่วนทางกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลาง สามารถปรับแก้ระเบียบตามผลการพิจารณาของ สธ. ได้ นอกจากนี้ยังต้องหารือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีสินค้ายากับ สธ. ด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สภาเภสัชกรรมได้ทำข้อเสนอต่อ กนศ. แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมผลิตยาและการเข้าถึงยาในประเทศ โดยมีการคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562-2590) พบว่า ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น เพราะราคายาสูงขึ้น และประเทศไทยจะพึ่งพิงยานำเข้าเพิ่มขึ้น

สำหรับรายละเอียดการคาดการณ์ ได้แก่ 1. ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท 2. อัตราส่วนการพึ่งพิงนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก ปัจจุบันอยู่ที่ 71 % จะเพิ่มเป็น 89 % 3. มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท