ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"แอปฯ หมอดี" เผยผู้ป่วยโควิดลงทะเบียนรับบริการ 90% ไม่เข้าเกณฑ์ใช้สิทธิบัตรทอง เหตุเป็นสิทธิรักษาพยาบาลอื่น ไม่ได้อยู่ในอาการกลุ่มสีเขียว เป็นผู้ป่วยกลุ่ม 608 ไม่ได้อยู่เขต กทม.และปริมณฑล ย้ำความพร้อมดูแลผู้ป่วยโควิดหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม


ดร.อดิภัทร ชัยชนะสกุล กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เปิดเผยว่า ตามที่ธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ฯ ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อร่วมให้บริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียว ผ่านแอปฯ หมอดี (App MorDee) ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา มีประชาชนให้ความสนใจและร่วมลงทะเบียนเพื่อรับบริการจำนวนมาก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลงทะเบียนสะสมมากว่า 5,500 คน ในจำนวนนี้ 90% ไม่เข้าตามหลักเกณฑ์รับบริการ ตามที่ สปสช.กำหนด อย่างไรก็ตามทีมงานแอปฯ หมอดีทุกคนพร้อมให้บริการดูแลผู้ติดเชื้ออย่างเต็มที่ มีการปรับกระบวนการทำงาน รวมทั้งเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สำหรับหลักเกณฑ์การดูแลผู้ติดเชื้อโควิดโดยแอปฯ หมอดีนี้ จะเป็นการให้บริการผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว มีสิทธิหลักประกันสุภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เท่านั้น ซึ่งภาพรวมของผู้ป่วยโควิดที่ลงทะเบียนแต่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์บริการนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มเสี่ยงสูง 608 มีอาการรุนแรง, ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิบัตรทอง หรือไม่ได้อยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล 

ดร.อดิภัทร กล่าวว่า กรณีผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนกับแอปฯ หมอดี แต่ไม่เข้าตามหลักเกณฑ์รับบริการนั้น จะมีทีมงานแอปฯ หมอดี โทรศัพท์หรือส่งข้อความผ่าน SMS แจ้งให้ผู้ลงทะเบียนทราบหลักเกณฑ์ตามที่ สปสช. กำหนด รวมถึงให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการรับบริการตามสิทธิของผู้ป่วย

ขณะเดียวกัน แอปฯ หมอดี ยังให้บริการดูแลสุขภาพให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นสิทธิบัตรทองได้ โดยผู้ป่วยสามารถชำระค่าบริการเอง ซึ่งผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพกับบริษัทที่ร่วมมือกับแอปฯ หมอดี ยังสามารถเคลมค่ารักษาได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ติดเชื้อโควิดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางแอปฯ หมอดีจะมีการติดตามสถานการณ์และให้บริการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยอย่างเต็มกำลัง

ดร.อดิภัทร กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการสีเขียวสิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล สามารถรับบริการพบแพทย์ออนไลน์ สั่งยาตามอาการและรอรับยาที่บ้านได้ พร้อมมีเภสัชกรแนะนำการใช้ยา รวมถึงมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามอาการอย่างต่อเนื่องผ่านแอปฯหมอดี เพียงกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียนได้ที่ https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p

1

ขั้นตอนการลงทะเบียนรักษาโควิดแบบการแพทย์ทางไกล

1. ผู้ที่ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด อาการไม่รุนแรง (กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว) สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สปสช.-สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)
- อายุ 15-60 ปี
- น้ำหนักไม่เกิน 90 กิโลรัม หรือ BMI ไม่เกิน 30
- ไม่ตั้งครรภ์
- ไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง
- ไม่มีโรคประจำตัว รวมถึงโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน แม้จะคุมอาการได้ก็ตาม
- ไม่ใช่กลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์
- ไม่มีอาการของโรคโควิด-19 รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ
- ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น ภาวะอ้วน
- กรณีคนพิการ รับดูแลคนพิการที่สามารถใช้การสื่อสารทางออนไลน์ได้ และไม่มีอัตราเสี่ยงต่อตัวผู้ป่วยเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

2. สามารถเลือกลงทะเบียนตามแบบฟอร์มลงทะเบียนโครงการ Self-Isolation สำหรับผู้ป่วย COVID-19 สนับสนุนโครงการโดย สปสช. และ สวทช. ผ่านการให้บริการบน 

(1) แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology ให้บริการโดย บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย): https://forms.gle/YKVMKy1p8FRDDBje7 
รับเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่อยู่ในพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เท่านั้น*** 
สอบถามเพิ่มเติม Line ID: @gdtt

(2) แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด: https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p
รับเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่อยู่ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เท่านั้น 
สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @mordeeapp

3. เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับเพื่อยืนยันตัวตนเข้ารับบริการ คัดกรอง ประเมินอาการเบื้องต้น และปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ให้คำแนะนำการดูแลตัวเอง

4. จัดส่งยาตามความจำเป็นให้กับผู้ป่วย โดยบางรายอาจได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ขึ้นอยู่กับอาการ

5. เมื่อรับการดูแลครบ 48 ชั่วโมงแล้ว เจ้าหน้าที่จะพูดคุยกับผู้ป่วยอีกครั้งเพื่อสอบถามอาการ และแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองให้ครบ 10 วันตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข เมื่อผู้ป่วยดีขึ้นแล้วก็จะออกจากระบบการดูแลได้

อย่างไรก็ตามหากในระหว่างนี้ผู้ติดเชื้อมีอาการเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งข้อมูลต่อให้กับ สปสช.เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ