ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ได้เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ หรือ “Post-Pandemic” เป็นที่เรียบร้อย มาตรการทางสังคมต่างๆ ถูกปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัยตามความสมัครใจ การยกเลิกการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การผ่อนคลายมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่เฝ้าระวัง ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำรงชีวิต ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติ

พร้อมๆ กับการเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ‘BA.4-BA.5’ ที่กำลังสร้างความกังวลให้แก่ประชาชนอยู่ในขณะนี้ เพราะบางคนมองว่าการแพร่ระบาดของโควิดในขณะนี้เปรียบเสมือนรอบ “เก็บตก” รวมถึงบางส่วนยังคงสับสนกับการปรับการเข้ารับบริการเมื่อติดเชื้ออีกด้วย

1

พบ BA.4-BA.5 กระจายเร็วในเซลล์ปอด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 ว่า BA.5 มีแนวโน้มติดเชื้อในเซลล์ปอดมากขึ้น และแพร่ได้ไวกว่าสายพันธุ์ย่อยเดิม (BA.1, BA.2) ซึ่งทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการลงใน “medRxiv” เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุสาระสำคัญนั่นคือโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอย่าง BA.5 มีกลไกการเข้าสู่เซลล์ที่ต่างไปจาก BA.1, BA.2 โดยผ่านตัวรับ TMPRSS2 คล้ายคลึงกับสายพันธุ์เดลต้า

สำหรับการใช้กลไกตัวรับดังกล่าวนั้นสะท้อนแนวโน้มที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างได้มากขึ้น คล้ายกับสายพันธุ์เดลต้าที่ได้มีการระบาดก่อนหน้า

“นี่อาจใช้เป็นอีกหนึ่งคำอธิบายสำหรับปรากฏการณ์ที่เราเห็นการติดเชื้อ BA.5 แล้วทำให้มีอัตราการเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก”

ขณะเดียวกัน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการแถลงการณ์เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า จากการเฝ้าระวังช่วงวันที่ 2-8 ก.คง 2565 จำนวน 570 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์โอมิครอน BA.4-BA.5 รวมกันเกือบครึ่งหนึ่ง 280 ราย โดยยังพบสัดส่วนในผู้เดินทางจากต่างประเทศสูงทรงตัว 77-78% ราว 3 สัปดาห์ติดต่อกัน

สำหรับในประเทศไทย พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4-BA.5 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละสัปดาห์จาก 12% เป็น 50%, 68% และ 72% ขณะที่ส่วนภูมิภาคค่อยๆ เพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 17% และ 34% ตามลำดับ ซึ่งนับว่าแพร่เร็วและจะเริ่มแซง BA.2 กับ BA.1 แต่ไม่ได้แซงเร็วมาก

ส่วนเรื่องความรุนแรงยังสรุปไม่ได้ชัดเจน แต่ข้อมูลพบว่าเจอสัดส่วนของ BA.4-BA.5 ในผู้ป่วยอาการรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ทั้งใน กทม.และภูมิภาค แต่ตัวอย่างยังน้อยเกินไป ต้องมีข้อมูลในระดับหลักร้อยตัวอย่างถึงจะทำให้ข้อมูลแม่นยำมากขึ้น

“พื้นที่ กทม.เก็บตัวอย่างผู้ที่อาการไม่รุนแรง 164 ราย เป็น BA.4-BA.5 ประมาณ 72% ผู้ที่อาการรุนแรง ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตมี 13 ราย เป็น BA.4-BA.5 ประมาณ 77% ขณะที่ภูมิภาคผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 309 ราย เจอ BA.4-BA.5 รวม 33% ผู้ที่อาการรุนแรง 45 ราย เจอ BA.4-BA.5 สัดส่วน 46% จึงมีข้อสังเกตเบื้องต้นว่า น่าจะมีความรุนแรงกว่า BA.2 แต่ข้อมูลยังไม่มากพอ”

จากข้อมูลดังกล่าว ในต่างประเทศ องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือประเทศอังกฤษก็ยังไม่ได้สรุปเรื่องนี้ชัดเจน แต่ขณะเดียวกันตามข้อมูลจากประเทศญี่ปุ่นพบว่า สายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันและแพร่กระจายเร็วในเซลล์ปอดของมนุษย์มากกว่า BA.2 ผลการทดลองในหนู พบว่า BA.4-BA.5 ทำให้หนูทดลองป่วยหนักกว่า BA.2

ฉะนั้นแล้ว จึงได้ประสานให้โรงพยาบาลสังกัดต่างๆ ส่งตัวอย่างมาตรวจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาการหนักหรือเสียชีวิต รวมถึงข้อมูลของผู้ป่วยด้วย เช่น ประวัติการรับวัคซีน โรคประจำตัว รักษามานานเท่าไร เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

2

ป่วยพุ่งวันละ 3 หมื่น - สธ. ยังเอาอยู่

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในการประชุมสภา ช่วงกระทู้ถามสดต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า สำหรับข้อมูลรายวันตามที่ได้มีการตรวจสอบกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมานับเป็น จำนวน 1 หมื่นคน ฉะนั้นหากประมาณจากการลงทะเบียนคาดว่าจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อวันละ 3 หมื่นราย

อย่างไรก็ดี ดร.สาธิต ยอมรับว่าทิศทางการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสาธารณสุขนั้นมีตัวเลข แต่การรายงานข้อมูลก็เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยตัวเลขจากการรายงานของกรมควบคุมโรคที่บันทึกในรายการผู้ติดเชื้อ และรักษาตัวที่บ้าน รวมถึงการรักษาที่หน่วยบริการสถานพยาบาลแบบ เจอ แจก จบ ภาพรวมการติดเชื้อ อยู่ที่จำนวน 2.7 แสนคน

ทั้งนี้ ในช่วงวันหยุดยาวที่จะถึงนี้ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยผ่านการแถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา พบการติดเชื้อและเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นชัดเจนในบางจังหวัดที่มีการติดเชื้อมาก คือ กทม. ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โดยปอดอักเสบเพิ่มจาก 638 ราย เป็น 786 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นจาก 290 ราย เป็น 349 ราย

ทั้งหมดยังอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ประกอบกับมีการคืนเตียงผู้ป่วยโควิดไปใช้รักษาโรคอื่น ทำให้อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น

สำหรับจังหวัดที่มีอัตราครองเตียงเกิน 25% ได้แก่ นนทบุรี 42.6% กทม. 38.2% ชัยภูมิ 30.5% ปทุมธานี 29.3% สมุทรปราการ 29.8% และนครสวรรค์ 26% จึงต้องปรับการบริหารจัดการเตียง

นอกจากนี้ ช่วงวันหยุดยาวอาจเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดแพร่เชื้อไปต่างจังหวัดเร็วขึ้น จึงต้องช่วยกันชะลอการแพร่เชื้อ เพราะหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วก็จะมีผู้ที่ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และอาจจะกระทบกับเตียงหรือยาที่ใช้ในการรักษาได้

ฉะนั้น สธ. ขอความร่วมมือประชาชนป้องกันตนเอง โดยใช้มาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention คือ มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล และ Universal Vaccination คือการฉีดวัคซีน โดยยังสามารถทำกิจกรรมรวมกลุ่มได้ เช่น การทำกิจกรรมทางศาสนา แต่ให้เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ อยู่ใกล้กลุ่มเสี่ยง 608

3

รักษาโควิดตามสิทธิประกันสุขภาพที่มี

เมื่อแนวโน้มการติดเชื้อเริ่มมีมากขึ้น คำถามต่อมาคือการจะรับบริการการรักษาโรคโควิด-19 จะต้องทำอย่างไร เมื่อมีการปรับมาตรการรองรับการเดินหน้าเข้าสู่โรคประจำถิ่นของโควิด-19?

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณาข้อเสนอการปรับหลักเกณฑ์ แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 กรณีปรับโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มิ.ย. 2565 ได้มอบหมายให้ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการดำเนินการรองรับการเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่น

สำหรับ ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ในครั้งนี้ มีมติเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์ แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 กรณีปรับโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยครอบคลุมเฉพาะหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยประกาศหลักเกณฑ์ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้  ยังคงมีบริการ OP Self Isolation หรือ เจอ แจก จบ ตามแนวทางของ สธ. ที่มีร้านขายยาเข้าร่วมโครงการ แต่ปรับเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทองเท่านั้น รวมถึงรวมถึงการแจก Antigen Test Kit ( ATK) ที่ร้านขายยาที่เดิมให้ประชาชนทุกสิทธิรักษาที่มีอาการ ปรับเป็นเฉพาะประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาทที่มีอาการเข้าข่ายต้องสงสัยติดโควิด-19 สามารถขอรับ ATK ได้ฟรีที่ร้านยาเพื่อตรวจด้วยตนเอง ส่วนสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ อยู่ระหว่างการหารือกันของหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าหลังปรับเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ยังจะให้ประชาชนตามสิทธิรักษาของตนมารับ ATK หรือยาที่ร้านยาได้หรือไม่ 

ส่วนนี้ทำให้ยังมีบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นการลอยแพผู้ป่วยหรือไม่? นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้ตอบเอาไว้ในวันเดียวกันว่า การปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาโควิด-19 ไม่ใช่การลอยแพประชาชน ผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิมตามสิทธิการรักษาของตน

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงแนวปฏิบัติผู้ติดเชื้อโควิด-19 “สิทธิประกันสังคม” มาตรา 33 และมาตรา 39 รองรับการเข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยระบุว่า กรณีมีอาการเข้าข่าย หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ ติดเชื้อโควิด-19 ตรวจ ATK ได้ ณ สถานพยาบาลประกันสังคม และสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการทั่วประเทศ

สำหรับผู้ที่ตรวจ ATK แล้วพบว่าขึ้น 2 ขีด นั้นในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาแบบ OP- Self Isolation “เจอ แจก จบ” ณ สถานพยาบาลประกันสังคม และสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐ และเอกชนทุกแห่ง นอกจากยังรวมคลินิกและร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ส่วนกรณีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในนั้น ผู้ประกันตนเข้ารักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ณ สถานพยาบาลประกันสังคม และสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สีเหลือง-แดง อาการ ได้แก่ หอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อก-โคม่า ซึมลง ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94 หากเข้าเกณฑ์คัดแยกผู้ป่วย สีเหลือง-สีแดง ใช้สิทธิ UCEP Plus ณ สถานพยาบาล ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อ้างอิงจาก
https://www.thansettakij.com/health/531888
https://www.thecoverage.info/news/content/3710
https://www.facebook.com/1607465964/posts/pfbid022bhPTUmEuNohEgxRoWzTiyJpETmfnHL3vSakqB71sxsDeBozog4TGGcnb2D14Bw8l/?d=n
https://www.facebook.com/photo/?fbid=350499013922935&set=a.243317307974440