ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ประชุมระดมสมองผู้เชี่ยวชาญ พัฒนา “ระบบข้อมูลสารสนเทศและดิจิทัลเทคโนโลยีของ สปสช.” 4 ด้าน สู่ยุคเทคโนโลยีและดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพเบิกจ่ายชดเชย รวดเร็ว ถูกต้อง ตรวจสอบได้ ลดภาระหน่วยบริการ พร้อมอำนวยความสะดวกบริการประชาชน ทั้งพิสูจน์ตัวตนการเข้ารับบริการและเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ รวมทั้งวางระบบ Big Data ดึงข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์


โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ - เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดการประชุมระดมสมอง “ทิศทางการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและดิจิทัลเทคโนโลยีของ สปสช. เพื่อการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในสถานการณ์ Technological Disruption and Digital Transformation” โดยมีผู้บริหารระดับสูง สปสช. ผู้บริหารด้าน IT-Digital จากหน่วยงานที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ และนักวิชาการ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิด้าน IT-Digital ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม อาทิ ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยรังสิต คณะแพทยศาสตร์ จาก รพ.รามาธิบดี, รพ.ศิริราช, กระทรวงสาธารณสุข บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) บริษัท กู๊ด ดอกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สำนักงานกองทุนวิจัยและเป็นที่ปรึกษา และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นต้น

1

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นระบบที่ดูแลคนไทยผู้มีสิทธิทั้งประเทศจำนวนกว่า 48 ล้านคน ทำให้เป็นระบบบริการขนาดใหญ่ การเชื่อมโยงบริหารจัดการและการดำเนินการในด้านต่างๆ เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมาก สปสช.จึงให้ความสำคัญในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามด้วยปัจจุบันที่ได้เข้าสู่ยุค Technological Disruption and Digital Transformation จำเป็นที่ สปสช.ต้องก้าวไปข้างหน้าเพื่อรองรับสถานการณ์นี้ ซึ่งนำมาสู่การประชุมระดมสมองฯ ในวันนี้   

ทั้งนี้ ทิศทางและการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล สปสช. มองภาพเดินหน้าอนาคต 2 ส่วน คือ ส่วนของหน่วยบริการที่เทคโนโลยีฯ ต้องเข้ามาสนับสนุนการเบิกจ่ายที่ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ลดภาระการเบิกจ่ายให้กับหน่วยบริการ แต่มีความถูกต้องและตรวจสอบได้โดยเร็ว ไม่เกิดเหตุการณ์ที่ต้องเรียกคืนเงินในภายหลังเช่นในอดีต เป็นต้น และในส่วนของผู้รับบริการที่มีความสะดวกเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์ตัวตนการเข้ารับบริการด้วยตนเอง มีระบบข้อมูลสุขภาพตนเองที่เข้าถึงได้ง่าย และการรับข้อมูลบริการสุขภาพที่เป็นประโยชน์ อย่างการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นต้น 
  
นอกจากนี้ด้วยความเป็นระบบหลักประกันสุขภาพหลักของประเทศ ทำให้ สปสช.เป็นศูนย์รวมข้อมูลสุขภาพในด้านต่างๆ ของประเทศ เรียกว่าเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้วย โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการทั่วประเทศ ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเอกชนรวม 22,548 แห่ง ที่ให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิ โดยจากข้อมูลแต่ละปีมีการให้บริการในระบบต่างๆ อาทิ ลงทะเบียนผู้มีสิทธิและเปลี่ยนหน่วยบริการ 52.5 ล้านครั้งต่อปี บันทึกข้อมูลเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ (e-Claim) 60.9 ล้านครั้งต่อปี บริการ Health Wallet (กระเป๋าสุขภาพ) ATK ธนาคารกรุงไทย 21.58 ล้านครั้งต่อปี ข้อมูลผู้ป่วยนอกและส่งเสริมป้องกันรายบุคคล 243.30 ครั้งต่อปี และบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Contact Center) 2.16 ล้านครั้งต่อปี โดยมีศูนย์คอมพิวเตอร์หลักและศูนย์คอมพิวเตอร์สำรองดำเนินการ 

2

3

สำหรับการประชุมระดมสมองฯ ในวันนี้ได้แบ่งประเด็นในการระดมความเห็นเป็น 4 ด้าน ดังนี้ 1. โครงสร้างพื้นฐานของระบบ (Infrastructure) เช่น ระบบคอมพิวเตอร์เครือข่าย โปรแกรมคำสั่ง (software) และอื่นๆ  2. ฐานข้อมูลการเรียกเก็บค่าบริการ (Database for claim) และระบบตรวจสอบ (Al for Audit) 3. แพลตฟอร์ม (Platform) หรือแอปพลิเคชัน (Application) ในการเรียกเก็บค่าบริการ 4. ฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการตรวจสอบ และการประเมิน (Big data for monitoring and evaluation) และการคืนข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์

“การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศและดิจิทัลเทคโนโลยีของ สปสช. วันนี้เราเปรียบเหมือนน้ำที่ยังไม่เต็มแก้ว ยังมีส่วนที่ว่างและต้องการเติมเต็ม แต่จะเหลือช่องว่างเท่าไหร่และต้องเติมในส่วนไหน เพื่อให้ระบบสมบูรณ์เพิ่มขึ้น สปสช.จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมให้ความเห็น รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มผู้ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย สปสช.จะนำมากำหนดทิศทางและแผนพัฒนาระบบของ สปสช.ต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand

4

5