ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ แนะ ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ควรหมั่นสังเกตอาการตนเอง หลังหายจากการติดเชื้อโควิด ชี้ อาจเกิดภาวะลองโควิด ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ลดลง หากมีอาการควรรีบพบแพทย์


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า มีการคาดประมาณว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยประชากรโลกที่เป็นโรค NCD มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ระบาดและมีการติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้น มีข้อมูลว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดแล้ว จะเหลืออาการที่เรียกว่าอาการเรื้อรัง เกิดได้กับหลายระบบในร่างกาย หรือเรียกว่า ลองโควิด (Long Covid) สามารถเกิดขึ้นได้ทุกกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากสุขภาพหรือโรคประจำตัว โดยเฉพาะคนที่มีความอ้วนและผู้หญิง จะมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคโควิดมากกว่า

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า อาการของลองโควิด จะคล้ายกับอาการของโรค NCD หลายโรค ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจอุดตันอุดกั้นเรื้อรังโรคที่มีผลต่อจิตใจและระบบประสาท มีอาการปวดทั่วๆ ไป อ่อนแรง หายใจเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ ใจสั่นหรือมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น การรับรู้ผิดปกติ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ปอดและสมองลดลง รวมถึงไต ตับ ตับอ่อน ม้าม ต่อมหมวกไตและทางเดินอาหาร อาจเกิดเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลหรือหลายอาการรวมกันเป็นแค่ชั่วคราวหรือระยะเวลานานหรือถาวร 

ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองล้า ภาวะพร่องทางระบบประสาทอัตโนมัติ ภาวะ Guillain – Barre Syndrome (ภาวะระบบประสาทส่วนปลายถูกทำลายด้วยภูมิคุ้มกันแบบเฉียบพลัน) โรคเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อเรื้อรัง และโรคนอนไม่หลับ ซึ่งต้องปรึกษาและรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทาง

รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมและวิจัยทางการแพทย์ 
โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน มะเร็ง ทางเดินหายใจอุดตันเรื้อรัง ต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะรักษาลองโควิดตามอาการเป็นหลัก ดังนั้นหากมีอาการแล้วพบแพทย์โดยเร็ว และตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยให้รู้ทันความผิดปกติที่เกิดขึ้น รักษาได้ทันท่วงที และดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมจากภาวะแทรกซ้อนของลองโควิด

1