ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีเสวนาวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก 2566 เผยความท้าท้ายในระบบสุขภาพ เช่น ประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น จำนวนผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ขยายตัว และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะสร้างภาระทางสุขภาพและงบประมาณในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ปัญหาเหล่านี้ยังมีทางออก เสนอยกระดับการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ ส่งเสริมการป้องกันโรคและการดูแลตัวเอง พร้อมเพิ่มคุณภาพการบริการ และนำพานวัตกรรมมาใช้ในระบบ

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมจัดเวทีเสวนา “The Global Outlook on Health and Well-being: What's Next for Universal Health Coverage?” หรือ “แนวโน้มสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ขั้นต่อไปของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคืออะไร?” 

อันเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล 2566 หรือ International Universal Health Coverage (UHC) ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ธ.ค. ของทุกปี เพื่อผลักดันให้นานาประเทศตระหนักถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดูแลสุขภาพประชากรในประเทศอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

1

ยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิ

ในระหว่างกาารเสวนา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เน้นย้ำ 3 ความท้าทายที่จะกระทบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1. งบประมาณด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น การดูแลประชากรสูงวัย อัตราการเกิดที่ลดลง การถดถอยของเศรษฐกิจ และราคาต้นทุนเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 2. ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพที่ส่งผลต่อการเข้าถึงระบบสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบาง และ 3.  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะเพิ่มภาระทางสุขภาพและการเงินในอนาคต

นพ.จเด็จ เสนอว่า การรับมือความท้าทายนี้ ต้องยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิ บริการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ และส่งเสริมการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณด้านสุขภาพและความกดดันต่อระบบในระยะยาว

"เราเชื่อว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่มีระบบสุขภาพปฐมภูมิ จะไม่สามารถอยู่ยืนยาว เราต้องพัฒนากลยุทธ์และแนวทางที่ทำให้เกิดระบบสุขภาพปฐมภูมิแนวรุก มีส่วนร่วม และมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ บอกอีกว่า สปสช. รับผิดชอบดูแลโครงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ซึ่งดูแลสุขภาพประชากรมากกว่า 47 ล้านคน โดยเดินหน้าขยายความครอบคลุมและยกระดับสิทธิประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาโครงการล่าสุด เช่น การขยายบริการเทเลเมดิซีนให้คนไทยในต่างประเทศ สามารถเข้ารับบริการปรึกษาแพทย์ในประเทศไทย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นอกจากนี้ สปสช. ยังมีแนวทางส่งเสริมการดูแลตัวเอง การตรวจและเก็บตัวอย่างเชื้อด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นแนวทางที่ทดลองใช้ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 และพบว่าช่วยเพิ่มความเร็วการเข้าถึงบริการ และลดความแออัดของโรงพยาบาล

เวย ฮาน (Wei Han) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านสุขภาพ สารอาหาร และประชากร ประจำธนาคารโลก (World Bank) สำนักงานเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ให้ความเห็นในระหว่างการเสวนาว่า คุณภาพการบริการสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในการเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิ 

ฮาน ยังเน้นความจำเป็นในการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพ เพราะมีบทเรียนมาแล้วจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประชากรในกลุ่มชายขอบมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น รวมถึงการทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรพิจารณาการจัดการเชื้อดื้อยา ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มภาระทางงบประมาณในอนาคต ปัจจุบันมีผู้ป่วยเสียชีวิตโดยตรงจากเชื้อดื้อยามากกว่า 1 ล้านรายต่อปี และทางอ้อมอีก 6 ล้านรายต่อปี 

4

รับฟังเสียงกลุ่มประชากรเปราะบาง

ทางด้าน ศิริรัฐ ชุณศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย กล่าวว่า การบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องรับฟังเสียงของเด็กและเยาวชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพหลายประการ หนึ่งในตัวอย่างคือโรคจากมลพิษทางอากาศ ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ กระทบต่อพัฒนาการทางสมอง และรบกวนการศึกษาเมื่อโรงเรียนต้องปิดตัวชั่วคราวเพราะปัญหาดังกล่าว 

ส่วนในด้านสุขภาพจิต การสำรวจขององค์การยูนิเซฟพบว่า เยาวชนไทย 1 ใน 7 มีปัญหาสุขภาพจิต ขณะที่เด็กและเยาวชนมีภาวะโรคอ้วนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อระบบหลักประกันสุขภาพในระยะยาว หากไม่มีการจัดการเรื่องนี้ 

“หากเราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง เราต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน ถ้าเรายังไม่ฟังเสียงกลุ่มประชากรบางกลุ่ม เช่น คนรุ่นใหม่ ในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราก็ต้องเริ่มฟังตังแต่วันนี้” ศิริรัฐ ระบุ

นพ.จักรภัทร บุญเรือง นักวิจัยแพทย์จาก มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) บอกว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยยังมีช่องโหว่สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ต้องการเข้าถึงการบริการ โดยแม้ระบบมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี เช่น ยาต้านไวรัส แต่ก็ยังเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี นี่เป็นเครื่องสะท้อนช่องว่างการเข้าถึงบริการ

ยกตัวอย่างเช่น คลินิกของรัฐบาลบางแห่งเปิดให้บริการด้านเอชไอวีเพียงสองวันต่อสัปดาห์ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ทันที ทั้งๆ ที่มีสิทธิประโยชน์พร้อมอยู่แล้ว อีกทั้งการตีตราผู้ป่วยเอชไอวียังคงเป็นความท้าทายที่แก้ไม่ขาด เช่น ที่ทำงานหลายแห่งยังคงบังคับตรวจเชื้อเอชไอวีพนักงานก่อนรับเข้าทำงาน ขณะที่สถาบันการศึกษายังไม่เปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่พูดคุยเรื่องเพศสัมพันธ์ ทำให้ขาดความรู้เรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

“เราอยากเห็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตอบรับความต้องการของประชากรเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี หากเราต้องการติดตามสุขภาพพวกเขา เราต้องรับฟังเสียงพวกเขาให้มากขึ้น

“เราต้องถามว่าพวกเขาต้องการอะไรในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ชุมชนกลุ่มต่างๆ ในไทยสามารถจัดการตัวเองได้ เราต้องเชื่อว่าพวกเขามีพลัง และระบบต้องเข้าไปสนับสนุนพวกเขา” นพ.จักรภัทร เผย

4

นำระบบสุขภาพด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

นพ.ซิน โก โก ลอน (Zin Ko Ko Lynn) นักปฏิบัติด้านยาเสพติดและสุขภาพจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) สำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ให้ความเห็นว่า ผู้ใช้สารเสพติดเป็นอีกกลุ่มผู้ป่วยหนึ่งที่ต้องการเข้าถึงบริการสุขภาพ

เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยพึ่งพายาและสารเสพติดเกี่ยวพันกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในปี 2564 มีผู้ใช้ยาประมาณ 400 ล้านคน แต่มีเพียง 1 ใน 5 ที่เข้าถึงการรักษา ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยที่สุด มีเพียง 27% ของผู้ใช้ยาเพศหญิงที่เข้าถึงการรักษา 

“เราต้องทำให้การรักษาและการป้องกันการเสพติดยาเข้าถึงได้ง่าย ใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการบริการ ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นจุดเด่นของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย” นพ.ลิน กล่าว

ด้าน นศพ.ศุภานัน เจนธีรวงศ์ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย เสนอให้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มากขึ้น 

เช่นเดียวกับ ศิริรัฐจากองค์การยูนิเซฟ ซึ่งเชื่อว่าเทคโนโลยีอย่างสุขภาพดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มประชากรเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวีและผู้ใช้สารเสพติด ซึ่งต้องการทางเลือกในการเข้าถึงระบบสุขภาพที่ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล