ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาสุขภาพอันดับต้นของสังคมในขณะนี้ ไม่ใช่โควิด-19 แต่เป็นโรคจากพฤติกรรรมทางสุขภาพ หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

หนึ่งในบทสรุปที่ทำให้เห็นภาพนี้ชัดเจนขึ้น คือ "การสำรวจภาวะสุขภาพโดยการตรวจร่างกาย" ครั้งที่ 6 ประจำปี 2562-2563 โดย ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร และคณะ

งานนี้เป็นการสำรวจระดับประเทศ ที่ช่วยเฝ้าระวังสภาวะทางสุขภาพประชาชนไทย โดยได้ทำการสำรวจทั้งในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ ภาวะโรคที่สามารถตรวจวัดพื้นฐาน ครอบคลุมทั้งในวัยทำงาน และผู้สูงอายุ

ภาพที่เห็นคือปัญหาพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนไทย ยังคงมีแนวโน้มที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การมีกิจกรรมทางกาย และการรับประทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ  

สำหรับผลการสำรวจได้พบว่า แม้สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปจะลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจ ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2557 โดยลดลงจาก 31.1% เป็น 29.5% และสัดส่วนของคนที่ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ก็ลดลงจาก 72.6% เป็น 69.9% แต่กลับพบว่าเริ่มมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและวัยแรงงาน 

การสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การดื่มสุราที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วง 12 เดือน มีจำนวนผู้ดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจาก 38.9% เป็น 44.6% โดยถ้าจำแนกตามเพศ จะพบว่าเพศชายดื่มสุราเพิ่มขึ้นจาก 55.9% เป็น 59% ขณะที่เพศหญิงดื่มเพิ่มขึ้นจาก 23% เป็น 31%

ขณะที่สถานการณ์การดื่มสุราอย่างหนัก (binge drinking) ในช่วงเวลา 30 วัน ก็มีจำนวนผู้ดื่มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจาก 10.9% เป็น 12.9%

ในด้านสัดส่วนของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ก็สูงถึง 30.9% เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 5 จะพบว่ามีสัดส่วนของคนที่มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ถ้าจำแนกตามเพศ จะพบว่าเพศชายมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอเพิ่มขึ้นจาก 18.4% เป็น 28.9% ส่วนเพศหญิงมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 32.7%

ขณะเดียวกันถ้าจำแนกตามกลุ่มอายุ จะพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอสูงสุดที่สุด คือถึง 43.4% ในกลุ่มอายุ 70-79 และ 61.4% ในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป

สำหรับการมีกิจกรรมเพียงพอตามข้อแนะนำนี้ หมายถึงการมีกิจกรรมทางกายตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป มากกว่าวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน โดยแบ่งสัดส่วนเวลาที่ใช้ในการมีกิจกรรมทางกาย ทั้งจากการทำงาน จากการเดินและขี่จักรยาน และจากกิจกรรมทางกายยามว่าง

พร้อมกันนี้การสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า การรับประทานผักผลไม้ตามข้อแนะนำ (≥5 ส่วนขึ้นไป/วัน) มีสัดส่วนลดลง เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 5 โดยลดลงจาก 25.9% เป็น 21.2%

หากแบ่งแยกตามกลุ่มอายุ จะพบว่าสัดส่วนของการรับประทานผักผลไม้ตามข้อแนะนำจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยกลุ่มอายุ 15-59 ปี มีการรับประทานผักและผลไม้เพียงพอ 18.9-23.3% แต่สัดส่วนนี้ลดลงในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และลดลงต่ำสุดในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่งเหลือเพียง 16.5%

ผลการสำรวจนี้จึงชี้ให้เห็นว่า ภาวะสุขภาพและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรค NCDs ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นเท่าที่ควร จึงเป็นงานที่ท้าทายและต้องมีการดำเนินการให้เข้มข้นมากขึ้นต่อไป