ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ระบาดวิทยาระบุ แม้สถิติการติดเชื้อโควิด-19 รายวันของไทย “ติดท็อปโลก” แต่ข้อมูลสะท้อนภาพรวมยาก ด้วยบริบทปัจจัย-ศักยภาพของแต่ละประเทศแตกต่างกัน แนะไม่ต้องให้ความสำคัญกับตัวเลขการติดเชื้อมากเกินไป แต่ให้ดู “ยอดเสียชีวิต” เพื่อสะท้อนสถานการณ์จริง


.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า จำนวนการติดเชื้อโควิด-19 ในไทย แม้จะมีแนวโน้มลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ แต่หากเทียบในระดับโลกก็ยังคงอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวันสูงอยู่ อย่างไรก็ดีสถิติเหล่านี้สะท้อนอะไรได้ยาก เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน อาทิ การตรวจหาเชื้อ เครื่องมือที่ใช้ตรวจ การเข้าถึงการตรวจ ขนาดของภูมิประเทศ ศักยภาพในการตรวจเชื้อ ความกังวลต่อโรค ฯลฯ จึงยากที่จะนำมาเทียบและประเมิน

“อย่าให้ความสำคัญกับการดูสถิติผู้ติดเชื้อมากเกินไป แต่ให้ดูจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ เพื่อประเมินให้เข้าใจสถานการณ์โดยรวม เพราะความสำคัญคือมีผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวในโรงพยาบาล และผู้เสียชีวิตมากเกินกว่าที่จะรองรับหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มองว่าสำหรับประเทศไทย ยังไม่มีสถานการณ์ที่มากจนถึงกับวิกฤต” ศ.นพ.วีระศักดิ์ ระบุ

ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ประชาชนควรเข้าใจว่าสถานการณ์หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป โดยครั้งหนึ่งรัฐบาลเคยใช้มาตรการเข้มงวดมาก แต่ขณะนี้ก็มีการผ่อนคลายมาเรื่อยๆ หากพบการติดเชื้อและมีอาการไม่รุนแรงก็ดำเนินตามมาตรการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งสถานการณ์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์นั้น เช่น หากเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อก็ควรที่จะต้องเฝ้าระวัง เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่อาจเพิ่มสูงขึ้นบ้าง แต่ไม่มาก และจะลดลงตามลำดับ สอดคล้องลักษณะทั่วไปของการระบาด และจะสังเกตได้ว่าบางพื้นที่จำนวนผู้ติดเชื้อก็เริ่มลดลงแล้ว จึงอยากให้ทุกคนไม่ต้องกังวลมาก ส่วนในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถึงตอนนี้นค่อยมาวางแผนรับมือกันใหม่

อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังควรที่จะต้องดูแลและป้องกันตนเองตามมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบ 3 เข็มในผู้สูงอายุ เพราะมีข้อมูลจากหลายจังหวัดที่พบว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพป้องกันการเสียชีวิตได้มากถึง 80%

ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า แม้ก่อนหน้านี้จะมีการคาดการณ์เอาไว้ว่าหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาจมียอดผู้ติดเชื้อสูงถึงวันละ 1 แสนคน หากแต่ขณะนี้ตัวเลขก็ยังไม่ได้ขึ้นสูงเหมือนที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี และชี้ให้เห็นว่าก่อนช่วงสงกรานต์ คนไทยส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานในระดับนึงแล้ว แต่มีมากเท่าไรนั้นไม่อาจรู้ได้ เพราะแต่ละพื้นที่เองก็มีภูมิไม่เท่ากัน ซึ่งภูมิต้านทานที่ตรวจด้วยเลือด และภูมิต้านทานที่อยู่ในร่างกายก็จะคนละชนิดกัน แต่มีความสัมพันธ์กัน

“ด้วยปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ เช่น การเลิกจำกัดการเดินทาง การเปิดกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น ส่วนตัวจึงคิดว่าน่าจะเปิดประเทศได้แล้ว เพราะในทั่วโลกไม่มีประเทศไหนที่ระบาดร้ายแรงและจะนำเชื้อที่ร้ายแรงเป็นพิเศษมาให้ แต่ขณะนี้อาจมีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่า ส่วนเมื่อเปิดประเทศแล้วนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะให้การตอบรับขนาดไหน ก็ค่อยมาดูอีกที” ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ ระบุ

ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้หลายประเทศก็มีมาตรการในการควบคุมนักท่องเที่ยวของตนเอง รวมถึงหากเปิดรับการเดินทางเข้ามาภายในประเทศไทย แล้วเกิดการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ก็อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของชาวต่างชาติที่จะมาเยือนที่ไทยอีกด้วย ดังนั้นการเปิดประเทศก็ควรมีมาตรการในการควบคุมอย่างเหมาะสม และไม่ละหลวมจนเกินไปด้วยเช่นกัน

ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความพร้อมภายในประเทศเรื่องการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้มีโรคแทรกซ้อน ก็ต้องมีการกระจายให้ครอบคลุมมากที่สุด ส่วนหน้ากากอนามัยยังจำเป็นที่จะต้องสวมอยู่ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันโควิด-19 แล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันโรคอื่นๆ ที่ติดต่อโดยทางเดินหายใจ เช่น โรคไซนัสอักเสบ ฯลฯ ส่วนการตรวจด้วย Antigen-Test Kit (ATK) ก็ยังคงตรวจตามความจำเป็น