ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“โรงพยาบาลสิชล” ยกระดับบริการ เพิ่มห้องผ่าตัดอีก 6 ห้อง รวมเป็น 13 ห้อง บวกห้องสวนหัวใจ-เอ็กซ์เรย์หลอดเลือด เสริมศักยภาพรักษาโรคซับซ้อน


นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า โรงพยาบาลสิชลได้ยกระดับการให้บริการ ด้วยการสร้างอาคารแห่งใหม่ 1 หลังสำหรับการผ่าตัด มีจำนวน 6 ชั้น ประกอบด้วยห้องผ่าตัดระดับมาตรฐาน 6 ห้อง (รวมเป็น 13 ห้อง) และห้องสวนหัวใจและเอ็กซ์เรย์หลอดเลือดอีก 1 ห้อง โดยคาดว่าอีกประมาณ 2 เดือนจะสามารถเปิดให้บริการส่วนนี้ได้

“การยกดับนี้จะช่วยประชาชนได้อย่างมาก ไม่ต้องรอคิวยาว และสามารถรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกล ประหยัดค่าใช้จ่ายแฝง รวมถึงช่วยลดการแออัดที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างไกลถึง 90 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราอยากจะทำ โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์หลายสาขาเป็นอย่างดีที่มาร่วมกันขับเคลื่อน” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล กล่าว

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นไปเพื่อให้ประชาชนไม่ต้องรอคิวการรักษานาน และรองรับการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงแพทย์ได้พัฒนาศักยภาพตนเองได้อย่างไม่มีข้อจำกัด โดยโรงพยาบาลได้วางแผนในการพัฒนาในส่วนนี้ ผ่านการใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลสร้างอาคารผ่าตัดเฉพาะขึ้นใหม่หนึ่งหลัง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการลดช่องว่างการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 จนกระทั่งตอนนี้ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วเหลือเพียงตกแต่งปรับปรุงห้อง และจัดหาเครื่องมือแพทย์มาเพิ่ม
 
ทั้งนี้ เดิมโรงพยาบาลสิชลเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีขนาดเตียงรองรับผู้ป่วยได้ 150 เตียง จากนั้นได้พัฒนามาเป็นโรงพยาบาลทั่วไปในปี พ.ศ.2558 ซึ่งมีห้องผ่าตัดเพียง 5 ห้อง และในจำนวนนี้มี 1 ห้องที่อยู่ในโซนห้องฉุกเฉิน ซึ่งไม่สามารถใช้ร่วมกับผู้ป่วยทั่วไปได้ อีกทั้งช่วงโควิดต้องใช้อีกหนึ่งห้องเพื่อแยกรักษาโดยเฉพาะ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้วทางโรงพยาบาลสามารถยกระดับจาก 200 เตียงมาเป็น 300 เตียงได้สำเร็จ รวมถึงล่าสุดมีการเพิ่มขึ้นเป็น 400 เตียง เพื่อยกระดับบริการของโรงพยาบาลให้เป็นระดับ s
 
นพ.อารักษ์ บอกต่อไปว่า จากการสื่อสารเกี่ยวกับการยกระดับของโรงพยาบาล และการมีศักยภาพในการรักษาโรคที่ซับซ้อนได้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ทำบ่อย แต่เมื่อประชาชนได้รับรู้ สามารถบอกได้เลยว่าประชาชนมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นอย่างมากว่าสามารถเป็นที่พึ่งของพวกเขาได้ สอดคล้องกับปริมาณของผู้ที่เข้ามาติดต่อสอบถาม และมาใช้บริการที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากเดิมค่อนข้างมาก
 
นพ. อารักษ์ กล่าวว่า การพัฒนายกระดับโรงพยาบาลมีนัยยะของการพัฒนาบุคลากรด้วยเป็นสำคัญ เพราะการยกฐานะของโรงพยาบาลไม่ได้ทำให้ได้รับงบประมาณเพิ่มแต่อย่างใด แต่สิ่งสำคัญที่คาดหวังคือการที่แพทย์สามารถพัฒนาต่อยอดความรู้ความสามารถได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และได้แสดงศักยภาพในการรักษาโรคอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่สุดด้วยเช่นกัน