ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หญิงท้องแก่อายุครรภ์ประมาณ 34 สัปดาห์ ยังไม่ครบกำหนดคลอด ติดเชื้อโควิด-19 และอาการแย่ลงเรื่อยๆ เธอปอดบวม เชื้อลงปอด สัญญาณชีพต่ำ และค่าออกซิเจนในเลือดต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากต้องใช้ออกซิเจนไปเลี้ยงทารกในครรภ์

ส่วนทารกน้อยในครรภ์ของเธอ แพทย์ตรวจพบว่าดิ้นน้อยลง แต่อัตราการเต้นของหัวใจกลับสูงถึง 200 ครั้งต่อนาที มีความเป็นไปได้ว่า “ขาดออกซิเจน” จากมารดาที่มีภาวะปอดบวม

โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช จึงต้องเปิดปฏิบัติการ “นาทีชีวิต” อีกครั้ง

“หลังจากทราบรายงาน ทีมแพทย์ตัดสินใจผ่าเอาเด็กออกมาทันที” นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สิชล จ.นครศรีธรรมราช เล่า

“ขณะนั้นเราวัดค่าออกซิเจนในเลือดของมารดาแล้วพบว่ามีค่าต่ำลง คือจาก 98 เหลือ 86 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสัญญาณชีพทารกในครรภ์พบอัตราการเต้นหัวใจสูง และดิ้นน้อยลง เป็นสัญญาณที่ไม่ดี หากทิ้งไว้ต่อไปมีโอกาสเสียชีวิตสูง แม่จะรอดหรือไม่รอดเป็นนาทีชีวิต เราต้องเต็มที่ และพยายามจะให้เด็กรอดให้ได้” นพ.อารักษ์ ระบุ

แม้ว่าหญิงตั้งครรภ์รายนี้จะป่วยด้วยโควิด-19 ต้องระดมทีมแพทย์ขนาดใหญ่กว่า 30 ชีวิต ประกอบด้วย สูติแพทย์ กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ พยาบาลช่วยผ่าตัด และพยาบาลวิสัญญี พร้อมใจกันปฏิบัติการอย่างไม่มีบ่ายเบี่ยง แม้จะอ่อนล้าจากการต่อสู้โควิดมาร่วม 5 เดือน ตั้งแต่เริ่มระบาดหนัก เวลาพักผ่อนแทบไม่มี ถูกกักตัวหลายรอบ บางรายติดเชื้อไปแล้วจากการปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยโควิด

นพ.อารักษ์ เล่าว่า ระหว่างการผ่าตัดวิสัญญีแพทย์เริ่มวางสลบ ให้น้ำเกลือเพื่อควบคุมความดันให้คงที่ และให้ยากระตุ้นความดันเนื่องจากความดันของมารดาเริ่มต่ำลง ขณะเดียวกันทีมสูติแพทย์ต้องเร่งทำการผ่าตัดนำเด็กทารกในครรภ์โดยใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ก่อนทารกจะเสียชีวิตในครรภ์

“ระหว่างผ่าตัดต้องปิดเครื่องปรับอากาศชั่วคราว เนื่องจากไม่ต้องการให้อุณหภูมิทารกต่ำเกินไป เสี่ยงต่อการหายใจของทารกมีปัญหา ทีมแพทย์ต้องใส่ชุด PPE สวมทับชุดผ่าตัด และทำการผ่าตัดแข่งกับเวลา โดยจบปฏิบัติการครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 15 นาที ในการตรวจสอบ-เช็กอุปกรณ์ผ่าตัดในช่องท้อง ซึ่งถือเป็นวินาทีชีวิต เป็นปฏิบัติการที่รวดเร็วมาก” นพ.อารักษ์ ระบุ

นพ.อารักษ์ บอกว่า การปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาด โดยทีมแพทย์ใช้เวลา 30 นาทีในการปรึกษาเพื่อตัดสินใจช่วยชีวิตผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากมารดาติดเชื้อโควิดร่วมกับการตั้งครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตทั้งมารดาและทารกในครรภ์

“การปฏิบัติการครั้งนี้มีการเรียกทีมแพทย์-พยาบาลที่อยู่ในระหว่างกักตัวกลับมาปฏิบัติการอีกครั้ง โดยระดมทีมบุคลากรทางการแพทย์ถึง 30 คน เพื่อทำให้การผ่าตัดช่วยเหลือทั้ง 2 ชีวิต เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด แม้ไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็พร้อมที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ ต่อจากนี้ต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อให้ทั้งคู่ปลอดภัย นพ.อารักษ์ ระบุ

สำหรับอาการของมารดาขณะนี้ยังทรงตัวและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นตรวจสอบค่าออกซิเจนในเลือดพบ 94 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีการผ่าตัดนำทารกออกจึงทำให้ลดภาวการณ์ใช้ออกซิเจนของมารดา

ในส่วนของทารกยัง ต้องให้ออกซิเจน ใส่สายสวนน้ำเกลือเพื่อให้นำ และยาต้านเชื้อ พร้อมเฝ้าระวังการหายใจล้มเหลวและการติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากเด็กคลอดก่อนกำหนด

ถือเป็นปฏิบัติการที่ทุกคนภาคภูมิใจ ได้ช่วยเหลืออีกสองชีวิตให้พ้นวิกฤติจากการติดเชื้อโควิดอีกครั้ง

แม้จะเสี่ยงมาก แต่บุคลากรโรงพยาบาลสิชลก็ทำตามหน้าที่อย่างสุดความสามารถ รักษาไว้ซึ่งชีวิตประชาชนคือหัวใจสำคัญ

ขอคาราวะหัวใจ