ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สิชล ปฏิบัติการช่วยชีวิตเด็กติดโควิด-19 หลังเกิดอุบัติเหตุ ม้าม-ตับแตก-เสียเลือดมาก ระดมทีมแพทย์เกือบ 20 ชีวิต ให้ความช่วยเหลือทันที


นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงเหตุการณ์อุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ จนทำให้ครอบครัวผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 4 ราย ที่อยู่ระหว่างการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) กลับมารักษาตัวที่ จ.นครศรีธรรมราช ตามภูมิลำเนา โดยบิดา-มารดาได้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนบุตรชายคนโต อายุ 14 ปี มีอาการสาหัส ม้ามแตก ตับแตก เสียเลือดเป็นจำนวนมาก ขณะที่บุตรชายคนเล็กอายุ 10 ปี กระดูกหัวไหล่หัก

ทั้งนี้ ทีมโรงพยาบาลสิชล ได้เข้าช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ร่วม 20 ชีวิต ให้การช่วยเหลือ โดยล่าสุดผู้ประสบอุบัติเหตุทั้งสองรายปลอดภัยแล้ว แต่ทีมแพทย์ต้องกักตัวทั้งหมด

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า หลังครอบครัวผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 4 ราย ประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำระหว่างเดินทาง ทางโรงพยาบาลสิชลก็ได้รับการประสานงานจากที่เกิดเหตุ จึงได้เตรียมพร้อมเข้าปฏิบัติการ แต่ทว่าในขณะนั้นเด็กยังมีสติ และแจ้งกับทีมช่วยเหลือว่าติดโควิด-19 จึงทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีการช่วยเหลือทันที 

ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล พบว่าเด็กชายคนโตเสียเลือดมาก ชีพจรเบา และแพทย์ไม่สามารถวัดความดันได้ จึงนัดสินใจแทงน้ำเกลือและเปิดแผลเพื่อผ่าตัดทันที โดยต้องนำผู้ป่วยใส่แคปซูลเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ขณะเดียวกันหัวหน้าทีมปฏิบัติการแพทย์เวชกิจฉุกเฉินประสานงานกับแพทย์ศัลยกรรมและแพทย์ดมยาเพื่อเตรียมผ่าตัด
 
“ในขณะนั้นเด็กมีโอกาสรอดน้อยมาก ถ้ารอช้าหรือกังวลว่าทีมจะติดเชื้อโดยไม่เสี่ยงเข้าไปช่วย เด็กเสียชีวิตแน่นอน นาทีนั้นทีมแพทย์สั่งปฏิบัติการว่าทำให้ดีที่สุดโดยไม่ต้องพร้อมที่สุด ดีที่สุดคือเตรียมความตัวให้ดีในระดับหนึ่ง พร้อมที่สุดคือต้องวางแผน เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูการบาดเจ็บภายใน” นพ.อารักษ์ กล่าว
 
นพ.อารักษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อถึงห้องผ่าตัดปรากฏว่าเด็กเสียเลือดมากถึง 1,500 CC ซึ่งถือว่าเสียเลือดมากสำหรับเด็ก แต่ทางโรงพยาบาลมีเลือดสำรองทำให้สามารถให้เลือดทันเวลา ขณะการผ่าตัดแพทย์จำเป็นต้องปั๊มเลือดตลอดเวลาเพื่อทันกับเลือดที่เสียออกไป โดยทีมแพทย์จำเป็นต้องดูดเลือดให้ได้มากที่สุด
 
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดครั้งนี้พบว่าม้าม-ตับของผู้ป่วยแตก ลำไส้ช้ำแต่ไม่ถึงขั้นทะลุ และมีเลือดออกที่เยื่อบุช่องท้อง แพทย์จึงทำการตัดม้ามทิ้งเนื่องจากไม่สามารถเย็บซ่อมได้ โดยในกรณีนี้ต้องอาศัยความชำนาญ-เทคนิคพิเศษจากแพทย์ในการใส่ท่อเนื่องจากผู้ป่วยเพิ่งรับประทานอาหารได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งการปฏิบัติการครั้งนี้จึงต้องใช้แพทย์ศัลยกรรมที่มีประสบการณ์สูง เนื่องจากการใส่ท่อต้องระวังไม่ให้สำลักเนื่องจากเป็นผู้ป่วยโควิด-19
 
“สำหรับปฏิบัติการครั้งนี้เราใช้ทีมบุคลากรทางการแพทย์เกือบ 20 คน และใช้เวลา 30 นาทีหลังจากผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด เรารอไม่ได้ต้องรักษาชีวิตก่อน ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยมีการปลอดภัย 80% ถ้าไม่มีการติดเชื้อหรือมีภาวะแทรกซ้อน แต่ยังต้องดูแลเรื่องสภาพจิตใจเพราะเด็กยังไม่ทราบว่าผู้ปกครองเสียชีวิต” นพ.อารักษ์ ระบุ
 
นพ.อารักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการปฏิบัติของทีมแพทย์ค่อนข้างมีความลำบากเนื่องจากต้องใส่ชุด PPE ทับชุดผ่าตัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ขณะเดียวกันระหว่างผ่าตัดจำเป็นต้องเบา-ปิดแอร์ในบางช่วงเนื่องจากกังวลว่าผู้ป่วยจะมีอุณหภูมิร่างกายต่ำ โดยการปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติการที่เสี่ยงที่สุด และเป็นการตัดสินใจที่เด็กขาดของแพทย์ แต่ก็ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจ ซึ่งส่วนตัวเป็นผู้กำกับ-สังเกตการณ์ เผ้าหน้าห้องผ่าตัดในการปฏิบัติการครั้งนี้ เนื่องจากการช่วยผู้ป่วยต้องไม่เกิดความลังเลจึงจำเป็นต้องมีผู้สั่งการในภาวะวิกฤต
 
“ผมให้นโยบายว่าถึงวันนี้การปฏิบัติการทุกอย่างต้องทำให้ได้เกือบ 100% ในทุกปฏิบัติการ เพราะโรงพยาบาลศูนย์ไม่สามารถจะรับผู้ป่วยได้แล้ว ฉะนั้นเราต้องซักซ้อม วางแผนเพื่อให้ทำได้มากที่สุด และผู้ป่วยต้องปลอดภัยที่สุด ถ้าไม่ซ้อมเมื่อเจอเหตุการณ์จริงจะทำไม่ได้” นพ.อารักษ์ กล่าว