ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการ รพ.สิชล ชี้แจงผู้กล่าวหารับทำ Home Isolation เพราะหวังเงินค่าหัวกว่า 200 ล้าน เผยเข้าร่วมช่วงวิกฤต กทม. ช่วย สปสช.รับผู้ป่วยตกค้าง-หาเตียงไม่ได้ ชี้บิดเบือนข้อเท็จจริงทำบุคลากรที่ช่วยงานเสียความรู้สึก


นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้โจมตีโรงพยาบาลด้วยข้อมูลในลักษณะที่ว่าเข้ามารับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวนมากกว่า 1 หมื่นคน แบบ Home Isolation (HI) เพราะหวังได้เงินค่าหัววันละ 1,000 บาทต่อราย รวมทั้งสิ้นกว่า 200 ล้านบาท โดยระบุว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงในลักษณะนี้และทำให้บุคลากรที่ทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยเสียความรู้สึก ทั้งที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รักษา ทำให้ไม่ป่วยหนัก และรอดชีวิตเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่ รพ.สิชล เข้ามารับดูแลทำ HI กับผู้ป่วยใน กทม. เนื่องจากขณะนั้นมีการระบาดโควิด-19 รุนแรงใน กทม. เกิดปรากฏการณ์ประชาชนหาที่ตรวจเชื้อไม่ได้ ผู้ป่วยหาเตียงไม่ได้ มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตที่บ้าน และมีผู้โทรเข้าสายด่วน 1330 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นจำนวนมาก ซึ่ง สปสช.หาเตียงได้ส่วนหนึ่งแต่ก็น้อยมาก ขณะที่อีกส่วนให้เข้า HI โดยมีโรงพยาบาลมาจับคู่กับผู้ป่วย แต่ขณะนั้นก็ไม่มีโรงพยาบาลใดรับผู้ป่วยตกค้างกลุ่มนี้เข้า HI ทำให้มีผู้ป่วยตกค้างที่ยังไม่มีหน่วยบริการดูแลนับหมื่นคน

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า แม้ สปสช.ไม่อาจนิ่งนอนใจทนเห็นประชาชนเจ็บป่วยล้มตายไม่มีที่พึ่ง แต่จะดำเนินการเองก็ไม่ได้ จึงต้องหาโรงพยาบาลสักแห่งมาจับคู่กับผู้ป่วยก่อนเป็นการชั่วคราว แต่พยายามหาโรงพยาบาลหลายแห่งแล้วไม่มีที่ไหนรับ จนในที่สุดก็ประสานมาที่ รพ.สิชล ว่าจะรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ก่อนได้หรือไม่ เพื่อที่ สปสช.จะได้ใช้โรงพยาบาลเป็นฐานในการส่งยาและส่งอาหารไปให้ในเบื้องต้นก่อน

"ช่วงนั้นฉุกละหุกมาก เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องความเป็นความตายของประชาชน เอาชีวิตผู้ป่วยให้รอดก่อน ถ้า รพ.สิชลไม่รับ คนเหล่านี้ก็จะนอนอยู่ที่บ้าน ขาดคนดูแล ไม่มียาและลำบากในการหาอาหาร และโครงการนี้ก็เป็นการริเริ่มจาก สปสช. ซึ่งทนเห็นประชาชนไร้ที่พึ่งและล้มตายไม่ได้ รพ.สิชลก็ไม่ได้ทำเพื่อหวังเงินค่าหัวตามที่กล่าวหาแต่อย่างใดทั้งสิ้น เป็นที่น่าเสียใจที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงเหล่านี้" นพ.อารักษ์ กล่าว

นพ.อารักษ์ กล่าวอีกว่า เมื่อตกลงรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้แล้ว รพ.สิชล จึงได้ตั้งทีมกว่า 100 คนมาทำงานร่วมกับ สปสช. ซึ่งรายชื่อผู้ป่วยตกค้างล็อตแรกที่ สปสช.ส่งมาให้ในตอนแรกนั้นมีประมาณ 1 หมื่นคน มีข้อมูลเพียงชื่อ นามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น แต่ไม่มีข้อมูลอื่น ทางโรงพยาบาลจึงทำการสื่อสาร ตรวจสอบยืนยันตัวตน สถานที่อยู่ และอาการ โดยใช้วิธีส่งข้อความแจ้งทาง SMS เพื่อให้คนไข้ยืนยันกลับมาว่ายินดีจะร่วมเข้า HI กับ รพ.สิชล หรือไม่ ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่ตอบกลับมาจริงๆ เหลือประมาณ 6,000 คน ต่ำกว่าตัวเลขที่ให้มาเป็นจำนวนมาก 

ขณะเดียวกันเมื่อผู้ป่วยตอบรับเข้า HI กับโรงพยาบาลแล้ว ทั้งทีมของ สปสช.และทีมของ รพ.สิชล ก็โทรติดต่อผู้ป่วย สอบถามที่อยู่และประเมินว่าใครจำเป็นต้องได้ยาฟ้าทะลายโจร ใครจำเป็นต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์ แล้วจัดส่งยาและโค้ดสำหรับสั่งอาหารให้ โดยการดูแลแนะนำก็ได้ทำผ่านทั้งช่องทาง Line OA, SMS และการโทรศัพท์ ซึ่งในส่วนของการโทรจะพยายามเน้นคนที่มีอาการค่อนข้างมากแล้วให้แพทย์ประสานเป็นรายคน

"พอ รพ.สิชล รับคนไข้ไปดูแลได้ประมาณ 4-5 วัน ก็เริ่มมีหน่วยบริการอื่นๆ ในพื้นที่ กทม. เข้ามารับผ่องถ่ายคนไข้รายใหม่ไปดูแล ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลก็ไม่ได้รับผู้ป่วยตกค้างเข้ามาดูแลนานกว่า 10 วันแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยที่ดูแลอยู่ในขณะนี้ก็น่าจะหมดในอีก 2-3 วันข้างหน้า และถ้ามาดูใน Line OA ของโรงพยาบาลจะเห็นว่าทุกคนมีความสุขมากที่มีหมอคอยตอบคำถาม คอยโทรไปหา แต่ข่าวออกมาก็ทำให้เจ้าหน้าที่ที่พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตรงนั้นเสียความรู้สึก" นพ.อารักษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของข้อกล่าวหาที่ว่า รพ.สิชล ได้เงินรายหัวมากกว่า 200 ล้านบาทนั้น ขณะนี้โรงพยาบาลได้รับเงินโอนมาจาก สปสช. 19 ล้านบาท เป็นเงินล่วงหน้าเฉพาะในส่วนของผู้ป่วยที่ยืนยันเข้าร่วม HI กับโรงพยาบาล 6,000 ราย ส่วนเงินที่เหลือโรงพยาบาลยังไม่ได้รับเงินอย่างที่ถูกกล่าวหาและยังไม่ได้ส่งเบิก เพราะหลังจากนี้ สปสช.ก็จะเข้ามาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมด ว่าคนไข้ได้อาหารไปกี่ราย ได้ยาหรือไม่ ได้รับบริการหรือไม่ ส่วนใดที่ไม่ได้จัดส่งให้ผู้ป่วยก็จะถูกลบออกไปเรื่อยๆ

"ที่สำคัญเงินที่ได้มาไม่ใช่เงินที่จะเข้าพกเข้าห่อใคร แล้วที่ว่าโรงพยาบาลจะได้เงิน 200 ล้านบาทก็เป็นการใส่ความ ให้ความเท็จทั้งสิ้น มันบั่นทอนขวัญกำลังใจบุคลากรที่มาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าใน กทม.เรื่องราวทั้งหมด สปสช.จะทราบเรื่องดี เพราะทำงานร่วมกันมาโดยตลอด ในระยะวิกฤติ" นพ.อารักษ์ กล่าวทิ้งท้าย