ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดเสวนาเรื่อง ทำอย่างไรเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในภาวะวิกฤตด้านสาธารณะสุข ? ” : การพัฒนานวัตรกรรมของกระบวนการนโยบายสาธารณะ เพื่อแก้ปัญหาซับซ้อนของสังคมไทย เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 ซึ่งอยู่ภายใต้งานสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “บทเรียนจากกระบวนการนโยบายสาธารณะ ในภาวะวิกฤตการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19” เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและเรียนรู้เรื่องการจัดการโควิด-19

ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงแรกของการเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนกลัวมาก และให้คุณค่าความสำคัญของชีวิตและสุขภาพมากขึ้น มีการรับฟังและดำเนินการตามมาตรการต่างๆ แต่เมื่อระยะเวลาทอดยาวออกไป พบว่าประชาชนให้คุณค่ากับชีวิตและสุขภาพลดลง แต่ให้ความสำคัญของปากท้องมากขึ้น

ทั้งนี้ ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ด้วยนโยบายที่สื่อสารออกมาเป็นภาพใหญ่ ขาดรายละเอียดในเรื่องของระยะเวลา บางครั้งสอบถามภาคปฏิบัติก็ทำไม่ทัน ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นที่จะปฏิบัติตาม หลังๆ ธุรกิจเองก็ไม่เชื่อ หากเปิดประเทศก็กลัวว่าจะปิดอีก

ดร.ชญาวดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ไม่มีข้อมูลและเข้าไม่ถึงข้อมูล เพราะไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ต้องประมาณการ ประเมินสถานการณ์ และพยาบาลทำความเข้าใจผลกระทบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม เรามีพื้นที่สีต่างๆ ที่ถูกจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจไม่เท่ากัน หากเราอยากรู้ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อออกแบบมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมและตรงจุดที่สุด จึงต้องขอข้อมูลจากทางจังหวัดแต่ละจังหวัด แต่ก็ไม่ไปไม่สุดเพราะไม่มีข้อมูลเตียง

ในแง่ของการทำงานด้วยการนำข้อมูลมาพูดคุยกัน เพื่อการออกแบบนโยบายที่จะทำให้ต้นทุนน้อยที่สุด ทั้งนโยบายสาธารณสุขและนโยบายเศรษฐกิจ แต่ก็เกิดคำถามว่าทำไมไม่นั่งคุยพร้อมกันในระดับ working level

ในวิกฤตที่ผ่านมาเราได้เห็นนวัตรกรรมเยอะมาก เห็นแอปพลิเคชันสร้างสรรค์ต่างๆ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือทำให้รวมกันเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มระดับประเทศ ที่มีข้อมูลอยู่เสมอ แต่ถึงอย่างไรจุดที่เชื่อมกันอาจจะเป็นจุดที่ยากที่สุดก็เป็นได้ ดร.ชญาวดี ระบุ

ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สุขภาพกับชีวิตสังคมที่เป็นปกติสุขมีความเกี่ยวเนื่องกันมาก แต่กระบวนการจัดทำนโยบายที่รวมศูนย์จะทำให้คนเข้าถึงได้น้อย และการไม่นำเอาความรู้เข้าไปในกระบวนการตัดสินใจยิ่งสร้างปัญหา ตัวอย่างหนึ่งคือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะเราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจ

ไม่เป็นเพียงแค่ระบบที่ถูกออกแบบแบบรวมศูนย์เท่านั้น ในปัจจุบันการตัดสินใจบางอย่างก็ไม่โปร่งใส ขาดความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจ อ้างภาวะฉุกเฉินจากโรคมาเป็นภาวะฉุกเฉินในทุกด้านที่เป็นการทำลายโอกาสในการพัฒนาสมรรถนะของสังคม ศ.สุริชัย กล่าว

ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การทำงานในระบบราชการนั้นมักจะไม่ประสบผลสำเร็จในด้านปฏิบัติ แม้ว่าจะคิดมาดีอย่างไรแต่สุดท้ายแล้วก็จะมีปัญหาอยู่เสมอ เพราะรูปแบบการทำงานของราชการนั้นขาดความยืนหยุ่น มักอ้างว่าราชการไม่สามารถทำสิ่งนั้นนี้ได้ ติดระเบียบต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีมิติย่อยอีกหลายประเด็น เช่น ในช่วงที่ผ่านมามีแพทย์ที่อาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านไวรัสหรือโรคระบาดวิทยา มาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ทำให้สังคมเริ่มสับสนว่าควรรับฟังใครดี ซึ่งมีหลายท่านที่เข้ามามากระบวนการทำงาน  แต่ไม่แน่ใจว่าจะครอบคลุมความรู้หรือไม่อย่างไร หากมีการทำ modelling จะช่วยให้มีช่องทางส่งผ่านความรู้ที่กลั่นกรองมาอย่างดีไปสู่เวทีที่มีการตัดสินใจหรือไม่ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่มีอะไรการันตีเลย เนื่องจากข้อมูลไม่ชัด

“เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องมีการสื่อสารด้วยความตั้งใจกับทุกคน ในส่วนที่เป็นคนกลุ่มย่อยที่มีความกังวลที่แตกต่างออกไป ก็ต้องคิดถึงคนกลุ่มนั้นด้วย นอกจากนั้นยังต้องรับฟังว่าเขากังวลเรื่องอะไรแล้วเอาเข้ามาเป็น input ในกระบวนการต่อไป” ดร.สมชัย กล่าว