ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.รุ่งเรือง ยืนยัน ฟาวิพิราเวียร์ มีประสิทธิภาพสู้โควิด-19 ย้ำประเทศไทยมีการพิจารณาด้วยหลักวิชาการ


นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า กรณีที่มีการยื่นศาลปกครองฟ้อง รมว.สธ. ปลัด สธ. อธิบดีกรมการแพทย์ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฐานใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบในการผลักดันการจัดซื้อจัดหายาฟาวิพิราเวียร์นั้น การตรวจสอบถือว่าเป็นเรื่องดี ช่วยให้สังคมเข้ารูปเข้ารอย แต่บางเรื่องก็ควรรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร

ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์เข้ามาใช้นั้นมีเหตุผลทางวิชาการรองรับ ผ่านการพิจารณาจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายนอกและภายใน สธ. มีการพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามีประโยชน์ มีความจำเป็น และที่ผ่านมายาตัวนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยใช้กันแพร่หลายทั่วโลก และเป็นยาที่ประเทศไทยสามารถผลิตเองได้

“การที่ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก ยาฟาวิพิราเวียร์ก็นับว่ามีส่วนสำคัญ และการพิจารณาเรื่องการใช้ยาเป็นเรื่องทางวิชาการแพทย์ สธ.ได้ไตร่ตรองมาถี่ถ้วนแล้วถึงให้ใช้ ฉะนั้นการให้ข่าวของผู้ที่รู้ไม่จริงทั้งหลายได้สร้างความสับสนให้กับสังคม ผมไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิด เห็นการปฏิเสธยาแล้วอาการทรุดหนัก ถึงเสียชีวิต” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

นพ.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า เป็นความจริงที่บางประเทศไม่ได้ใช้ยาตัวนี้แล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ยานี้อันตราย หรือยานี้ไร้ประสิทธิภาพเสียทั้งหมด อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ได้ใช้ยาดังกล่าวเพราะปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องการทดลองหาประสิทธิภาพ เพราะผู้ป่วยแทบติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่มีความรุนแรงของโรคต่ำ ติดแล้วหายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ให้ยาแล้วหาย แต่ก็ประเมินยากเหลือเกินว่าหายเพราะยาหรือไม่ จึงตัดสินใจเลิกใช้ ทว่าในหลายประเทศก็ยังใช้ยาตัวนี้อยู่

สำหรับประเทศไทยเองก็เช่นกัน เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว ยังกังวลเรื่องยาชนิดนี้ ขาดแคลนอยู่เลย แต่พอวันนี้ เมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาเพียง 2-3 วัน เช่นหมอบางคนบอกว่า WHO สนับสนุนให้ใช้ยาของบริษัทหนึ่ง มากกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ก็เชื่อกันไปเช่นนั้น กดดัน คนทำงาน ให้รีบเร่งตัดสินใจ

“กระทรวงสาธารณสุขติดตามสถานการณ์ทุกวัน เรามีทีมแพทย์ ทีมผู้ผู้ทรงคุณวุฒิ คอย พิจารณา เรื่องต่างๆ แต่จะให้เปลี่ยนยาปุบปับมันทำไม่ได้ ตอนนี้เราต้องดูตามความเหมาะสม กรณียาฟาวิพิราเวียร์ เราสามารถจัดหามาได้มาก เพียงพอต่อยอดการป่วยที่สูง นับว่าเป็นแนวทางบริหารจัดการที่เหมาะสม ในอนาคตถ้ามียาที่ดีกว่าและสามารถจัดหายามาได้มาก เพียงพอ ความต้องการ แผนการก็ต้องปรับกันต่อไป” นพ.รุ่งเรือง กล่าว