ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บทความวิจัยเรื่อง “5 คำถามสำคัญที่สังคมไทยไม่ควรปล่อยผ่าน : ชวนคิดเรื่องกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ระลอกโอไมครอน” ซึ่งเขียนขึ้นโดย รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะเครือข่ายนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และคณะ ได้ระบุถึงปัญหาการจัดการโควิด-19 อันเป็นผลจากการกำหนดนโยบายของรัฐ

ผลจากการศึกษาและประสบการณ์ตรงจากการทำงานของคณะผู้วิจัยนำมาสู่การสังเคราะห์ตั้งประเด็นคำถาม 5 ข้อเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมโรคโควิด-19” บทความระบุ

ทั้งนี้ประกอบด้วย ประเด็นแรก จากความเข้าใจทางระบาดวิทยาและไวรัสวิทยา รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วยแบบจำลองสถานการณ์ (simulation modeling) ยังคงชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของประชาชนที่ยังมีความเปราะบางด้านสุขภาพในการระบาดระลอกสายพันธุ์โอมิครอน ฉะนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเร่งพัฒนานโยบายและมาตรการที่จะช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างรวดเร็วที่สุด ถ้าหากควบคุมการระบาดระลอกโอมิครอนได้ไม่ดี อาจเป็นอุปสรรคในการเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศได้

ประเด็นที่สอง แม้ว่าความรู้เกี่ยวกับโอมิครอนส่วนหนึ่งเป็นความรู้ใหม่ทางไวรัสวิทยา แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นความรู้เดิมที่สอดคล้องกับสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า กล่าวคือความรู้เรื่องวิธีการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ซึ่งนอกจากจะสามารถแพร่กระจายได้ผ่านละอองฝอย (droplet) ที่ออกจากการไอ และจามจากผู้ติดเชื้อในระยะประมาณ 2 เมตรแล้ว เชื้อยังสามารถแพร่กระจายผ่านละอองลอยในอากาศ (aerosol) ได้ด้วย

ดังนั้น แม้จะพยายามเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ประชาชนก็ยังคงเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายหากอยู่ในที่ชุมชนโดยไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย เช่น ตอนรับประทานอาหาร หรือเมื่ออยู่ในสถานที่ซึ่งระบายอากาศได้ไม่ดี เช่น ห้องปรับอากาศที่ไม่มีระบบหมุนเวียนของอากาศที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมานโยบายอาจเน้นมากเรื่องมาตรการส่วนบุคคล คือการบอกให้ประชาชนทุกคน “การ์ดอย่าตก” แต่การปรับโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับวิถีชีวิตใหม่ โดยเฉพาะเรื่องระบบระบายอากาศในอาคารสถานที่ทั่วไป ควรจะได้รับความใส่ใจไม่น้อยไปกว่ากัน

รวมทั้ง “มาตรการช่วยเหลื​อฟื้นฟูเยียวยา” ของ​หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนควรมีส่วนช่วยสนับสนุนสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนทุกคนช่วยกันเริ่มกิจกรรมทางสังคมหรือการประกอบอาชีพได้ง่ายมากขึ้น

ประเด็นที่สาม จนถึงวันนี้ประเทศไทยยังคงไม่มีระบบรายงานตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ถูกต้องชัดเจน ทั้งที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลพื้นฐานที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการวิเคราะห์หาแนวโน้มการระบาด (epidemic curve) ส่งผลให้การประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะการคาดการณ์จำนวนความต้องการเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักล่วงหน้าอย่างแม่นยำทำได้ยากมากขึ้น

นอกจากนั้น นโยบายล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ปรับแนวทางการรักษาพยาบาลให้ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 บางส่วนสามารถได้รับการดูแลรักษาโดยไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ยิ่งทำให้มี “การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่าความเป็นจริง” (underreporting) มากยิ่งขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นที่สี่ การบำรุงรักษาระบบในช่วงที่ผ่านมายังสามารถพัฒนาต่อได้อีกมาก ทั้งในแง่ของความเชื่อมโยงของข้อมูลเพื่อสังเคราะห์ทางเลือกเชิงนโยบายสำหรับการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย และบูรณาการการทำหน้าที่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคส่วนอื่นให้มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน

ประเด็นสำคัญสำหรับกระบวนการนโยบายเพื่อควบคุมโรคในระลอกโอมิครอนนี้ น่าจะเป็นการสื่อสารนโยบายที่ไม่ทำให้ประชาชนสับสน และการไม่ยึดติดกับเป้าหมายระยะยาวในบางเรื่องที่ยังมีโอกาสผิดพลาดจากการประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป (underestimation)

ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลลัพธ์ที่อาจเกิดจากการปรับนโยบายและมาตรการควบคุมโรคตั้งแต่เริ่มการระบาดระลอกโอมิครอนนี้ หรือการที่กระทรวงสาธารณสุขมีการตัดสินใจเชิงนโยบายและประกาศปรับมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยแบบโรคประจำถิ่น (endemic disease)

ประเด็นที่ห้า ระบบการจัดการภาวะสาธารณะฉุกเฉินที่ดี ควรจะทำหน้าที่บูรณาการทรัพยากรของทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะทรัพยากรของภาครัฐเท่านั้น และควรมีกระบวนการทำงานที่ทำหน้าที่แก้ไขทั้งปัญหาฉุกเฉินเฉพาะหน้าและวางแผนแก้ไขปัญหาหรือป้องกันการเกิดปัญหาที่เกิดจากภาวะฉุกเฉินในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ดังนั้น ปัญหาใหญ่อีกส่วนหนึ่งในกระบวนการวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายในภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินของประเทศไทย อาจมีสาเหตุจากแนวโน้มที่ผู้กำหนดนโยบายมีการตัดสินใจที่มุ่งเน้นการตอบโต้ต่อสถานการณ์ (reactive) โดยไม่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบสุขภาพ ทำให้ปัญหาหลายด้านยังคงอยู่ แม้จะมีการระบาดใหญ่มานานกว่า 2 ปีแล้ว

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินของประเทศ โดยสิ่งสำคัญเพื่อการวางแผนตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีประสิทธิผลมากขึ้น คือการพัฒนากระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายในภาวะวิกฤตบนพื้นฐานของหลักฐานวิชาการ (evidence-informed policy-making: EIPM) ภายใต้ระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินของประเทศท่ามกลางความกดดันรอบด้านจากสาธารณะ และมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของข้อมูล แต่เป็นการทำงานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในสภานการณ์ฉุกเฉินที่มีความซับซ้อนของทั้งระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม