ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค ระบุ วัคซีนเข็มกระตุ้นลดการเสียชีวิต 41 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน และมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม 7 เท่า วอนกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนก่อนถึงวันหยุดยาวนี้


พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผ่านการแถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันที 7 มี.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในการระบาดละรอกปัจจุบันของกรมควบคุมโรค ระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 2 เข็มถึง 7 เท่า และลดการเสียชีวิตลงถึง 41 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ซึ่งมีราว 2 ล้านกว่ารายในขณะนี้

สอดคล้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Worldmeter ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.- 4 มี.ค. 2565 เมื่อเปรียบเทียบยอดผู้เสียชีวิตในแต่ละประเทศ แถบสหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรปที่ยอดผู้ติดเชื้อกำลังอยู่ในช่วงขาลง จากการพิจารณาจะพบว่ายอดผู้เสียชิวิตรายวันในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับการระบาดของโอมิครอน

อย่างไรก็ดี หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นของประชาชน ซึ่งจะเห็นได้จากประเทศเยอรมนี และสหราชอาณาจักรที่ประชากรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกือบ 60% ของผู้ที่เข้าเกณฑ์รับวัคซีนทั้งหมด พบว่ามีผู้เสียชีวิตในช่วงการระบาดของโอมิครอนน้อยกว่า สหรัฐฯ ที่ประชากรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 28.57% ของผู้ที่เข้าเกณฑ์รับวัคซีนทั้งหมด

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับข้อมูลในทวีปเอเชีย เช่นในประเทศญี่ปุ่น มีประชากรที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่ที่ราว 22.27% ของผู้ที่เข้าเกณฑ์รับวัคซีนทั้งหมด ในขณะที่ประเทศเกาหลี มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 62% ของผู้ที่เข้าเกณฑ์รับวัคซีนทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ว่ายอดผู้เสียชีวิตไม่ได้สูงมาก สำหรับประเทศไทย มีประชากรที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่ที่ประมาณ 30% ของผู้ที่เข้าเกณฑ์รับวัคซีนทั้งหมด ซึ่งก็ยังต้องดูอัตราเสียชีวิตว่าจะลดลงหรือไม่ในช่วงหารระบาดของโอมิครอน แต่เมื่อดูจากตัวเชื้อของโอมิครอนแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตจะต้องมีทิศทางไม่มากกว่าสายพันธุ์เดลต้า

นอกจากนี้ การระบาดในระลอกปัจจุบันยังพบว่ามีผู้ป่วยที่มีโรคร่วม เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย โรคไตวายเรื้อรัง ติดเตียง และโรคอ้วน เสียชีวิตมากขึ้นนอกจากกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งก็จะเป็นต้องลงไปดูในรายละเอียด และอาจจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม เพราะผู้ป่วยกลุ่มโรคร่วมดังกล่าวมีรายงานในผู้เสียชีวิตทุกวัน และมีรายงานมากกว่ากลุ่มโรคเรื้อรังอื่นๆ

“กลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจะมีกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเรื้อรัง รวมไปถึงกลุ่มเสี่ยงที่พบในช่วงนี้ รวมไปถึงผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กที่มีรายงานเพิ่มเข้ามาในช่วงนี้ ซึ่งขณะนี้ก็มีช่วงเวลาก่อนถึงเทศกาลวันหยุดยาววันสงกรานต์ ก็ขอเชิญชวน ขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนที่บ้านมีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเด็กเล็กให้รับวัคซีนมากขึ้นก่อนถึงช่วงวันหยุดยาว” พญ.สุมนี ระบุ