ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เพิ่มกำลังรับสาย 1330 และตอบไลน์-แชท แนะ 6 ชั่วโมง หากสถานพยาบาลยังไม่ติดต่อกลับ เพิ่มทางเลือกไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอก "เจอ แจก จบ" ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ-ใกล้บ้านได้


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณสายที่โทรศัพท์เข้ามาที่สายด่วน สปสช. 1330 ยังมีปริมาณมาก ทั้งในระบบสายด่วน และระบบ Non Voice (ไลน์และเฟสบุ๊ก สปสช.) แต่ละวันยังคงอยู่ที่ระดับ 60,000-70,000 สาย ที่ผ่านมา สปสช.ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ และจิตอาสา รวมถึงระดมกำลังบุคลากร สปสช.จากส่วนงานอื่นมาช่วยรับสาย

ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้มอบหมายให้สายด่วนของแต่ละกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้ามาสนับสนุนการทำงานของ สายด่วน 1330 รับเรื่องผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อประสานเข้าสู่ระบบการรักษา ทั้งแบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ หรือระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ต่อไป ซึ่งก็ช่วยทำให้ลดจำนวนสายที่ไม่ได้รับการตอบกลับลงได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก สธ.ปรับแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รูปแบบใหม่ คือ ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ในส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านกับสายด่วน 1330 รวมถึงช่องทางไลน์และเว็บไซต์ สปสช. หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหน่วยบริการภายใน 6 ชั่วโมง ขอให้ดูแลตัวเองเบื้องต้นไปตามอาการ หากมีไข้หรือไอ กินยาลดไข้ ยาแก้ไอ

ขณะเดียวกันผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถไปโรงพยาบาลตามสิทธิรักษาหรือใกล้บ้าน ซึ่ง สธ.ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัด 14 จังหวัดรอบกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, นครนายก, สิงห์บุรี, อ่างทอง, นครปฐม, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี, สมุทรปราการ, ชลบุรี และฉะเชิงเทรา รวมถึงโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตและสังกัดกรมควบคุมโรค เพิ่มศักยภาพให้การดูแลแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” ให้เพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.เป็นต้นไป รองรับบริการได้ประมาณ 18,650 รายต่อวัน

อย่างไรก็ตามแนะนำให้โทรศัพท์นัดหมายก่อน เพื่อเข้าระบบการรักษาแบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ ได้ และกลับมากักตัวที่บ้านอีก 7-10 วัน ตามที่แพทย์แนะนำ โดยแต่ละกองทุนสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น สปสช. สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง จะตามจ่ายให้กับผู้ป่วยตามสิทธิการรักษาที่มี

สำหรับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ไปได้ที่หน่วยปฐมภูมิทุกที่ ไม่ใช้ใบส่งตัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น

ขณะที่สิทธิประกันสังคม เข้ารับบริการโรงพยาบาลตามสิทธิที่ลงทะเบียนหรือสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม., รพ.สต. ฯลฯ ในส่วนของสิทธิข้าราชการ ไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลภาครัฐ 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ หรือประชาชนที่ตรวจ ATK 2 ครั้งแล้วขึ้น 2 ขีด นั้น หากท่านเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ได้แก่ 1. กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 2. กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และ 3. กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป กลุ่มนี้ให้โทรศัพท์มาที่สายด่วน 1330 กด 14 เพื่อประเมินอาการเบื้องต้นและเข้ารักษาตามระบบต่อไป เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง

อย่างไรก็ตามหากไม่ใช่กลุ่ม 608 และไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย รักษาตามอาการและกักตัวอยู่ที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องแจ้งภาครัฐหรือ โทร.1330 ทุกราย เนื่องจากรักษาตามอาการได้ตามแนวทางใหม่ของ สธ. เช่นกัน แต่หากต้องการรักษาตามแนวทางเจอ แจก จบ สามารถไปสถานพยาบาลตามสิทธิหรือใกล้บ้านได้เช่นกัน โดยแนะนำโทรศัพท์นัดหมายก่อน หรือยืนยันต้องการลงทะเบียนรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ลงทะเบียนที่ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI หรือไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 ได้เช่นกัน